5 เคล็ดลับ ส่งเสริมเยาวชนใช้ถนนอย่างปลอดภัย

14 เม.ย. 2562 | 07:14 น.

ข้อมูลจากสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติระบุว่า อุบัติเหตุทางถนนคือเหตุฉุกเฉินที่เกิดกับเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี สูงสุดเป็นอันดับแรก โดยแต่ละปีมีผู้ประสบเหตุเกือบ 320,000 ราย ซึ่งสาเหตุของอุบัติเหตุ มักเกิดจากเรื่องที่ทุกคนรู้ แต่เพิกเฉยไม่ปฏิบัติตาม เช่น การไม่สวมหมวกนิรภัย ไม่เคารพกฎจราจร เป็นต้น

5 เคล็ดลับ ส่งเสริมเยาวชนใช้ถนนอย่างปลอดภัย

การสำรวจของมูลนิธิไทยโรดส์ เมื่อปี 2559 พบข้อมูลที่น่าตกใจว่าอัตราการสวมหมวกนิรภัยของเด็กและวัยรุ่นอยู่ที่เพียง 8 และ 26 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น การสร้างจิตสำนึกใช้ถนนอย่างปลอดภัยคือกุญแจสำคัญของการแก้ไขปัญหานี้อย่างยั่งยืน โดยจะต้องปลูกฝังกันตั้งแต่ระดับเยาวชน และอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่ายทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม เพื่อให้การรณรงค์เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายในวงกว้างทั่วประเทศบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ร่วมกับ มูลนิธิป้องกันอุบัติภัยแห่งเอเชีย (AIP) ดำเนินโครงการ “เดินทางปลอดภัยไปเรียน” หรือ Chevron Street Wiseเพื่อสร้างวัฒนธรรมการใช้รถใช้ถนนอย่างปลอดภัยให้กับเยาวชนระดับประถมศึกษามาตั้งแต่ปี 2557 โดยดำเนินงานครอบคลุมโรงเรียนในเขตอำเภอสิงหนคร และอำเภอเมืองสงขลา 11 แห่ง ซึ่งล้วนตั้งอยู่ริมถนนใหญ่ มีความเสี่ยงสูงที่จะได้รับอุบัติเหตุขณะเดินทางไป-กลับระหว่างบ้านและโรงเรียน ด้วยการอบรมหลักสูตรความปลอดภัยทางถนนให้กับครูต้นแบบ ซึ่งจะรับผิดชอบในการอบรมเพื่อครู นักเรียนและสมาชิกในชุมชนให้มีความรู้ความเข้าใจในการใช้ถนนอย่างปลอดภัย”

5 เคล็ดลับ ส่งเสริมเยาวชนใช้ถนนอย่างปลอดภัย

หทัยรัตน์ อติชาติ ผู้จัดการฝ่ายนโยบายด้านรัฐกิจและกิจการสัมพันธ์ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด กล่าวว่า “โครงการเดินทางปลอดภัยไปโรงเรียนมุ่งให้ความรู้และสร้างความตระหนักในการใช้ถนนอย่างปลอดภัยให้กับเยาวชน อันเป็นแนวทางที่สามารถลดอุบัติเหตุบนท้องถนนได้อย่างยั่งยืน ในระยะแรกและระยะที่สองของการดำเนินโครงการ (2557-2560) พบว่าอัตราการสวมหมวกนิรภัยของโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการฯ เพิ่มขึ้นจาก 3% เป็น 55% มีการใช้ทางข้ามหรือทางม้าลายเพิ่มขึ้นจาก 29% เป็น 91% มีนักเรียนและผู้ปกครองได้รับประโยชน์แล้วกว่า 10,000 คน นับเป็นความสำเร็จที่น่ายินดียิ่ง”

5 เคล็ดลับ ส่งเสริมเยาวชนใช้ถนนอย่างปลอดภัย

อรทัย จุลสุวรรณรักษ์ ผู้จัดการประจำประเทศไทย มูลนิธิป้องกันอุบัติภัยแห่งเอเชีย กล่าวว่า “วัตถุประสงค์หลักโครงการคือการปกป้องเด็กๆ จากอุบัติเหตุบนท้องถนน ด้วยหลักสูตรที่ออกแบบให้เหมาะกับพัฒนาการของเด็กระดับประถมศึกษา พร้อมจัดทำคู่มือครูเพื่อให้คุณครูสามารถสอนเรื่องการใช้ถนนอย่างปลอดภัยให้กับเด็กๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยที่ผ่านมาโครงการฯ ได้อบรมครูต้นแบบไปแล้ว 37 คน ซึ่งจะทำหน้าที่ให้ความรู้กับเด็กๆ และสมาชิกในชุมชนของตนเองต่อไป เพื่อวางรากฐานการสร้างจิตสำนึกความปลอดภัยบนท้องถนนอย่างยั่งยืน”

 

นอกจากนี้ มูลนิธิ AIP ได้ฝากเคล็ดลับ 5 ข้อ จากหลักสูตรของโครงการเดินทางปลอดภัยไปโรงเรียน ที่คุณครูและผู้ปกครองสามารถนำไปสอนนักเรียนหรือลูกหลานเพื่อสร้างพฤติกรรมการเดินทางไปโรงเรียนอย่างปลอดภัยในทุกเทศกาล ดังต่อไปนี้

 

·       จำให้มั่น ป้ายจราจร สอนให้เด็กๆ เข้าใจความหมายของเครื่องหมายจราจรและเครื่องหมายเส้นบนพื้นทาง  พร้อมปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะเครื่องหมายที่พบบ่อยในละแวกใกล้เคียงโรงเรียนหรือระหว่างทางจากบ้านมาโรงเรียน

·       หมวกนิรภัย ไม่ใส่ ไม่ได้ สอนให้เด็กๆ เห็นความจำเป็นของการสวมใส่หมวกกันน็อค ไม่ว่าจะเป็นคนขี่หรือคนซ้อนทั้งจักรยานและจักรยานยนต์ เพราะช่วยลดโอกาสบาดเจ็บที่ศีรษะหากเกิดอุบัติเหตุเมื่อสวมอย่างถูกต้อง โดยหมวกควรพอดีกับศีรษะ ไม่ขยับไปมา และควรใส่สายรัดหมวกที่บริเวณใต้คางให้แน่นพอเหมาะ

·       ตรวจความปลอดภัยก่อนปั่น ก่อนขี่จักรยานควรตรวจสภาพความปลอดภัยเพื่อให้มั่นใจว่ารถทำงานปกติ อาทิ รถต้องหยุดทันทีเมื่อกดเบรกมือ กระดิ่งเสียงดังได้ยินชัดเจน โซ่อยู่ในเฟืองโซ่ ไม่หลุด ไม่ติด ยางต้องไม่สึกหรือเป็นรอยฉีกขาด น็อตล้อขันแน่นหนา ล้อไม่คด บันไดทั้งสองข้างอยู่ในสภาพดีและหมุนได้อิสระไม่ติดขัด เป็นต้น

·       คาดเข็มขัดนิรภัยเสมอ เมื่อนั่งรถยนต์ต้องจำให้ขึ้นใจว่า “ต้องคาดเข็มขัดนิรภัย” เสมอ ไม่ว่าจะนั่งตอนหน้าหรือตอนหลัง ซึ่งการคาดเข็มขัดนิรภัยที่ถูกวิธีนั้น ต้องดูว่า สายเข็มขัดไม่บิด, เข็มขัดส่วนที่คาดผ่านหน้าตัก ควรอยู่เหนือสะโพก ไม่ใช่เหนือท้อง ส่วนที่พาดไหล่ต้องคาดเฉียงผ่านลำตัวและไหล่ ไม่สัมผัสใบหน้าลำคอ, เข็มขัดต้องแน่นพอดีและเสียบอยู่ในส่วนหัวเข็มขัดอย่างมั่นคง

·       รอรถจอดสนิท ก่อนลง ทุกครั้งที่เดินทางด้วยยานพาหนะสาธารณะ เช่น รถประจำทาง รถทัวร์ หรือรถไฟ ต้องรอจนกว่ารถจอดสนิท จึงขึ้นหรือลง โดยรอให้ผู้โดยสารบนรถลงจากรถหมดก่อนจึงค่อยขึ้นรถ เมื่อก้าวขึ้นต้องระหว่างช่องว่างระหว่างยานพาหนะกับขอบทางหรือขอบชานชาลา เมื่อลงจากรถให้เดินออกห่างจากขอบทางหรือขอบชานชาลาก่อนรถประจำทางหรือรถไฟจะเคลื่อนออก