ส.อ.ท.ขอธปท.ผ่อนเกณฑ์จัดชั้นหนี้ SMEs ดี

08 ส.ค. 2562 | 23:36 น.


ส.อ.ท. เสนอธปท.ผ่อนเกณฑ์จัดชั้นหนี้เอสเอ็มอี และปลดล็อกรายที่ชำระหนี้หมดให้เป็นบัญชีปกติ ช่วยให้เข้าถึงสินเชื่อ หนุนแบงก์รัฐ-บสย.เข้าไปปล่อยกู้ พร้อมให้ช่วยดูแลค่าเงินบาท อยากเห็นกรอบ 32 บาทต่อดอลลาร์ ส่งเสริมเอกชนทำป้องกันเสี่ยง เตรียมหารือกระทรวงคลังทำซอฟท์โลน-มาตรการภาษีเพิ่ม


นายสุพันธ์ุ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ส.อ.ท. ได้เสนอให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ผ่อนปรน และปลดล๊อคให้กับผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ที่เคยมีประวัติการค้างชำระหนี้ ภายใน 6 หรือ 12 เดือน แต่ปัจจุบันได้ชำระหนี้หมดแล้ว ให้เป็นบัญชีปกติ โดยไม่ต้องรอตามเกณฑ์การดูใจ ซึ่งต้องใช้ระยะเวลา 3 งวดของการชำระตามประกาศธปท. รวมถึงเงื่อนไขของบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ (เครดิตบูโร) ให้ผ่อนปรนสำหรับเอสเอ็มอี ที่มีประวัติเคยปรับโครงสร้างหนี้ ด้วยความสมัครใจ เป็นบัญชีปกติ ของเครดิตบูโร และให้ออกมาตรการให้ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) สามารถเข้าไปสนับสนุนสินเชื่อให้กับเอสเอ็มอีได้ โดยไม่อยู่ในเงื่อนไขแบบธนาคารพาณิชย์ 

สุพันธ์ มงคลสุธี

“หากลูกค้าเคยมีประวัติปรับโครงสร้าง แต่ชำระหมดแล้ว โดยปกติธนาคารพาณิชย์จะไม่ค่อยปล่อยกู้ จึงอยากให้ธปท.ผ่อนปรนให้ลูกค้าเอสเอ็มอีกลุ่มนี้ให้เป็นลูกค้าปกติ โดยไม่เข้าค่ายจัดชั้นหนี้ เพื่อให้เอสเอ็มอีแบงก์ หรือแบงก์รัฐ รวมถึงบสย.สามารถเข้ามาปล่อยสินเชื่อหรือ
ค้ำประกันได้”

นอกจากนี้ ในวันนี้ (9ส.ค.) สภาอุตสาหกรรมฯ จะเข้าไปพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อขอให้มีวงเงินสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟท์โลน) สำหรับเอสเอ็มอี เพื่อใช้เป็นการหมุนเวียนสภาพคล่องในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวด้วย รวมถึงการหารือด้านนโยบายภาษี เกี่ยวกับเอสเอ็มอีด้วย ทั้งในส่วนการใช้ภาษีให้เกิดประโยชน์ และการลดหย่อนภาษี เป็นต้น

ขณะเดียวกัน ยังได้มีการหารือเรื่องค่าเงินบาท โดยอยากให้ธปท.เข้าไปดูแล ควบคู่กับให้เอกชนป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน (Hedging) เนื่องจากค่าเงินบาทไม่ได้ผันผวน แต่มีการแข็งค่าฝ่ายเดียว เพราะมีความกังวลเรื่องสงครามการค้าที่นำไปสู่สงครามค่าเงิน ซึ่งอยากเห็นกรอบค่าเงินบาทอยู่ที่ 32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ 

ทั้งนี้ ยังมีการเสนอให้ภาคเอกชนเข้าร่วมในคณะทำงานที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เสนอให้มีการตั้งไฟแนนซ์ทีมที่ดูแลด้านการเงินการคลังของประเทศ โดยมีกระทรวงการคลัง ธปท. สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยให้เข้ามาช่วยกันแก้ปัญหา เพราะถ้าต่างคนต่างแก้ปัญหาจะไม่ได้ผล เช่น การช่วยเหลือเอสเอ็มอี การออกซอฟท์โลน หรือแก้ไขปัญหาของเศรษฐกิจในอนาคต