"นิสสัน คิกส์" หนุนยอดผลิตอีโคคาร์ รับสิทธิ์ลดภาษีพันล้าน

21 พ.ค. 2563 | 09:15 น.

ค่ายรถยนต์รับสิทธิพิเศษด้านภาษี 2 เด้งจากโครงการอีโคคาร์และรถยนต์ไฟฟ้า โดยนำยอดผลิตมารวมกันได้เพื่อคลายกฎเหล็ก “นิสสัน คิกส์” ไฮบริดตบเท้ารับภาษีสรรพสามิต 4% ตามรอยโตโยต้า

เผยแผนจูงใจให้ค่ายรถยนต์ที่ร่วมหัวจมท้าย ลงทุนทำอีโคคาร์ พร้อมกับรถยนต์ไฟฟ้าในไทย ทั้ง ไฮบริด ปลั๊ก-อินไฮบริด และอีวี สามารถนำยอดผลิตมารวมกับอีโคคาร์ ที่เข้าโครงการส่งเสริมการลงทุนกับ BOI ไปก่อนหน้านี้ หากทำได้ตามแผนโตโยต้า ฮอนด้า นิสสัน มิตซูบิชิ จะได้รับงดเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล (รายปี) มูลค่าหลายพันล้านบาท

อย่างเงื่อนไขการผลิตอีโคคาร์เฟส 2 ที่ต้องทำให้ได้ถึง 1 แสนคันต่อปีตั้งแต่ปีที่ 4 ถือเป็นจำนวนที่สูงมาก ซึ่งอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย เคยเห็นบางค่ายรถยนต์ที่โดนกฎเหล็กจากโครงการอีโคคาร์ เฟสแรก โดยไม่สามารถผลิตรถได้ถึง 1 แสนคันต่อปีตั้งแต่ปีที่ 5-8 มาแล้ว (หรือเฉลี่ย 4 ปีสุดท้ายต้องทำให้ได้ 1 แสนคันต่อปี ถึงจะได้รับการงดเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเต็มๆ แต่ต้องไม่เกินมูลค่าที่ลงทุนไป)

ดังนั้น การที่รัฐบาลส่งเสริมการลงทุนในโครงการใหม่ขึ้นมาอีกหนึ่งตัว คือ “รถยนต์ไฟฟ้า” จึงอะลุ่มอล่วยให้ค่ายรถที่ลงทุนอีโคคาร์ไปแล้ว สามารถหายใจสะดวกและมีความหวังมากขึ้น ด้วยการอนุญาตให้นำยอดผลิตรถยนต์ไฟฟ้ามารวมกับอีโคคาร์ได้

"นิสสัน คิกส์" หนุนยอดผลิตอีโคคาร์ รับสิทธิ์ลดภาษีพันล้าน

ขณะเดียวกัน สิทธิประโยชน์ที่จะได้รับจากโครงการรถยนต์ไฟฟ้ายังคงอยู่ อันหมายรวมถึงการผลิตชิ้นส่วนสำคัญเพิ่มเติม เช่น แบตเตอรี่ มอเตอร์ไฟฟ้า ชุดควบคุม ในประเทศไทย ที่จะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติม นอกจากนี้ รถไฮบริดที่ทำตามเงื่อนไขการผลิตของ BOI แล้ว ยังเสียภาษีสรรพสามิตเพียง 4% 

สำหรับโตโยต้า เริ่มทำตลาดรถประเภทไฮบริดภายใต้โครงการนี้เป็นรายแรก และจากนี้ไปค่ายรถยนต์อื่นๆ จะตามมาเรื่อยๆ เช่น ฮอนด้า กับ “ซิตี้ ไฮบริด” เตรียมเปิดตัวปลายปีนี้ สามารถนำยอดผลิตไปนับรวมกับ ซิตี้ รุ่นเครื่องยนต์ 1.0 ลิตรเทอร์โบ ที่อยู่ในโครงการอีโคคาร์ เฟส 2 ได้ เช่นเดียวกับ มิตซูบิชิ เอาท์แลนเดอร์ ปลั๊ก-อินไฮบริด ที่พร้อมทำตลาดต้นปี 2564

ล่าสุด การเปิดตัว “นิสสัน คิกส์” ขุมพลังไฮบริดที่นิสสันเรียกว่า อี-พาวเวอร์ แบ่งขาย 4 รุ่นย่อย ราคา 8.89 แสน- 1.049 ล้านบาท เอสยูวีที่มีแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน ใช้เครื่องยนต์ปั่นไฟ และมอเตอร์ไฟฟ้าทำหน้าที่ขับเคลื่อนล้อหน้า สามารถเข้าเงื่อนไขนี้ ทั้งปล่อยไอเสีย 100 กรัม/กม. และอัตราบริโภคนํ้ามันระดับ 23.8 กม./ลิตร พร้อมเสียภาษีสรรพสามิต 4% และนำยอดผลิตไปรวมกับอีโคคาร์ เฟส 2 คือ อัลเมร่า 1.0 ลิตร เทอร์โบได้

“นิสสันมุ่งมั่นเปลี่ยนวิถีการขับขี่ และการใช้ชีวิตของผู้คน ด้วยการขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า เราตัดสินใจนำเทคโนโลยี อี-พาวเวอร์ มาสู่ประเทศไทยในเวลาที่เหมาะสม ภายใต้การลงทุนมูลค่ากว่า 1 หมื่นล้านบาท ที่โรงงานนิสสัน จังหวัดสมุทรปราการ (ถนนบางนา-ตราด กม.21-22) ซึ่งไทยถือเป็นฐานการผลิตและส่งออกที่สำคัญของนิสสัน” นายราเมช นาราสิมัน ประธาน นิสสัน มอเตอร์ ประเทศไทย กล่าว

สำหรับ "นิสสัน คิกส์" กับขุมพลัง "อี-พาวเวอร์" ทำตลาดที่ไทยเป็นประเทศแรกในโลกและได้ผลิตเทคโนโลยีไฮบริด นี้ เป็นประเทศที่สองต่อจากญี่ปุ่น

ทั้งนี้ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ รายงานผลประกอบการในปี 2562 ของโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย ว่ามีรายได้รวม 424,088 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14.64% กำไร 21,463 ล้านบาท ขณะที่ ฮอนด้า ออโตโมบิล ประเทศไทย กวาดรายได้ 239,165 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.50% กำไร 12,785 ล้านบาท ส่วนนิสสัน มอเตอร์ ประเทศไทย รายได้รวม 137,621 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18.04% แต่ยังขาดทุนอยู่ 1,003 ล้านบาท

 

หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 3,576 วันที่ 21 - 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2563