โรงงาน BMW เพิ่มรุ่นผลิตในไทย ตัวแรง M340i พันธุ์หรู X6 X7

18 ก.พ. 2564 | 01:20 น.

โรงงาน BMW จ.ระยอง เพิ่มการผลิตรถยนต์รุ่นใหม่ในไทย ทั้งตัวแรง BMW M340i และกลุ่มเอสยูวีหรู X6 และ X7

BMWโรงงานบีเอ็มดับเบิลยู จ.ระยอง ฉลองครบรอบ 20 ปี ด้วยการเพิ่มรุ่นประกอบในประเทศ ทั้งตัวแรง BMW M340i และเอสยูวีรุ่นท็อป X7 ส่วน X6 เครื่องยนต์เบนซินทำเพื่อส่งออกไปจีน พร้อมสรรหาความหลากหลายด้วยการนำเข้าBMW 330Li รุ่นฐานล้อยาวจากมาเลเซีย และรถพลังงานไฟฟ้า iX3 จากจีน ที่เตรียมเปิดตัวปลายปีนี้

ปัจจุบัน โรงงานผลิตรถยนต์BMW บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป แมนูแฟคเจอริ่ง ประเทศไทย ประกอบรถยนต์รวม 9 โมเดล ได้แก่ ซีรีส์ 2,ซีรีส์ 3, ซีรีส์ 5, ซีรีส์ 7 เอสยูวี X1, X3, X5, X6 และ X7 ขณะที่มอเตอร์ไซค์อีก 9 รุ่น คือ F 900 R, F 900 XR, F750GS, F850GS, F850GS Adventure, R1250GS, R1250GS Adventure, S1000Rและ S1000RR

ถือเป็น โรงงานบีเอ็มดับเบิลยู แห่งเดียวที่ประกอบรถยนต์ และมอเตอร์ไซค์ภายใต้หลังคาเดียวกันของบีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ซึ่งผ่านไป 20 ปี โรงงานนี้ใช้เงินลงทุนกว่า 5,000 ล้านบาท (เคยประกอบมินิ คันทรีแมน อยู่ช่วงหนึ่ง)

บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป แมนูแฟคเจอริ่ง ประเทศไทย ในปี 2563 ประกอบรถยนต์BMW รวม 23,177 คัน ลดลง 10% และมอเตอร์ไซค์ 8,875 คัน เพิ่มขึ้น 43% ในจำนวนนี้เป็นการผลิตรถยนต์เพื่อส่งออก 15,079 คัน เพิ่มขึ้น 3% ผลิตมอเตอร์ไซค์เพื่อส่งออก 8,064 คัน เพิ่มขึ้น 97% เมื่อเทียบกับปี 2562

ปี 2563 บีเอ็มดับเบิลยู เพิ่มการประกอบรถยนต์รุ่นใหม่ ที่น่าสนใจคือ BMW 220i Gran Coupe M Sport ราคา 2.169 ล้านบาท รวมถึงรุ่นใหญ่ BMW X6 ซึ่งเป็นการประกอบรถพวงมาลัยซ้าย เครื่องยนต์เบนซิน แต่ไม่ได้ทำตลาดในไทย  (BMW X6 xDrive30d M Sport รุ่นที่ขายในไทยราคา 7.299 ล้านบาท นำเข้ามาจากโรงงานสปาตันเบิร์ก สหรัฐอเมริกา)

ล่าสุดกับเอสยูวีรุ่นท็อปของค่ายคือ BMW X7 xDrive30d M Sport ที่กำลังเครื่องยนต์ลดลง แต่ฟังก์ชัน-อุปกรณ์ต่างๆ ยังคงเดิม และเพิ่มในหลายจุด พร้อมทำราคาถูกลง 3 ล้านบาท เป็น 5.999 ล้านบาท

นอกจากนี้ ในเดือนมีนาคม 2564 ยังเตรียมส่งตัวแรงสายพันธ์ุ M คือ BMW M340i xDrive เครื่องยนต์เบนซิน 6 สูบ ขนาด 3.0 ลิตร เทอร์โบ ให้กำลังสูงสุด 374 แรงม้า ที่ 5,500-6,500 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 500 นิวตัน-เมตร 1,850-5,000 รอบต่อนาที ส่งกำลังด้วยเกียร์อัตโนมัติ 8 สปีด อัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. ทำได้ 4.4 วินาที ราคาขายประมาณ 4 ล้านบาท

โรงงาน BMW เพิ่มรุ่นผลิตในไทย ตัวแรง M340i พันธุ์หรู X6 X7

นั่นเป็นแผนการ ผลิตรถยนต์BMWในประเทศของ บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป เหนืออื่นใดยังสั่งนำเข้ารถยนต์ที่ไม่เคยทำตลาดในไทยมาจากประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียอีกด้วย

หลังจากนำเข้า ซีรีย์ 6 จีที เครื่องยนต์เบนซินจากมาเลเซียมาทำตลาดแล้ว ค่ายใบพัดสีฟ้ายังเพิ่มไลน์อัพ ซีรีส์ 3 ตัวถังซีดานฐานล้อยาว (long wheelbase) BMW 330Li M Sport เพื่อเสริมทัพกับตัวถังปกติ BMW 320d เครื่องยนต์ดีเซล และ BMW 330e ปลั๊ก-อินไฮบริด

BMW 330Li M Sport รุ่นฐานล้อยาว นำเข้าจากประเทศมาเลเซีย วางเครื่องยนต์เบนซิน 4 สูบ ขนาด 2.0 ลิตร ให้กำลังสูงสุด 258 แรงม้า ที่ 5,000 – 6,500 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 400 นิวตันเมตรที่ 1,550 – 4,400 รอบต่อนาที ส่งกำลังด้วยเกียร์อัตโนมัติ 8 สปีด อัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. 6.2 วินาที ความเร็วสูงสุด 250 กม./ชม.

BMW 330Li M Sport มีฐานล้อยาวกว่ารุ่นตัวถังซีดานปกติ 110 มิลลิเมตร ทำให้มิติความยาวรวม 4,819 มิลลิเมตร ส่วนความกว้างเท่าเดิม 1,827 มิลลิเมตร แต่สูงขึ้นเล็กน้อยที่ 1,441 มิลลิเมตร ส่งผลโดยตรงถึงพื้นที่ห้องโดยสารแถวหลังที่ยาวขึ้น 43 มิลลิเมตร พร้อมขายในราคา 2.899 ล้านบาท

นอกจากรถเครื่องยนต์สันดาป ICE ทั้งตัวถังซีดาน และเอสยูวี ที่บีเอ็มดับเบิลยูระดมทำตลาดแล้ว รถพลังงานไฟฟ้า 100% อย่าง iX3 ที่เตรียมผลิตในจีน จะส่งเข้ามาขายในไทยเช่นกัน พร้อมเปิดตัวไม่เกินปลายปี 2564 นั่นหมายถึง BMW X3 จะเป็นรถโมเดลแรกของบีเอ็มดับเบิลยู ที่มีขุมพลังทำตลาดครบทั้ง รุ่นเครื่องยนต์(ดีเซล),ปลั๊ก-อินไฮบริด และอีวี

“ปีนี้เรายังคงรุดหน้าอย่างต่อเนื่อง เพื่อต่อยอดความสำเร็จในฐานะผู้นำอันดับหนึ่งในตลาดรถยนต์พรีเมียม ด้วยผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ที่เร้าใจและสะดุดตายิ่งกว่าเดิม ทั้งยังเพิ่มทางเลือกให้กับลูกค้าอย่างทั่วถึงทุกความต้องการ นับตั้งแต่ความหรูหราไปจนถึงความตื่นตาตื่นใจจากสนามแข่ง” นายอเล็กซานเดอร์ บารากา ประธาน บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ประเทศไทย กล่าวสรุป

ทั้งนี้ ในปี 2563 บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ประเทศไทย ทำยอดขายมากกว่าเมอร์เซเดส-เบนซ์ ประเทศไทย ได้ในรอบ 20 ปี ครองแชมป์เซ็กเมนต์รถหรู พร้อมครองส่วนแบ่งการตลาด 51.2% ด้วยการส่งมอบรถยนต์บีเอ็มดับเบิลยูและมินิรวม 12,426 คัน 

 

หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,654 วันที่ 18 - 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564