สพฉ.เน้น 9 ข้อควรรู้ ก่อนโทรแจ้งสายด่วน 1669

14 เม.ย. 2562 | 09:58 น.

สพฉ.  เผยปีที่แล้ว มีการโทรแจ้งเหตุอุบัติเหตุยานยนต์  ผ่านสายด่วน 1669 เกือบ 5 หมื่นครั้ง พร้อมแนะเตรียมกล่องปฐมพยาบาลฉุกเฉินติดรถไว้  และเน้นย้ำข้อควรรู้ 9 ข้อสำคัญก่อนโทรแจ้งส่วนด่วน 1669 

  สพฉ.เน้น  9 ข้อควรรู้ ก่อนโทรแจ้งสายด่วน 1669

เรืออากาศเอก นายแพทย์อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวถึง การรับมือการเดินทางกลับภูมิลำเนา ของประชาชนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ทั้งไปและกลับ  ว่า ในช่วงเทศกาลสงกรานต์นี้จะมีประชาชนกลับภูมิลำเนาเป็นจำนวนมาก ซึ่งจะทำให้การจราจรคับคั่งและอาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เพิ่มสถิติการเกิดอุบัติเหตุได้มากขึ้น  โดย  สพฉ.ได้เตรียมการรับมืออย่างเต็มที่ทุกรูปแบบ  นอกจากนี้เรายังได้ประสานไปยังเครือข่ายมูลนิธิ   และศูนย์สื่อสารสั่งการ สายด่วน 1669   80 แห่ง ทั่วประเทศไทยให้เตรียมพร้อมกำลังคนและเจ้าหน้าที่อย่างเต็มที่เพื่อรองรับการให้บริการประชาชนที่เจ็บป่วยฉุกเฉิน หรือเกิดอุบัติเหตุฉุกเฉิน ในการเดินทางกลับบ้านในช่วงเทศกาลสงกรานต์ด้วย

 

เลขาธิการ สพฉ. ยังเปิดเผยสถิติ การเกิดอุบัติเหตุทางถนน ช่วงสงกรานต์ ปี่ 2561 ที่ผ่านมาว่า เกิดขึ้นจำนวน 3,724 ครั้ง   มีผู้บาดเจ็บ 3,897 ราย เสียชีวิต 418 ราย  โดยมีการให้บริการ ผู้ป่วยฉุกเฉิน ผ่านสายด่วน 1669  มีการรับแจ้งอุบัติเหตุยานยนต์  46,214 ครั้ง   ซึ่ง 5 จังหวัดที่มีอุบัติเหตุทางถนนสูงสุด คือ เชียงใหม่ นครศรีธรรมราช พิษณุโลก สุราษฎร์ธานี และ สงขลา

สพฉ.เน้น  9 ข้อควรรู้ ก่อนโทรแจ้งสายด่วน 1669  

พร้อมกันนี้ อยากให้ประชาชน ตระหนักถึงความปลอดภัย และป้องกันตนเองด้วย โดยต้องคาดเข็มขัดนิรภัยทั้งคนขับ คนนั่ง  สวมหมวกนิรภัยทุกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางใกล้หรือไกล  ที่สำคัญคือเมาไม่ขับ ง่วงไม่ขับ หากรู้สึกล้าก็ควรหยุดพัก  นอกจากนี้อาจเตรียมอุปกรณ์ฉุกเฉินไว้ป้องกันตัวเอง เช่น กล่องปฐมพยาบาลฉุกเฉิน ภายในควรมี  ยารักษาโรคเบื้องต้น  อุปกรณ์ทำแผล  กรรไกร ถุงมือ  ซึ่งถือเป็นสิ่งจำเป็นยามเดินทาง  แต่ทั้งนี้หากเกิดอุบัติเหตุประชาชนก็สามารถใช้บริการสายด่วน 1669 ได้ฟรีตลอด 24 ชั่วโมง เพราะเจ้าหน้าที่ทุกคนพร้อมที่จะดูแลประชาชนอย่างเต็มที่ตลอดช่วงเทศกาลปีใหม่ไทย

 

ข้อควรรู้ก่อนโทรแจ้งสายด่วน 1669 นั้น  มีหลักสำคัญอยู่  9 ข้อ คือ 1.เมื่อพบเหตุเจ็บป่วยฉุกเฉินให้ตั้งสติและโทรแจ้งสายด่วน 1669  2.ให้ข้อมูลว่าเกิดเหตุอะไรมีผู้ป่วยและผู้บาดเจ็บในลักษณะใด  3. บอกสถานที่เกิดเหตุเส้นทางจุดเกิดเหตุให้ชัดเจน  4. บอกเพศ ช่วงอายุ อาการจำนวนผู้ป่วยหรือผู้บาดเจ็บ  5.บอกระดับความรู้สึกตัวของผู้ป่วย  6.บอกความเสี่ยงที่อาจเกิดซ้ำ เช่นอยู่กลางถนนหรือรถติดแก๊ส  7. บอกชื่อผู้แจ้งเบอร์โทรศัพท์ที่สามารถติดต่อได้  8.ช่วยเหลือเบื้องต้นตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่  และ 9.รอทีมกู้ชีพมารับผู้ป่วยเพื่อนำส่งโรงพยาบาล