ระวัง! อุตฯรถยนต์อินโดฯแซงหน้าไทย

10 ก.ย. 2559 | 12:00 น.
นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรม แห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า เมื่อเปรียบเทียบอุตสาหกรรมรถยนต์ในภูมิภาคอาเซียน ในช่วง 6 เดือนแรก อินโดนีเซียมียอดขายรถยนต์ภายในประเทศ 531,929 คัน ตามด้วยไทยที่มียอดขาย 368,530 คัน ทั้งนี้ เนื่องจากอินโดนีเซียเป็นตลาดที่ใหญ่ มีประชากรจำนวนมาก รายได้ของประชากรก็สูงขึ้น อีกทั้งรัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมรถประหยัดพลังงานเหมือนโครงการอีโคคาร์ของประเทศไทย เพื่อให้ประชาชนได้ใช้รถยนต์ราคาประหยัด เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทำให้คนหันมาใช้รถยนต์นั่ง 4 ประตูกันมากขึ้นจากเดิมที่นิยมแต่รถเอ็มพีวีและเอสยูวีขนาดเล็ก

ในด้านการผลิตนั้น ไทยยังครองอันดับ 1 ในภูมิภาคอาเซียน เนื่องจากมีการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศและผลิตเพื่อส่งออกไปจำหน่ายในต่างประเทศด้วย โดยช่วง 6 เดือนของปี 2559 ไทยผลิตรถยนต์แล้ว 993,380 คัน ขณะที่อินโดนีเซียผลิตไปแล้ว 601,461 คัน โดยส่วนใหญ่เพื่อจำหน่ายในประเทศเป็นหลัก แต่ในอนาคต อินโดนีเซียมีสิทธิ์ที่จะผลิตรถยนต์แซงหน้าไทย เนื่องจากอินโดนีเซียมีเศรษฐกิจที่ใหญ่กว่าไทย ตัวเลขจีดีพีสูงถึง 8 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯขณะที่ไทยมีจีดีพีเพียง 3.8 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนอีกนานแค่ไหนที่อุตสาหกรรมรถยนต์อินโดนีเซียจะแซงหน้าไทย อาจจะเป็น 10-15 ปี ขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาลในแต่ละประเทศว่าจะมีการสนับสนุนภาคการผลิตอย่างต่อเนื่องแค่ไหน

"สำหรับรัฐบาลไทย นับว่า ได้มีการสนับสนุนอุตสาหกรรมรถยนต์อย่างต่อเนื่องมาตลอด ตั้งแต่ได้สนับสนุนการผลิตรถกระบะขนาด 1 ตันให้เป็นโปรดักต์แชมเปี้ยนตัวที่ 1 ตามด้วยโครงการรถประหยัดพลังงานหรืออีโคคาร์ 1 และอีโคคาร์ 2 ทำให้ผู้มีรายได้น้อย สามารถเป็นเจ้าของรถยนต์นั่งได้ในราคาที่ถูกกว่ารถกระบะ ส่วนโปรดักต์แชมเปี้ยนตัวต่อไปที่กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์พยายามผลักดันคือ ให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตรถบัสโดยสารและรถบรรทุกในภูมิภาคนี้ เนื่องจากประเทศเพื่อนบ้านทั้งหลาย กำลังพัฒนาประเทศกันขนานใหญ่ โปรดักต์แชมเปี้ยนตัวถัดไป ก็อาจเป็น รถไฮบริดหรือปลั๊ก-อิน ไฮบริด ตามด้วยรถยนต์พลังไฟฟ้า และรถพลังไฮโดรเจน"

นางเพียงใจ แก้วสุวรรณ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายรัฐกิจสัมพันธ์ บริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า ที่ผ่านมา ภาครัฐบาลได้มีความพยายามในการผลักดันการเติบโตของเศรษฐกิจ รวมถึงอุตสาหกรรมยานยนต์ซึ่งเป็น 1 ใน 10 อุตสาหกรรมที่จะผลักดันให้เกิดความก้าวหน้าและเติบโตในอนาคต โดยมีจุดมุ่งหมายสำคัญก็คือการปรับลดคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดขึ้นจากการใช้งานรถยนต์ ตามความต้องการของโลกที่ต้องการลดมากกว่า 90% ซึ่งจะเปิดทางให้รถยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้ากลายเป็นเป้าหมายสุดท้ายในอนาคต ซึ่งประเทศไทยน่าจะอยู่ในกลุ่มเดียวกันกับอุตสาหกรรมยานยนต์โลกในอนาคต

นางอัชณา ลิมป์ไพฑูรย์ นายกสมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย เปิดเผยว่า เรื่องของผู้ผลิตชิ้นส่วนนั้นมีหลายสิ่งที่ต้องคำนึง ต้องขึ้นอยู่กับนโยบายของภาครัฐว่าจะดำเนินการไปในทิศทางไหน ซึ่งแนวโน้มในการเดินหน้าไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 นั้นเป็นเรื่องใหญ่สำหรับผู้ประกอบการ และเป็นกลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนที่ยังต้องดิ้นรนในเรื่องต่าง ๆ เช่น เรื่องของเทคโนโลยี เรื่องการผลิต ที่จะก่อให้เกิดศักยภาพในการผลิต รวมไปถึงเรื่องของการสร้างคนขึ้นมารองรับกับอุตสาหกรรม ซึ่งหากเราต้องการพัฒนาขึ้นมาเป็นฮับของอาเซียน ที่มีการแข่งขันกันมาก ก็มีความจำเป็นที่จะต้องร่วมมือกันมากขึ้น เพื่อพัฒนาขีดความสามารถร่วมกัน

"ทั้งนี้ ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ในประเทศไทยมีการส่งออกรวมกันปีละกว่า 6 แสนล้านบาท ซึ่งสูสีกับตัวเลขการส่งออกของผู้ผลิตรถยนต์ ทำให้อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนมีการส่งออกปีละกว่า 1.22 ล้านล้านบาท จึงเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญที่ต้องได้รับการพัฒนาและปรับปรุงในหลายๆ ด้าน ซึ่งต้องมีการสร้างยุทธศาสตร์ขึ้นมารองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยต่อไปในอนาคต"

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,190 วันที่ 8 - 10 กันยายน พ.ศ. 2559