ค่ายรถดีเซลวิ่งฝุ่นตลบ เลื่อนมาตรฐานไอเสียยูโร 5

07 ส.ค. 2563 | 05:30 น.

 

ตามที่กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เสนอให้รัฐบาลขยับมาตรฐานไอเสียรถยนต์ใหม่ จากเดิมรถยนต์ที่ขายตั้งแต่ปี พ.ศ. 2564 เป็นต้นไป ต้องผ่านมาตรฐานระดับยูโร 5 และปี พ.ศ. 2565 เป็นยูโร 6 (โดยไม่แบ่งว่าเป็นกลุ่มรถเล็ก คือ เก๋ง ปิกอัพ หรือรถใหญ่ คือ รถบรรทุก) ตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2562 ซึ่งเป็นประเด็นที่กระทรวงอุตสาหกรรม ผลักดันให้บังคับใช้เร็วขึ้น หวังช่วยลดมลพิษ และฝุ่นพิษ PM2.5

กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ อาศัยความเดือดร้อนในช่วงโควิด-19 และอ้างความพร้อมของมาตรฐานนํ้ามัน เพื่อขอความเห็นใจรัฐบาล ผ่านหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคือ คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ที่มี พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี นั่งเป็นประธาน

กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ เสนอให้พิจารณาข้อบังคับดังกล่าวใหม่ และขอให้เลื่อนมาตรฐานรถยนต์ยูโร 5 ไปเป็นปี 2568 และ ยูโร 6 ปี เป็นปี 2571 ขณะที่รถใหญ่​ (รถบรรทุก 6 ล้อขึ้นไป) ขอเป็นยูโร 5 ปี​ 2569 และ ยูโร 6 ปี 2574

ล่าสุดที่ประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ มีความเห็นในวันที่ 20 กรกฎาคมที่ผ่านมาว่า ให้เลื่อนมาตรฐานไอเสียรถยนต์ ยูโร 5 ยูโร 6 ออกไป แต่ไม่ขยับระยะเวลาไปไกลตามที่กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ร้องขอ โดยยึดหลักตามมติ ครม.เดิม คือ ไม่แบ่งแยกรถเล็ก-รถใหญ่ และการขยับมาตรฐานจาก ยูโร 5 ไปเป็นยูโร 6 ยังคงห่างกัน 1 ปี

ในที่ประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เห็นชอบให้รถยนต์มาตรฐาน ยูโร 5 เลื่อนออกไปเป็น ปี 2567 (เดิม พ.ศ. 2564) และ ยูโร 6 เป็นปี 2568 (เดิม พ.ศ. 2565) หรือขยับช้าออกไปอีก 3 ปี ส่วนมาตรฐานนํ้ามันยูโร 5 ยังคงเดิมที่ 1 มกราคม 2567 ซึ่งหลังจากนี้ต้องรอมติ อย่างเป็นทางการ(มีหนังสือเวียน) จากนั้นจะเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีต่อไป

แหล่งข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ประเด็นมาตรฐานรถยนต์ยูโร5 และ ยูโร 6 เริ่มพูดคุยมาตั้งแต่ปี 2558 และพอเจอปัญหา PM 2.5 ก็ถูกหยิบยกมาผลักดันให้มีความชัดเจน เสนอโดยกระทรวงอุตสาหกรรม และคุยในรายละเอียดกับบรรดาค่ายรถยนต์จบปลายปี 2562 จนออกมาเป็นมติครม.มีผลบังคับใช้ ยูโร 5 ในปี 2564 และ ยูโร 6 ในปี 2565 แต่ปีนี้มีบางค่ายรถยนต์พยายามเลื่อนมาตรฐานไอเสียนี้ออกไปอีก

“อีซูซุ มิตซูบิชิ นิสสัน ฟอร์ด เป็นแกนนำที่ขอเลื่อนการใช้มาตรฐานไอเสียรถยนต์ ยูโร 5 ยูโร 6 ออกไป แต่การประชุมล่าสุดของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ มีความเห็นให้ขยับแผนออกไปเพียง 3 ปี เป็นระยะเวลาสั้นกว่าที่ร้องขอ และไม่แบ่งเป็นกลุ่มรถเล็ก-รถใหญ่”แหล่งข่าว กล่าว

ด้านแหล่งข่าวจาก บริษัท ตรีเพชรอีซูซุเซลส์ จำกัด ไม่ขอออกความคิดในประเด็นนี้ แต่ยังยืนยันเรื่องมาตรฐานนํ้ามัน ยูโร 5 ควรมีใช้อย่างแพร่หลาย สอด คล้องกับมาตรฐานไอเสียของรถยนต์ก่อน และระบุว่าให้รอความชัดเจนอีก 2-3 เดือน

ทั้งนี้ อีซูซุ ครองส่วนแบ่งการตลาดรถบรรทุกเป็นอันดับหนึ่งในเมืองไทย ปัจจุบันรถหลายรุ่นเป็นมาตรฐานไอเสีย ยูโร3

ดร.ยศพงษ์​ ลออนวล อนุกรรมาธิการยานยนต์ไฟฟ้า ในคณะกรรมาธิการพลังงาน สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่า ถ้ามาตรฐานไอเสียรถยนต์ต้องเลื่อนออกไป ตามความต้องการของบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ มลพิษ PM 2.5 จะอยู่กับคนไปอีกกว่า 10 ปี หรือเทียบกับยุโรปที่เป็น ยูโร 4 ตั้งแต่ ปี 2548 และยูโร 5 ปี 2552 และยูโร 6 ปี 2558 ส่วนประเทศไทย รถใหญ่ยังเป็น ยูโร 3 รถเล็ก ยูโร 4 หากเลื่อนการบังคับใช้ออกไปอีกเท่ากับไทยจะล้าหลังมาก

“ค่ายรถยนต์จะมาอ้างเรื่องราคาในการปรับมาตรฐานไอเสียไม่ได้ เพราะต้นทุนระบบการบำบัดเป็น ยูโร 6 เมื่อ 14 ปีที่แล้ว อยู่ที่ 20,000 บาท/คัน ดังนั้นถึงวันนี้ต้นทุนต้องถูกลงไปอีก และอย่าอ้างเรื่องนํ้ามันไม่พร้อม เพราะประเทศไทยมีรถ ยูโร 5 และ ยูโร 6 ขายแล้วหลายรุ่นหลายยี่ห้อ(เช่น อีโคคาร์ และรถยุโรป) สามารถใช้งานได้ทั่วไป”ดร.ยศพงษ์ กล่าว

หน้า2 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,598 วันที่ 6 - 8 สิงหาคม พ.ศ. 2563