"โตโยต้า"รักเมืองไทยฟันกำไร 2.1 หมื่นล้าน

28 ก.พ. 2563 | 05:00 น.

ประเทศไทยถือเป็นฐานการผลิตใหญ่ของบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่น ที่ลงหลักปักฐานมาเกินครึ่งศตวรรษ พร้อมทำกำไร ส่งเงินกลับไปเข้าคลังบริษัทแม่ประเทศญี่ปุ่นมหาศาล

ด้วยสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ การผนึกกำลังที่เหนียวแน่น การดำเนินนโยบายที่สอดคล้องกับรัฐบาล ส่งผลให้บริษัทผู้ผลิตรถยนต์จากยุโรป หรือสหรัฐอเมริกา ต้องทำการบ้านอย่างหนัก ยกตัวอย่าง โฟล์คสวาเกน ที่ศึกษาตลาดไทยมานานแต่ยังไม่กล้าลงทุนเต็มตัว หรือกรณีล่าสุด เจนเนอรัล มอเตอร์ส (จีเอ็ม) เก็บกระเป๋ากลับบ้านไปเรียบร้อย

ในขณะที่ “จีเอ็ม” ขาดทุนสะสม 2 ปี (2561-2562) กว่า 1.1 หมื่นล้านบาท และยอมขายศูนย์การผลิต จังหวัดระยองให้ เกรท วอลล์ จากจีน สอดคล้องกับกลยุทธ์ระดับโลกคือ ยกเลิกการทำตลาดพวงมาลัยขวาในทุกประเทศ (แต่บางประเทศพวงมาลัยขวายังขายสปอร์ตคาร์ คอร์เวตต์, คามาโร ซึ่งมีจำนวนน้อยมาก)

ประเด็นนี้จะโทษว่าเป็นผลกระทบจากเศรษฐกิจไทย และการบริหารงานของรัฐบาลชุดนี้ คงไม่ถูกต้อง 100% เพราะธุรกิจของจีเอ็มมีแผลมานาน สถานการณ์มีแต่ทรงกับทรุดมาเกิน 10 ปี เห็นได้จากการทยอยปิดโรงงานที่อินโดนีเซีย เวียดนาม และอินเดีย ไปก่อนหน้าประเทศไทย

ชัดเจนถึงการเปลี่ยนยุทธศาสตร์การผลิต-ทำตลาด พร้อมสะท้อนว่าฐานธุรกิจในไทย (และหลายประเทศ) จีเอ็มไม่สามารถแข่งขันได้ โดยเฉพาะตลาดที่ค่ายรถญี่ปุ่นถือครองความได้เปรียบ

"โตโยต้า"รักเมืองไทยฟันกำไร 2.1 หมื่นล้าน

ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ รายงานถึงผลประกอบการของค่ายรถยนต์ยักษ์ใหญ่ในประเทศไทยปี2562 พบว่า โตโยต้า มีรายได้รวม 424,088 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14.64% กำไร 21,463 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 31.45% ส่วนค่ายฮอนด้า 239,165 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.50% กำไร 12,785 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 59.42% ด้าน อีซูซุ  156,691 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.33% กำไร 15,757 ล้านบาท

ค่ายนิสสัน ทำรายได้รวม 137,621 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18.04% ขาดทุน 1,003 ล้านบาท และขาดทุนลดลง 79.15% ส่วนมาสด้า 52,026 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18.12% กำไร 1,498 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 140.04 %

แม้ผลประกอบการของค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นในปีที่ผ่านมาจะเติบโต และฟันกำไรมหาศาล แต่ทุกบริษัทก็เตรียมปรับแผนธุรกิจ รวมไปถึงทดลองรูปแบบการตลาดใหม่ๆ

ปี 2562 โตโยต้า เปิดตัวธุรกิจออนไลน์รูปแบบใหม่ภายใต้ชื่อ “KINTO” เจาะลูกค้าบุคคลเช่ารถระยะยาวในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งโมเดลนี้เป็นความร่วมมือระหว่างโตโยต้า ลีสซิ่ง, โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย และดีลเลอร์ที่จะเป็นผู้ปล่อยรถให้ โดยไทยถือเป็นประเทศแรกในอาเซียนที่เปิดโมเดลนี้

ในช่วงแรกมีรถให้บริการ 4 รุ่นได้แก่ โตโยต้า ยาริส เอทีฟ, วีออส, ซี-เอชอาร์ และคัมรี่ ราคาให้เช่าเริ่มต้น 11,487 คัน ส่วนระยะเวลาเช่ามีให้เลือก 3 ปี และ 4 ปี ล่าสุดโตโยต้าได้เพิ่มรุ่นไฮบริด ของโคโรลล่า อัลติส, ซี-เอชอาร์ และคัมรี่ พร้อมทั้งรุ่น GR สปอร์ต ในรุ่นโคโรลล่าอัลติส

"โตโยต้า"รักเมืองไทยฟันกำไร 2.1 หมื่นล้าน

“หลังจากที่เราได้เปิดบริการ KINTO ตั้งแต่เดือนตุลาคม ปี 2562 พบว่าลูกค้าให้การตอบรับเป็นอย่างดี ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างมากสำหรับการดำเนินงานในระยะเริ่มแรก ดังนั้นเราจึงเพิ่มบริการรถรุ่นไฮบริด และรถรุ่นสปอร์ตอีกจำนวน 5 รุ่น เพื่อเป็นทางเลือกให้กับลูกค้าและสอดรับกับแนวทางการดำเนินงานของบริษัท ที่จะให้ลูกค้าได้สัมผัสประสบการณ์ในรุ่นรถที่ลูกค้าต้องการผ่านรูปแบบธุรกิจเช่ารถระยะยาวแบบใหม่ที่จะให้อิสระ สะดวกสบาย และคุ้มค่าในการใช้รถของลูกค้า” นายสุรศักดิ์ สุทองวัน รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด กล่าว

อีกหนึ่งค่ายที่ริเริ่มโมเดลออนไลน์คือ ตรีเพชรอีซูซุ ที่จับมือกับดีลเลอร์รายใหญ่ อีซูซุสงวนไทย เปิดธุรกิจขายรถมือ 2 ออนไลน์ ภายใต้ชื่อ “โอมาคาเสะ คาร์” โดยแพลตฟอร์มดังกล่าวจะเปิดขายรถทุกยี่ห้อ และรถทุกคันจะผ่านการตรวจสอบ มีประวัติการซ่อมบำรุง มีสถาบันการเงินรองรับและรับประกัน 6 เดือน ซึ่งลูกค้าที่สนใจสามารถคลิกเข้าไปดูข้อมูลรถได้ที่ www.omakasecar.com และนัดดูรถหรือทดลองขับได้ที่โชว์รูมย่านรัตนาธิเบศร์

“ถือเป็นนิว บิสิเนส โมเดล ที่เป็นจิ๊กซอว์ตัวสุดท้ายที่เข้ามาเติมเต็ม ทำให้เรามีทั้งการขายรถใหม่ รถมือ 2 ซึ่งหลังจากเปิดตัวอย่างเป็นทางการในช่วงปลายปีที่ผ่านมา พบว่าลูกค้าให้การตอบรับที่ดีมียอดจองเข้ามามากกว่า 170 คัน” นายโทชิอากิ มาเอคาวะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ตรีเพชรอีซูซุเซลส์ จำกัด กล่าว

"โตโยต้า"รักเมืองไทยฟันกำไร 2.1 หมื่นล้าน

นิสสันเตรียมเปิดตัว คิกส์ อี-พาวเวอร์ (ไฮบริด) ในวันที่ 19 มีนาคมนี้ เตรียมจับมือพันธมิตรทำแคมเปญใหม่ๆในการดูแลลูกค้า เช่นเดียวกับ มิตซูบิชิ มอเตอร์ส พร้อมเปิดตัว เอาท์แลนเดอร์ ปลั๊ก-อิน ไฮบริด ต้นปี 2564 ตอนนี้กำลังเตรียมความพร้อมกับดีลเลอร์เรื่องจุดชาร์จไฟ และปรับมาตรฐานใหม่ของโชว์รูมและศูนย์บริการทั่วประเทศ

ขณะที่อุตสาหกรรมยานยนต์ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ จากการเปลี่ยนผ่านของเทคโนโลยี การดิสรัปต์ในยุคดิจิทัล และภูมิทัศน์ธุรกิจไม่เหมือนเดิม บริษัทผู้ผลิตรถยนต์จึงไม่สามารถดำเนินกลยุทธ์ในรูปแบบเดิมๆ ได้อีกต่อไป 

 

หน้า 16-17 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,552 วันที่ 27 - 29 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563