EV นิสสัน ลีฟ - ฟอมม์ ขายต่ำ100 คัน

28 ม.ค. 2563 | 05:00 น.

รถพลังงานไฟฟ้า100% กัดฟันสู้ หลังยอดจดทะเบียนของกรมขนส่งฯปี 2562 เผย “นิสสัน ลีฟ” กับ “ฟอมม์” ยังขายไม่ถึง 100 คัน ส่วน “เอ็มจี แซดเอส อีวี” จัดไป 492 คัน ด้านสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทยจี้รัฐบาลแจ้งเกิด“อีวี” ช่วยลดมลพิษ ฝุ่น PM 2.5 ส่วนพี่ใหญ่ “โตโยต้า” คาดเปิดตัวรถปลั๊ก-อินไฮบริดในไทยปลายปี 2566

 

ในขณะที่หอการค้าญี่ปุ่นเปิดเผยว่า รถพลังงานไฟฟ้า 100% “อีวี” ที่เปิดตัวหรือพร้อมส่งมอบในปี 2562 อย่าง “นิสสัน ลีฟ” ขายได้ 93 คัน ส่วน “เอ็มจี” แจ้งว่า แซดเอส อีวี จัดไป 1,197 คัน แต่ถ้าดูยอดจดทะเบียนของกรมการขนส่งทางบก ตัวเลขจะต่างกันเท่าตัวโดยเป็นของลีฟ 44 คัน และแซดเอส อีวี 492 คัน

สำหรับ เอ็มจี แจ้งยอดขายรวมในปี 2562 ไว้ 26,516 คัน เพิ่มขึ้น 11.6% เมื่อเทียบกับปี 2561 โดยโมเดลที่ขายดีสุดคือ แซดเอส รุ่นเครื่องยนต์ 1.5 ลิตร จำนวน 12,943 คัน

ขณะที่แบรนด์ญี่ปุ่นแต่มาตั้งฐานการผลิตในไทย “ฟอมม์ รุ่น วัน” มียอดจดทะเบียน 82 คัน ล่าสุดเปิดราคา 599,900 บาท แต่มีส่วนลดให้ 90,000 บาท ซึ่งค่ายรถน้องใหม่มีแผนเดินสายโรดโชว์ทั้งในกรุงเทพฯและหัวเมืองใหญ่ ขณะเดียวกันจะเน้นแผนฝากขายรถไปตามพันธมิตรที่มีโชว์รูมอยู่แล้ว หรือเกรย์มาร์เก็ต โดยนำรถ 1 คัน ไปตั้งโชว์ หากขายได้ก็หักค่าหัวคิวกันไป

 

EV นิสสัน ลีฟ - ฟอมม์ ขายต่ำ100 คัน

 

ด้านนิสสัน ลีฟ อีวี รุ่นที่ขายดีที่สุดในโลก แต่เมืองไทยเมื่อตั้งราคา 1.99 ล้านบาท บวกกับการเป็นรถเทคโนโลยีใหม่ทำให้ยอดขายไม่เดินหน้าอย่างที่ควรจะเป็น ล่าสุดออกแคมเปญดีที่สุดตั้งแต่เปิดตัวมาคือ ฟรีประกันภัยชั้นหนึ่ง 3 ปี และรับอัตราดอกเบี้ย 1.79% เมื่อดาวน์ 25% และผ่อน
48 เดือน

นอกจากนี้ ยังแถมเครื่อง Wallbox EV Charger รวมค่าติดตั้งมูลค่า 72,000 บาท และฟรีโปรแกรมบำรุงรักษาและค่าแรงเช็กระยะและอะไหล่ใช้งานสิ้นเปลือง 4 รายการ 3 ปี หรือ 60,000 กม. พร้อมขยายระยะเวลารับประกันคุณภาพ 5 ปี/150,000 กิโลเมตร และฟรีบริการช่วยเหลือฉุกเฉินนาน 5 ปี

อย่างไรก็ตาม หากลูกค้าอยากปรับบางรายการ แล้วเปลี่ยนเป็นส่วนลดเงินสด 1-2 แสนบาทได้

ทั้งนี้ ยอดจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าประเภท BEV ของกรมการขนส่งทางบกในปี 2562 มีจำนวน 691 คัน ส่วนรถจักรยานยนต์ BEV 791 คัน ส่วนรถยนต์กลุ่มไฮบริดและปลั๊ก-อินไฮบริดรวมกันอีก 26,447 คัน

 

ดร.ยศพงษ์ ลออนวล นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย กล่าวว่า สมาคมได้นำเสนอ 8 แนวทางการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าต่อสาธารณะ ยกตัวอย่างเช่น ให้มีการจัดทำ EV Roadmap อย่างเป็นรูปธรรม, ส่งเสริมการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า, สนับสนุนให้มีการจัดทำมาตรฐานของยานยนต์ไฟฟ้า เเละชิ้นส่วนที่เกี่ยวข้อง, ส่งเสริมการออกมาตรการกระตุ้นการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า รวมถึงส่งเสริมศักยภาพเเละพัฒนาบุคลากรไทยด้านการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า

สมาคมมีทิศทางการดำเนินงานในการสนับสนุนนโยบายของภาครัฐที่จะทำให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าที่สำคัญของภูมิภาคอาเซียน รวมทั้งดำเนินกิจกรรมในการส่งเสริมการพัฒนาและวิจัยเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าภายในประเทศเพื่อนำไปสู่การพัฒนาผู้ประกอบการของไทย

“ปีที่ผ่านมาเราได้รวบรวมข้อเสนอต่างๆ เพื่อเสนอต่อหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ซึ่งทางสมาคมยืนยันว่าจะยึดมั่นเป้าหมายในการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าให้แพร่หลายมากยิ่งขึ้น เพื่อลดปัญหามลพิษอย่าง PM 2.5 ที่ส่งผลต่อสุขภาพประชาชน” ดร.ยศพงษ์ กล่าว

ขณะที่ค่ายใหญ่ “โตโยต้า” หลังได้รับการอนุมัติส่งเสริมการลงทุนจาก บีโอไอในโครงการรถยนต์ไฟฟ้าประเภท BEV (พลังงานไฟฟ้า 100%) และประเภท PHEV (ไฮบริดแบบเสียบปลั๊ก)

ล่าสุดนายสุรภูมิ อุดมวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า ตามเงื่อนเวลาของบีโอไอ ขั้นตอนต่อไปจะต้องพิจารณาแพ็กเกจและแผนงานร่วมกับโตโยต้าอีก 5-6 เดือน กว่าจะออกบัตรส่งเสริมการลงทุนได้ และหลังจากวันที่ได้รับบัตรส่งเสริมฯแล้วภายใน 3 ปี จะต้องมีรถทำตลาด

“ด้วยเงื่อนเวลานี้ โตโยต้าจะต้องมีรถทำตลาดปลายปี 2566 แต่จะเป็นอีวี หรือปลั๊ก-อินไฮบริดโมเดล ไหนมาก่อนยังไม่สามารถเปิด เผยได้” นายสุรภูมิกล่าว

หน้า 28-29 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,543 วันที่ 26-29 มกราคม 2563