“โนริอากิ ยามาชิตะ” แม่ทัพโตโยต้าพูดถึงแผน EV และคดีสินบนในไทย

15 เม.ย. 2564 | 04:50 น.

“โนริอากิ ยามาชิตะ” ประธานโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย คนใหม่ เผยวิสัยทัศน์เกี่ยวกับอุตสาหกรรมยานยนต์ และพูดถึงแผนรถยนต์ไฟฟ้า รวมถึงคดีสินบนในไทยที่เป็นข่าวดังไปทั่วโลก

เปิดตัวอย่างเป็นทางการ สำหรับ“โนริอากิ ยามาชิตะ” ประธานโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย คนใหม่ โดยแสดงวิสัยทัศน์ครั้งแรก พร้อมสะท้อนแนวทางการดำเนินธุรกิจ และตอบคำถามสื่อมวลชนเรื่องรถพลังงานไฟฟ้า รวมถึงข่าวที่บริษัทแม่ออกมายอมรับว่า มีบริษัทลูกโตโยต้าในไทยเกี่ยวข้องกับการติดสินบนหน่วยงานราชการ

ยุคใหม่อุตสาหกรรมยานยนต์ กำลังเปลี่ยนผ่านสู่เทคโนโลยีขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า หลายบริษัทผู้ผลิตต่างตั้งธงวางโรดแมป ขยับโปรดักต์จากรถเครื่องยนต์สันดาปภายใน(Internal Combustion Engine-ICE) สู่รถ xEV ที่หมายรวมถึง ปลั๊ก-อินไฮบริด และ EV (แต่เมืองไทย xEV หรือ รถยนต์ไฟฟ้า จะรวมรถไฮบริดแบบชาร์จไฟด้วยตนเองด้วย)

โตโยต้า บริษัทผู้ผลิตรถยนต์อันดับหนึ่งของโลก (ปี 2563 ยอดขายเป็นอันดับหนึ่ง เหนือกว่า โฟล์คสวาเกน กรุ๊ป) ที่ระดมสรรพกำลังไปที่รถขุมพลังไฮบริดก่อนใครเพื่อน ทว่าในส่วน EV พลังงานไฟฟ้า 100% ยังขยับตัวช้า

สำหรับประเทศไทย ที่เป็นฐานการผลิตใหญ่ของโตโยต้า และมีความสำคัญในมิติที่สร้างรายได้ให้ โตโยต้า คอร์ปอเรชัน ประเทศญี่ปุ่น อย่างเป็นกอบเป็นกำ พร้อมเครือข่ายธุรกิจที่แข็งแกร่ง ทั้งกลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วน และเครือข่ายการจำหน่าย แต่การเปลี่ยนผ่านจากรถ ICE ไปสู่ EV ยังเป็นคำถามว่า เตรียมการวางแผนไว้อย่างไร ให้ทั้ง “องคาพยพ” รอดไปด้วยกัน

“กระแส EV เกิดขึ้นเพราะต้องการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นทิศทางของอุตสาหกรรมทั่วโลก โตโยต้าพยายามทำทุกอย่างตามที่รัฐบาลไทยตั้งเป้าหมายเอาไว้ เรามีเทคโนโลยีพร้อมอยู่แล้ว และพยายามนำเสนอรถยนต์ไฟฟ้าหลายรูปแบบ ในส่วนรถไฮบริด ที่โตโยต้าเป็นบริษัทผู้ผลิตรถยนต์รายแรกที่เริ่มการผลิตในไทย และเปิดตัว คัมรี ไฮบริด ตั้งแต่ปี 2552 ตามด้วย พรีอุส ซี-เอชอาร์ โคโรลล่า อัลติส และโคโรลล่าครอสปัจจุบันมียอดขายสะสมในไทยกว่า 1 แสนคันแล้ว” นายโนริอากิ ยามาชิตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด กล่าว และว่า

“โนริอากิ ยามาชิตะ” แม่ทัพโตโยต้าพูดถึงแผน EV และคดีสินบนในไทย

โตโยต้ายังทำกระบวนการบริหารจัดการแบตเตอรี่รถยนต์ไฮบริดใช้แล้วแบบครบวงจร 3R Scheme ประกอบด้วย การใช้ซํ้า (Re-use) การผลิตแบตเตอรี่เกรดใช้งานแล้วลูกใหม่ (Re-build) และการหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ (Recycle)

“การตั้งโรงงานประกอบแพ็กเกจแบตเตอรี่ พร้อมกระบวนการบริหารจัดการแบตเตอรี่รถยนต์ไฮบริดใช้แล้ว แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของโตโยต้ากับการส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ในไทย”

นายยามาชิตะ กล่าวว่า แนวทางรถยนต์ไฟฟ้าของโตโยต้า คือทำอย่างไร ที่จะให้คนทั่วไปสามารถใช้งานได้อย่างแพร่หลาย (ราคาที่เข้าถึงได้ง่าย สะดวกในการใช้งาน และค่าใช้จ่ายระหว่างการเป็นเจ้าของรถไม่สูง) ทั้งยังต้องคำนึงถึงความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งโตโยต้าไม่สามารถทำได้ด้วยตนเอง แต่ต้องอาศัยการสนับสนุนจากรัฐบาล ที่สำคัญการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้า โตโยต้ายังมีหน้าที่รักษากลุ่มธุรกิจที่มีส่วนร่วมกับเราให้อยู่รอดไปด้วยกัน

“เราต้องวางรากฐานอันแข็งแกร่ง เพื่อนำไปสู่ยุคแห่งการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในอนาคต เพื่อให้บรรลุเป้าหมายนี้ การประสานความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับภาคส่วนต่างๆ ที่มีวิสัยทัศน์และจุดยืนเดียวกันกับเรา จึงเป็นเรื่องที่จำเป็นยิ่ง” นายยามาชิตะ กล่าว

ส่วนประเด็นใหญ่ที่โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชัน (TMC) รายงานต่อ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (SEC) และกระทรวงยุติธรรมของสหรัฐ (DOJ) ว่า มีความเป็นไปได้ที่ บริษัทลูกแห่งหนึ่งของโตโยต้าในประเทศไทยอาจกระทำการละเมิด กฎหมายต่อต้านการติดสินบน หรือ anti-bribery laws ของสหรัฐฯ

ต่อคำถามนี้ นายยามาชิตะ ชี้แจงว่า โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชัน กำลังสอบสวนเรื่องนี้อยู่ โดยให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่กับหน่วยงานภาครัฐในการตรวจสอบว่าได้ทำทุกอย่างถูกต้องตามที่ภาครัฐกำหนด

“ส่วนรายละเอียด ที่ โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชัน แถลงไป โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย ยินดีให้ข้อมูลอย่างเต็มที่ (สอบถามที่สำนักประชาสัมพันธ์)” นายยามาชิตะ กล่าวสรุป

สำหรับแถลงการณ์ของ TMC ระบุว่า เมื่อปี 2563 โตโยต้ารายงานต่อทางการสหรัฐ เกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่อาจมีการละเมิดกฎหมายต่อต้านการให้สินบนที่เกี่ยวข้องกับบริษัทลูกแห่งหนึ่งของโตโยต้าในประเทศไทย

“โตโยต้าพยายามรักษามาตรฐานระดับสูงทั้งด้านวิชาชีพและจริยธรรมในทุกๆ ประเทศที่เราเข้าไปดำเนินธุรกิจ เราให้ความสำคัญกับทุกๆ ข้อกล่าวหาการกระทำผิด และมุ่งมั่นที่จะตรวจสอบให้แน่ใจว่า การดำเนินธุรกิจของเราเป็นไปตามกฎระเบียบทั้งหมดของรัฐบาล” แถลงการณ์ของโตโยต้า ระบุ

อนึ่ง คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และกระทรวงยุติธรรมของสหรัฐ มีหน้าที่ในการบังคับใช้กฎหมายต่อต้านการทุจริตในต่างประเทศของสหรัฐ ซึ่งห้ามไม่ให้บริษัทต่างๆ จ่ายสินบนให้กับเจ้าหน้าที่ต่างชาติด้วย

...นั่นเป็นวิสัยทัศน์ของแม่ทัพใหญ่คนใหม่ของ โตโยต้า มอเตอร์ประเทศไทย นอกจาก 2 ประเด็นดังกล่าวที่ชี้แจงแล้ว ยังมีภารกิจนำพาองค์กรฝ่าการดิสรัปท์ของเทคโนโลยี ขณะที่เป้าหมายในการทวงแชมป์ตลาดปิกอัพ และแชมป์รถยนต์นั่งมาจาก อีซูซุ และฮอนด้า ตามลำดับ ไม่ใช่เรื่องง่าย 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง พิษสำแดงภาษี“รถพรีอุส” แผล“ทุจริต-สินบน”โตโยต้า!

 

หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,670 วันที่ 15 - 17 เมษายน พ.ศ. 2564