ขายรถวูบ คาดทั้งปีลดเหลือ 8 แสนคัน

29 มี.ค. 2563 | 10:50 น.

โควิด-19 ป่วนอุตฯยานยนต์ไทย ยอดส่งออกหาย ขายในประเทศไม่ฟื้น โตโยต้า นิสสัน ลดกำลังการผลิต ด้านฮอนด้า มาสด้า ฟอร์ด ประกาศหยุดโรงงานชั่วคราว คาดตลาดรวมปีนี้เหลือ 8 แสนคัน ดีลเลอร์โอดลูกค้าหาย 80% แถมยังเลื่อนรับรถ

ตลาดรถยนต์ 2 เดือนแรกของปี (ม.ค.- ก.พ. 63) ทำได้ 139,959 คัน ลดลง 12.8% โดย 3 อันดับแรกที่มียอดขายสูงสุด คือ โตโยต้า 38,829 คัน ลดลง 25.8% อีซูซุ 28,769 คัน เพิ่มขึ้น 4.6% และฮอนด้า 21,172 คัน เพิ่มขึ้น 11.5%

ทั้งนี้ช่วงต้นปีโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย ประเมินว่าตลาดรวมปี 2563 จะทำได้ 9.4 แสนคัน ลดลง 6.7% เมื่อเทียบกับปี 2562 จากปัจจัยลบอย่าง ภัยแล้ง ราคาพืชผลการเกษตรตกตํ่า และความเข้มงวดของสถาบันการเงิน ซึ่งเป็นการคาดการณ์ที่ยังไม่รวมสภาพเศรษฐกิจตกตํ่าจากไวรัส โควิด-19

นอกจากนี้โตโยต้ายังยอมรับว่ากำลังการผลิตของตนเองจะลดลง 3% ด้วยจำนวน 5.56 แสนคัน ซึ่งวันนี้สถานการณ์ต่างๆเปลี่ยนไป ทำให้ค่ายรถยนต์อันดับ 1 ของญี่ปุ่นต้องกลับไปประเมินตัวเลขใหม่

สำหรับโตโยต้ามี 3 ฐานการผลิตในไทย คือ สำโรง จ.สมุทรปราการ และ เกตเวย์, บ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา กำลังการผลิตเต็มที่ 7.7 แสนคัน
ต่อปี แม้ยังไม่ประกาศหยุดการผลิตรถยนต์ แต่มีรายงานว่าจะต้องลดชั่วโมงการทำงานจาก 8 ชม. (1 กะ) เหลือ 5 ชม.

ส่วนนิสสัน ที่มีโรงงานบนถนนบางนา-ตราด กม. 21-22 ปัจจุบันมีสัดส่วนการผลิตเพื่อส่งออกมากกว่าผลิตเพื่อทำตลาดในประเทศ และเริ่มทำงานเพียง 1 กะ มาตั้งแต่ปลายปี 2562 มีแผนลดกำลังผลิต
เช่นกัน

บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด แจ้งว่า หยุดการเดินสายประกอบรถยนต์ชั่วคราวของโรงงานทั้ง 2 แห่ง ที่ จ.พระนครศรีอยุธยา และ จ.ปราจีนบุรี ตั้งแต่วันที่ 27 มีนาคม- 30 เมษายน 2563 เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ตลาดที่ลดลงอย่างรวดเร็ว จากผลกระทบของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น และให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับแนวทางการแก้ไข ตลอดจนมาตรการการควบคุมการแพร่ระบาดอื่นๆ ของภาครัฐ

ขณะที่ บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด แจ้งต่อพนักงานว่า เตรียมหยุดโรงงานผลิตรถยนต์ 3 แห่ง และเครื่องยนต์ ที่ศูนย์การผลิตแหลมฉบัง อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี เป็นการชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายนนี้ เป็นไป ตามแผนปรับกำลังผลิตให้สอดคล้องกับสถานการณ์ตลาดที่ยอดขายรถยนต์ลดลง จากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยพนักงานในส่วนการผลิตโดยตรง(Direct) จะได้รับค่าจ้าง 85% ในระหว่างที่หยุดงาน

ด้านฟอร์ด เป็นค่ายแรกที่ประกาศหยุดการผลิตรถยนต์จากโรงงาน 2 แห่ง ได้แก่ ฟอร์ด ไทยแลนด์ แมนูแฟคเจอริ่ง (FTM) และออโต้ อัลลายแอนซ์ (AAT) ตั้งแต่ วันที่ 27 มีนาคม-20 เมษายนนี้ ส่วนมาสด้า ที่ใช้โรงงาน AAT เช่นเดียวกันจะประกาศหยุดตั้งแต่วันที่ 28 มีนาคม-19 เมษายน 2563

นางอัชณา ลิมป์ไพฑูรย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศรีไทย โอโตซีทส์ อินดัสตรี จำกัด และอดีตนายกสมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย เปิดเผยว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากไวรัสโควิด -19 ทำให้ชิ้นส่วนบางชิ้นขาดไม่สามารถส่งมาได้ โดยเฉพาะหากต้องสั่งนำเข้ามาจากจีน ในส่วนของภาคแรงงานในกลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ตอนนี้ยังไม่ได้รับผลกระทบ แต่คงต้องรอดูสถานการณ์ของค่ายรถอีกที

ขายรถวูบ คาดทั้งปีลดเหลือ 8 แสนคัน

ทั้งนี้ เอสแอนด์พี โกลบอล เรทติ้งส์ คาดว่าปีนี้ยอดขายรถยนต์ทั่วโลกจะปรับตัวลงเกือบ 15% เนื่องจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง หรือขายได้ประมาณ 80 ล้านคัน ลดลงจากปี 2562 ที่ทำได้ 90.3 ล้านคัน

แหล่งข่าวจากบริษัทผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ กล่าวว่า จากสถานการณ์ตลาดตอนนี้ ยอดขายหายไป 2 เดือนแน่ๆ แต่ถ้ามาตรการเด็ดขาดต่างๆ ที่รัฐบาลออกมา สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสได้ ตลาดรถยนต์มีโอกาสกลับมาฟื้นตัวเร็วเช่นกัน อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาจากบริบทใน
ปัจจุบัน ค่ายรถยนต์คงต้องปรับเป้าหมายการขายกันใหม่ หรือลดลงอย่างน้อย 10% ส่วนตลาดรวมเคยมองไว้กว่า 9 แสนคัน น่าจะลงมาเหลือกว่า 8 แสนคัน

นายเกียรติ ตั้งตรงศักดิ์ ประธานกรรมการบริหาร กลุ่ม บริษัท พระราม 3 กรุ๊ป ฮอนด้า จำกัด กล่าวว่า เดือนมกราคมปริมาณคนที่เดินเข้าโชว์รูม
​ปกติ พอปลายเดือนกุมภาพันธ์​ยอดคนเริ่มหายไป 30% และพอกลางเดือนมีนาคม ลูกค้าหายไป 70 -​80% หรือลูกค้าบางรายเลื่ิอนขอรับรถออกไปก่อน โดยกลุ่มนี้คิดเป็นสัดส่วนกว่า 30-​40%

“สถานการณ์​ตอนนี้ บางค่ายบางดีลเลอร์ประสบภาวะแบกสต๊อก เพราะขายรถไม่ได้ ลูกค้าชะลอการตัดสินใจ เพราะไม่มั่นใจในส่วนของฮอนด้าช่วง 1 -​2 เดือนที่ผ่านมา ยอดขายยังดีเพราะเปิดตัว ฮอนด้า ซิตี้ ใหม่ ทำให้มียอดเข้ามาเรื่อยๆ ซึ่งเรายืนยันว่าการปิดโรงงานของบริษัทแม่ ไม่กระทบกับการขายและส่งมอบรถให้กับลูกค้าในช่วงนี้” นายเกียรติ กล่าว

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,561 วันที่ 29 มีนาคม - 1 เมษายน พ.ศ. 2563