“ยามาฮ่า” ปั้นแบรนด์สู้วิกฤติ-เพิ่มส่วนแบ่งตลาด

03 ก.ค. 2563 | 08:15 น.

ค่ายรถจักรยานยนต์ “ยามาฮ่า” ชูกลยุทธ์สร้างแบรนด์ ฝ่าวิกฤติโควิด-19 หลัง 5 เดือนแรกของปี (ม.ค.-พ.ค.63) ยอดขายทะลุ 9 หมื่นคัน ตกน้อยกว่าตลาดรวม หวังทำส่วนแบ่งการตลาดได้สูงกว่าเป้าหมายที่วางไว้ 16%

ปี 2562 ตลาดรถจักรยานยนต์ตก 3% ด้วยยอดขาย 1.74 ล้านคัน ส่วนปีนี้ก่อนเกิดโควิด-19 ยังประเมินกันว่า ตัวเลขน่าจะอยู่แถวๆ 1.7 ล้านคัน จากผลกระทบของ พิษเศรษฐกิจ และภัยแล้ง (ยังไม่ให้นํ้าหนักเรื่องการแพร่ระบาดของไวรัส)

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ตลาดรถจักรยานยนต์อาจจะไม่สาหัสเท่าตลาดรถยนต์ที่ยอดร่วงไป 30-40% เพราะหลังเกิดวิกฤติโควิด-19 หลายคนมีเหตุผลให้ซื้อรถใหม่ ทั้ง การเดินทางเพื่อรักษาระยะห่างทางสังคม การซื้อมาใช้ทำมาค้าขาย รวมถึงกลุ่ม ออน ดีมานด์ ดีลิเวรี่ (On  Demand Delivery) บริการส่งของและอาหาร ซึ่งรถจักรยานยนต์ถือเป็นสินค้าจำเป็นในการเดินทางที่ราคาเข้าถึงได้

“ยามาฮ่า” ผู้ผลิตรถจักรยานยนต์รายใหญ่ และเมืองไทยยังมีธุรกิจรถกอล์ฟ ยานพาหนะทางนํ้า (Marine) ซึ่งปีนี้เตรียมแคมเปญใหม่ๆมากมาย เพื่อฉลองครบรอบ 65 ปี ของการก่อตั้งธุรกิจที่ประเทศญี่ปุ่น

ปัจจุบัน ยามาฮ่า มอเตอร์ ดำเนินธุรกิจใน 200 กว่าประเทศทั่วโลก และไทยยามาฮ่ามอเตอร์ มีความสำคัญในแง่ยุทธศาสตร์การผลิต การทำตลาด แต่ที่โดดเด่นกว่าประเทศอื่นๆมากคือ แนวทางการสร้างแบรนด์

“เรารณรงค์เรื่องแบรนดิ้ง มา 4-5 ปีแล้ว อย่างการส่งแคมเปญไปประกวดไปที่ ยามาฮ่า มอเตอร์ ประเทศญี่ปุ่น (จัดเป็นปีแรก) ปรากฎว่าโครงการของประเทศไทยได้อันดับ 2 ของโลก ด้วยการบริหารจัดการอย่างเป็นรูปธรรมทำแบรนด์ดิ้งเชิงระบบ
ขับเคลื่อนโดยคำนึงถึง พนักงาน ลูกค้า ดีลเลอร์ สื่อมวลชน และ ซัพพลายเออร์” นายพงศธร เอื้อมงคลชัย รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไทยยามาฮ่ามอเตอร์ จำกัด กล่าวและว่า

“ยามาฮ่า” ปั้นแบรนด์สู้วิกฤติ-เพิ่มส่วนแบ่งตลาด

โครงสร้างแบรนด์ของยามาฮ่า ที่พยายามสื่อสารไปในทิศทางเดียวกันคือการสร้าง 1. Innovation นำเสนอนวัตกรรมใหม่ๆ 2.Excitement ความตื่นเต้น ความสนุกสนาน 3.Confidence ความมั่นใจในตัวสินค้าทุกประเภท 4.Emotion สินค้าต้องดึงดูดใจน่าใช้ 5.Ties สร้างความผูกพันกับลูกค้าตลอดไป

“แบรนดิ้งกับการค้าเป็นสิ่งที่คู่กันมาตลอด แต่การสร้างแบรนด์แบบเดิมๆคือ ทำแคมเปญ ตั้งสโลแกน แล้วโฆษณา สำหรับยุคใหม่ที่ทิศทางการตลาดเปลี่ยนไปเราต้องทำให้ลึกเป็นวงจร เริ่มจากการตั้งเป้าหมาย ลงมือทำ เมื่อบรรลุเป้าหมายแล้วต้องยกระดับต่อไป”

นายพงศธร กล่าวว่า เป้าหมายสูงสุดของการทำแบรนดิ้ง คือสร้างความแตกต่างจากสินค้าอื่น ทำให้ลูกค้ามั่นใจในตัวสินค้า สร้างความจงรักภักดีต่อแบรนด์ ดูแลผูกพันกันไปตลอดทั้งชีวิต ซึ่งเรื่องเหล่านี้ต้องสร้างการมีส่วนร่วมและความเข้าใจของผู้จำหน่ายและพนักงานของไทยยามาฮ่าฯ ด้วย

ในส่วนโปรดักต์ต้องมีนวัตกรรม และการพัฒนา การเปลี่ยนแปลงในทุกๆ เรื่อง บริษัททำตามความต้องการของลูกค้าทั้งสิ้น ส่วนบริการหลังการขายตั้งแต่ 1 มกราคมที่ผ่านมา เพิ่มการรับประกันรถจักรยานยนต์ทั้งคัน ขนาดเครื่องยนต์ไม่เกิน 500 ซีซี เป็น 5 ปี หรือ 50,000 กม. เป็นเจ้าแรกของโลก

นอกจากนี้ ยังเปิด Yamaha Premium Service ที่ถนนศรีนครินทร์ ศูนย์บริการมาตรฐานใหม่ ที่จะเป็นต้นแบบให้ผู้จำหน่ายนำระบบนี้ไปใช้ดูแลลูกค้า ล่าสุดเปิด Yamaha Premium Parking ด้วยการเช่าที่จอดรถตามตึกในเมือง ที่เป็นศูนย์กลางธุรกิจ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ยามาฮ่า (ทั้งรถเล็ก,รถใหญ่ แต่ต้องสมัครเสียค่าใช้จ่ายรายเดือน) เปิดรวม 11 แห่ง ด้วยช่องจอดรถที่กว้างขวางและเป็นส่วนตัว พร้อมระบบรักษาความปลอดภัย

“ในวิกฤติโควิด-19 ตลาดรถจักรยานยนต์ตก แต่ยอดขายยามาฮ่าลดลงน้อยกว่าตลาด ส่วนหนึ่งเป็นเพราะแผนงานต่างๆ และความเป็นแบรนด์ของเรา ดังนั้นปีนี้จึงมีโอกาสทำส่วนแบ่งการตลาดเพิ่มขึ้น จากเป้าหมายที่วางไว้ 16% ” นายพงศธร กล่าวสรุป

ทั้งนี้ ยอดจดทะเบียนรถจักรยานยนต์ 5 เดือนที่ผ่านมา(ม.ค.-พ.ค.63) ของกรมการขนส่งทางบก พบว่า “ฮอนด้า” ทำได้ 473,476 คัน ลดลง 19.1% “ยามาฮ่า” 91,985 คัน ลดลง 16.9%

หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,588 วันที่ 2 - 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2563