“สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” รับลูกแจ้งเกิด EV ทำแผนให้หน่วยงานรัฐบาลซื้อนำร่อง

27 ส.ค. 2563 | 01:40 น.

“สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” รมต. กระทรวงอุตสาหกรรม หวังผลักดันดีมานด์ EV ในไทย ประเดิมหน่วยงานราชการ-รัฐวิสาหกิจ ซื้อใช้นำร่องด้าน “สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย” ชงแผนให้คนซื้อรถพลังงานใหม่ นำค่าใช้จ่ายไปหักลดหย่อนภาษีรายปีได้ ขณะที่ “เมอร์เซเดส-เบนซ์” เผยลูกค้า 50% สนใจเปลี่ยนรถเป็น EV ถ้าได้รับการสนับสนุนเพิ่มเติม เช่น ขึ้นทางด่วนฟรี มีที่จอดเฉพาะ

อุตสาหกรรมยานยนต์ไทย มุ่งสู่การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต่างเร่งส่งเสริมผลักดันขณะที่ “สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย” (EVAT) นำโดย นายกสมาคมคนใหม่ “กฤษฎา อุตตโมทย์” เดินหน้าทำงานตามแผนโรดแมป 8 ข้อ เพื่อส่งเสริมให้เกิดการผลิตและการใช้ รถยนต์ไฟฟ้า อย่างแพร่หลาย เช่น การให้หน่วยงานรัฐบาลปรับแผนการจัดซื้อจัดจ้าง อีวี มาใช้ในหน่วยงาน รวมถึงการให้กรมการขนส่งทางบก แยกประเภทการจดทะเบียนระหว่างรถไฮบริด และ รถปลั๊ก-อินไฮบริด ให้ชัดเจน เพื่อจะได้นับจำนวนรถยนต์ที่ต้องการเสียบปลั๊กชาร์จไฟ ซึ่งจะเป็นข้อมูลสำคัญในการพัฒนาสถานีชาร์จให้เดินคู่กันไป รวมถึงข้อเสนอให้รัฐบาลสนับสนุนผู้ที่ซื้อ EV สามารถนำค่าใช้จ่ายไปหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า การสนับสนุนการผลิต รถยนต์ไฟฟ้า ในประเทศไทย ในส่วนมาตรการด้านการตลาด (Demand Side) มีแผนจัดซื้อรถยนต์ประจำตำแหน่งของผู้บริหารในหน่วยงานภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ ซึ่งได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหารือกับสำนักงบประมาณแล้ว เพื่อกำหนดคุณลักษณะเฉพาะของรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มเข้าไป จะเป็นการเปิดโอกาสให้หน่วยงานภาครัฐสามารถจัดซื้อรถยนต์ไฟฟ้ามาใช้งานได้

“สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” รับลูกแจ้งเกิด EV ทำแผนให้หน่วยงานรัฐบาลซื้อนำร่อง

“ส่วนมาตรการสนับสนุนรถยนต์ไฟฟ้าด้านอื่นๆ เช่น สิทธิประโยชน์เพิ่มเติมสำหรับประชาชนที่ซื้อรถยนต์ไฟฟ้าไปใช้ จะได้มีการหารือและดำเนินการผลักดันภายใต้คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ เพื่อให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายของการเป็นฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าสำคัญของโลกต่อไป” นายสุริยะกล่าว

สำหรับโครงการรถยนต์ไฟฟ้า ประเภท EV ปัจจุบัน บีโอไออนุมัติแผนส่งเสริมการลงทุนรวม 12 ราย ได้แก่ ฟอมม์ สกาย เวลล์ ฮอนด้า เอ็มจี สามมิตร โตโยต้า นิสสัน ทาคาโน่ ไมน์ อาวี้ มิตซูบิชิ และเมอร์เซเดส-เบนซ์

ทั้งนี้ เมอร์เซเดส-เบนซ์ ยืนยันประกอบ EV รุ่นใหม่ในไทยแน่นอน แม้แผนแรกในการผลิต Mercedes Benz EQC จะเป็นหมัน สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากไวรัสโควิด-19 โดยประธาน “โรลันด์ โฟล์เกอร์” เปิดเผยว่า เตรียมประกอบ อีวี ที่โรงงานธนบุรีประกอบรถยนต์ จ.สมุทรปราการ ปลายปี 2564 ส่วนกลุ่มปลั๊ก-อินไฮบริด ยังเดินหน้าผลิตและทำตลาดหลายรุ่น

“ยอดขายสะสมรถยนต์ปลั๊ก-อินไฮบริด ในไทยประมาณ 3-4 หมื่นคัน ในจำนวนนี้เป็นของเมอร์เซเดส-เบนซ์กว่า 1.6 หมื่นคัน (นับตั้งแต่ปี 2559)” นายโรลันด์ โฟล์เกอร์ กล่าว

ขณะที่ยอดขายรถปลั๊ก-อินไฮบริดแบรนด์ EQ ของเมอร์เซเดส-เบนซ์ มีสัดส่วน 30% จากรถยนต์ที่ขายไปทุกรุ่นในช่วงครึ่งปีแรกจำนวน 4,032 คัน

นายโรลันด์ โฟล์เกอร์ ประธานบริหาร บริษัท เมอร์เซเดส-เบนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด ยังเปิดเผยว่า ผลสำรวจลูกค้าเมอร์เซเดส-เบนซ์ ในไทยพบว่า จำนวน 30-50% อยากเปลี่ยนจากรถยนต์ที่ใช้ในปัจจุบันไปเป็น EV เพียงแต่ต้องได้รับการสนับสนุนเพิ่มเติม

“ลูกค้าสนใจ และมีโอกาสซื้อ EV ภายใต้ข้อแม้ว่า สถานีชาร์จต้องพร้อม มีสิทธิประโยชน์อื่นๆ เช่น ที่จอดรถเฉพาะ หรือ ขึ้นทางพิเศษฟรี เป็นต้น” นายโรลันด์ โฟล์เกอร์ กล่าวสรุป

สอดคล้องกับนายสมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ รถพลังงานไฟฟ้า 100% แบรนด์ “ไมน์ โมบิลิตี้” เปิดเผยว่า การสนับสนุนให้ EV เกิดต้องมีดีมานด์ในประเทศให้ได้ก่อน โดยต้องมีกระบวนการแบบเป็นระบบ เริ่มจากรถขนส่งมวลชน ,รถราชการ,รถแท็กซี่ ,ขนส่งพาณิชย์, อี-ไบค์, อี-ทรัค, รถส่วนบุคคล 

 

หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,604 วันที่ 27 - 29 สิงหาคม พ.ศ. 2563