อีซูซุ-โตโยต้าหยุดผลิตซัพพลายเชนระสํ่า

06 เม.ย. 2563 | 01:00 น.

อีซูซุ มอเตอร์ เตรียมหยุดผลิตรถ 13-30 เมษายนนี้ เหตุขาดชิ้นส่วนจากวิกฤตโควิด-19 ส่วน“โตโยต้า” ระงับการผลิต 3 โรงงาน รวม 11 วัน “ฟอร์ด” แจ้งซัพพลายเออร์ยังไม่ยืนยันวันกลับมาผลิตอีกครั้ง ด้านผู้ผลิตชิ้นส่วนป้อน OEM มึ

ไวรัสโควิด-19 ฉุดอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย มีโอกาสหลุดเป้าผลิต 1.9 ล้านคันในปีนี้ หลังจากบริษัทผู้รถยนต์ระงับสายการผลิตชั่วคราวในเดือนเมษายน โดย “นิสสัน” เป็นรายล่าสุดที่ประกาศหยุดการผลิตที่โรงงาน 2 ถนนบางนา-ตราด กม.22  จ.สมุทรปราการ ตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน- 3 พฤษภาคมนี้ 

 

ขณะที่ “อีซูซุ มอเตอร์” ให้เหตุผลว่าขาดแคลนชิ้นส่วนการผลิต และปรับกำลังผลิตให้สอดคล้องกับสถานการณ์ตลาดในประเทศและส่งออกที่มีแนวโน้มหดตัว

 

อีซูซุ มอเตอร์ ตัดสินใจหยุดการผลิตที่โรงงาน 2 แห่งชั่วคราวที่ อ.พระประแดง จ. สมุทรปราการ และนิคมอุตสาหกรรมเกตเวย์ซิตี้ จ.ฉะเชิงเทรา ตั้งแต่วันที่ 13-30 เมษายน 2563 ซึ่งแผนระงับการผลิตชั่วคราวนี้ อาจส่งผลต่อการส่งมอบรถให้กับลูกค้าที่จองรถอีซูซุไว้บ้าง

 

ทั้งนี้ มีประกาศจากอีซูซุ มอเตอร์ ว่าในช่วงที่ระงับการผลิตดังกล่าวพนักงานจะได้รับเงินเดือนเต็ม 100% เว้นในช่วงวันที่ 20-24 เมษายน 2563 และ27-30 เมษายน 2563 กลุ่มพนักงานที่ไม่ได้รับมอบหมายให้ปฎิบัติงานจะได้รับค่าจ้าง 90%

 

อีซูซุ-โตโยต้าหยุดผลิตซัพพลายเชนระสํ่า

สำหรับอีซูซุ กำลังใส่เกียร์เดินหน้าโกยยอดขายสวนทางกับสภาพตลาดซบเซาในช่วง 2 เดือนแรกของปี (ม.ค.- ก.พ.63) โดยเซ็กเมนต์ปิกอัพ 1 ตัน(ไม่รวม พีพีวี) ทำได้ 59,908 คัน ลดลง 14.6%

 

ในขณะที่ “อีซูซุ ดีแมคซ์” ขายไป 25,863 คัน เพิ่มขึ้น 8.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว และมากกว่าแชมป์เก่า “โตโยต้า รีโว่” ที่ทำได้ 20,026 คัน ลดลง 21.7%

 

อันดับ 3 เปลี่ยนหน้าเป็น “มิตซูบิชิ ไทรทัน” 5,052 คัน ลดลง 17.3% ตามด้วย “ฟอร์ด เรนเจอร์” 4,116 คัน ลดลง 45.1% โดยทั้ง 4 ค่าย ประกาศหยุดการผลิตชั่วคราวแล้ว

 

สำหรับมิตซูบิชิ มอเตอร์ส ที่โรงงานแหลมฉบังตั้งแต่วันที่ 1-26 เมษายน 2563 โตโยต้า 3 โรงงาน สำโรง,บ้านโพธิ์,เกตเวย์ ตั้งแต่วันที่  7-17 เมษายน 2563 ส่วนฟอร์ด หยุดเป็นค่ายแรกที่โรงงานเอฟทีเอ็ม,เอเอที ตั้งแต่วันที่ 27 มีนาคม-20 เมษายน 2563

 

นายวิชิต ว่องวัฒนาการ กรรมการผู้จัดการ ฟอร์ด ประเทศไทย กล่าวว่า โรงงานของฟอร์ดในประเทศไทย 2 แห่งจะปิดชั่วคราว ส่วนกำหนดการเปิดอีกครั้งจะเป็นเมื่อไร ในเบื้องต้นคงต้องประเมินสถานการณ์กันอีกครั้งหลังสงกรานต์

 

“ถ้าสถานการณ์ต่างๆแย่ลง ก็คงต้องมาดูว่าจะเปิดหรือไม่เปิดเราต้องคำนึงถึงความปลอดภัย สุขภาพของพนักงาน ส่วนการดูแลพนักงานเบื้องต้นเราจ่ายเงินเดือนเต็ม 100% ด้านผู้ผลิตชิ้นส่วนหรือซัพพลายเออร์ ต่างๆก็ได้พูดคุยและแจ้งไปแล้ว เพื่อจะได้วางแผนกันต่อไป”นายวิชิต กล่าว

นายองอาจ พงศ์กิจวรสิน นายกสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย และ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์เปิดเผยว่า ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 มีอย่างแน่นอน ซึ่งทางสมาคมและสมาชิกได้ประชุมร่วมกันและจะนำเสนอมาตรการหรือแนวทางในการช่วยเหลือในภาพรวมของอุตสาหกรรมทั้งหมดต่อภาครัฐต่อไป

 

“สถานการณ์ในตอนนี้ถือว่าชุลมุน เราและกลุ่มอุตสาหกรรมได้พูดคุยเพื่อหาแนวทางที่อยากให้ภาครัฐเข้ามาช่วยดูแลและจะเดินหน้าต่อไปยังไง ซึ่งแนวทางต่างๆ จะถูกนำเสนอในภาพใหญ่ของกลุ่มอุตสาหกรรมในประเทศทั้งหมดก่อน ไม่ใช่เฉพาะกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง”

 

นายเกียรติศักดิ์  จิระขจรวงศ์ นายกสมาคมส่งเสริมการรับช่วงการผลิตไทย เปิดเผยว่า ภาพรวมการผลิตของไทยตอนนี้ได้รับผลกระทบกันหมด ทั้งการขนส่ง การเดินทางไม่สะดวก เศรษฐกิจโดยรวมชะลอตัว การจัดซื้อจัดจ้าง และการผลิตรถยนต์ก็น้อยลง ส่งผลให้บางโรงงานต้องปิดชั่วคราว อย่างไรก็ตาม อาจจะปรับแผนผลิตในจำนวนที่น้อยลง ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นตอนนี้ 

หน้า 16-17 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,563 วันที่ 5 - 8 เมษายน พ.ศ. 2563