"เบนซ์"เปิดรง.แบตเตอรี่ในไทย EQC นำเข้า 250 คัน

06 มี.ค. 2563 | 11:00 น.

เปิดแนวรบ “เมอร์เซเดส-เบนซ์” พร้อมลุยทุกตลาด ทั้งเก๋งเล็ก ตัวแรง รถพลังงานไฟฟ้า ยํ้า “อีคิวซี” นำเข้าล็อตแรก 250 คันส่งมอบครบภายในปีนี้ ก่อนรุ่นประกอบในประเทศตามมาปีหน้า จับมือธนบุรีประกอบรถยนต์เปิดโรงงานแบตเตอรี่ รองรับ อีวี และปลั๊ก-อินไฮบริด รุ่นใหม่

 

เจ้าพ่อรถหรูเมืองไทยประเดิมปีหนูไฟอย่างร้อนแรง แค่ 2 เดือน (ม.ค.-ก.พ.63) เปิดตัวรถยนต์ 8 รุ่น หรือหารเฉลี่ยหนึ่งโมเดลต่อสัปดาห์ ไล่ตั้งแต่ C 200 Coupe AMG Dynamic (เครื่องยนต์ใหม่), E 200 Coupe AMG Dynamic และ E 300 Cabriolet AMG Dynamic จากนั้นตามด้วยเอสยูวีขุมพลังปลั๊ก-อินไฮบริด GLC 300 e 4MATIC AMG Dynamic และ GLC 300 e 4MATIC Coupe AMG Dynamic พร้อมเผยโฉมเอสยูวีสายพันธุ์ใหม่ GLB

ล่าสุดเสริมทัพโฉมใหม่ Mercedes-AMG CLA 45 S 4MATIC+ และตัวแรงน้อยกว่า Mercedes-AMG CLA 35 4MATIC

สำหรับไฮไลต์ในงานบางกอกมอเตอร์โชว์ 2020 เป็นการเปิดตัวอย่างเป็นทางการพร้อมประกาศราคาและรับจอง GLB200 และรถพลังงานไฟฟ้ารุ่นแรกของค่ายคือ EQC ที่เลื่อนกำหนดเปิดตัวในไทยมาจากปลายปี 2562

นายโรลันด์ โฟลเกอร์ ประธานบริหาร บริษัท เมอร์เซเดส-เบนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า มอเตอร์โชว์ 2020 ปลายเดือนมีนาคมนี้ บริษัทจะนำเข้ารถพลังงานไฟฟ้า “อีคิวซี” มาแนะนำและเปิดให้จอง คาดว่าลูกค้าที่จองจะได้รับรถภายในปีนี้ ส่วนแผนงานประกอบในประเทศจะเริ่มปี 2564

"เบนซ์"เปิดรง.แบตเตอรี่ในไทย EQC นำเข้า 250 คัน

“เรายังพูดคุยกับบีโอไอเรื่องจำนวนโควตารถที่นำเข้ามาจำหน่าย โดยจะนำเข้ามาให้ได้มากที่สุด เบื้องต้นตั้งเป้าไว้ 200-250 คันเป็นอย่างตํ่า”

การนำรถพลังงานไฟฟ้ารุ่น อีคิวซี เข้ามาจำหน่าย ถือเป็นครั้งแรกในประเทศ ส่วนในตลาดโลกรถรุ่นนี้ได้เปิดขายมาระยะหนึ่งแล้ว และในต่างประเทศมีการมอบสิทธิประโยชน์สำหรับผู้ที่เป็นเจ้าของรถ อาทิ ขึ้นทางด่วนฟรี มีที่จอดรถฟรี ดังนั้นในประเทศไทยเอง

“ในมุมมองของผู้นำเข้า ต้องการให้รัฐลดภาษีเพราะหากไม่มีสิทธิประโยชน์ตรงนี้ก็จะทำให้ราคารถแพงมาก และอาจจะมีผลคือไม่นำเข้ามาทำตลาด แต่ในมุมมองรัฐเอง หากลดภาษีให้ผู้นำเข้าก็อาจจะเป็นการสูญเสียรายได้ของภาครัฐ และอีกมุมหนึ่งคือรัฐจะช่วยกระตุ้นให้ผู้บริโภคหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้าอย่างไร คือทำยังไงให้รู้สึกว่าเขาเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ไฟฟ้าแล้วได้ประโยชน์ที่มากกว่ารถนํ้ามัน” นายโฟลเกอร์ กล่าวสรุป

นอกจากนี้ การเปิดตัว จีแอลซี ปลั๊ก-อินไฮบริด ทั้งรุ่นตัวถังเอสยูวีแบบดั้งเดิมและเอสยูวีคูเป้ ส่งผลให้เมอร์เซเดส-เบนซ์ เพิ่มความแข็งแกร่งในพอร์ตรถเสียบปลั๊กชาร์จไฟ นอกเหนือไปจากตัวขายหลัก ทั้ง ซี,อี,เอส-คลาส ที่ขายอยู่ในปัจจุบัน

ดังนั้น เพื่อรองรับรถยนต์ไฟฟ้า อีวี และปลั๊ก-อินไฮบริด รุ่นใหม่ๆ ที่เตรียมทำตลาดในไทย ในวันที่ 12 มีนาคมนี้ บริษัท เมอร์เซเดส-เบนซ์ แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท เมอร์เซเดส-เบนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด และพันธมิตร บริษัท ธนบุรี เอ็นเนอร์ยี่ สตอเรจ แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด ในเครือธนบุรีประกอบรถยนต์ เตรียมแถลงข่าวและจัดพิธีเปิดโรงงานผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าอย่างเป็นทางการ

สำหรับโรงงานประกอบแบตเตอรี่ลีเทียมไอออน แห่งนี้ ถือเป็นการตอกยํ้าความมุ่งมั่นของเมอร์เซเดส-เบนซ์ ในการพัฒนาไปสู่ยานยนต์สมัยใหม่ (Next Generation Automobile) ซึ่งสอดรับกับนโยบายส่งเสริมการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าของรัฐบาลไทย

ทั้งนี้ เมอร์เซเดส-เบนซ์ ยื่นขอส่งเสริมการลงทุนในแพ็กเกจรถยนต์ไฟฟ้ากับบีโอไอ ทั้ง อีวี และปลั๊ก-อินไฮบริด รวมมูลค่าลงทุน 949 ล้านบาท

ด้านดร.ยศพงษ์ ลออนวล นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย เปิดเผยว่า อีก 5 ปีข้างหน้ารถยนต์ไฟฟ้าในไทยจะเพิ่มขึ้น เพราะมีความต้องการสูง เนื่องจากราคาใกล้เคียงกับรถยนต์ที่ใช้นํ้ามัน ประกอบกับบริษัทผู้ผลิตแต่ละเจ้าก็มีรถยนต์ไฟฟ้าของตัวเอง และจะผลิตรถออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้นอีกหลายประเภท

ขณะที่โครงสร้างราคาของพลังงานไฟฟ้าก็มีแนวโน้มถูกลง เข่นเดียวกับสถานีอัดประจุไฟฟ้า ที่ภาคเอกชนหลายแห่งได้เตรียมลงทุนเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีความเข้าใจแล้วว่ารถยนต์ไฟฟ้าจะเป็นเทรนด์ของโลกในอนาคตอันใกล้ และภาครัฐได้เตรียมออกนโยบายให้มีสถานีอัดประจุไฟฟ้าในทุกๆ 50-100 กม. ทั่วประเทศ เพื่อรับการใช้งาน โดยปัจจุบันพบว่าลูกค้า 80% ชาร์จไฟที่บ้าน ส่วนอีก 20% ชาร์จที่สถานีอัดประจุไฟฟ้าสาธารณะ

จากเป้าหมายที่ภาครัฐวางไว้ ในปี 2579 จะมีจำนวนรถยนต์ไฟฟ้าทั้งแบบแบตเตอรี่ (BEV),ปลั๊ก-อิน ไฮบริด, ไฮบริด รวมกว่า 1.2 ล้านคัน อย่างไรก็ดีเมื่อดูจากเทรนด์ในปัจจุบันประเมินว่าภายในปี 2568 อาจจะได้เห็นยอดขายจากรถยนต์ไฟฟ้า 10% หรือราว 1 แสนคัน แต่ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับการสนับสนุนจากรัฐบาลผ่านโรดแมปที่ชัดเจน

 

หน้า 16-17 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,554 วันที่ 5 - 7 มีนาคม พ.ศ. 2563