ส.ยานยนต์ไฟฟ้าหนุนรัฐแก้PM2.5

23 ม.ค. 2563 | 08:00 น.

สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าเผยปี 63 เอกชนสนใจลุยธุรกิจสถานีอัดประจุไฟฟ้าเชิงพาณิชย์เพิ่มขึ้น พร้อมประกาศชัดแนวทางเพื่อหนุนนโยบายรัฐ และหวังเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยลด PM 2.5

 

ข้อมูลจากกรมการขนส่งทางบก ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 พบว่าประเทศไทยมียอดสะสมจากการจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ (Battery EV) จำนวน 2,854 คัน เเบ่งเป็นยอดการจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ใหม่ (Battery EV) คิดเป็น 1,572 คัน เติบโต 380% เมื่อเทียบกับข้อมูลการจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ใหม่ (Battery EV) ของปี 2561 ทั้งหมดที่ผ่านมา (325 คัน)

ขณะที่จำนวนยานยนต์ไฟฟ้าไฮบริด (HEV) และปลั๊ก-อินไฮบริด (PHEV) มียอดสะสมเป็นจำนวน 153,184 คัน ทั้งนี้จะเห็นว่าอัตราการเติบโตในยานยนต์ไฟฟ้าทุกประเภท (HEV, PHEV และ BEV) ที่มีการจดทะเบียนใหม่ในปี 2562 เปรียบเทียบจากปี 2561 เพิ่มขึ้นกว่า 56%

ดร.ยศพงษ์ ลออนวล นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้า เปิดเผยว่า ด้วยสถานการณ์การจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น ทำให้ในอนาคตอันใกล้สมาคมเล็งเห็นว่าความต้องการในการชาร์จไฟฟ้าผ่านสถานีอัดประจุไฟฟ้าก็จะมีเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน โดยปัจจุบันมีให้บริการจำนวน 520 แห่งทั่วประเทศ

ดร.ยศพงษ์ ลออนวล

 

“ในปีนี้อาจพบเห็นสถานีอัดประจุไฟฟ้าเชิงพาณิชย์เเบบเต็มรูปเเบบโดยภาคเอกชนจะเข้ามามีบทบาทสำคัญมากขึ้น”

 

ดร.ยศพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า แนวโน้มของยานยนต์ไฟฟ้าที่เติบโต ทำให้สมาคมเตรียมเดินหน้าส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยให้แพร่หลายมากขึ้น โดยจะสนับสนุนให้ภาครัฐเข้ามามีบทบาทในการออกมาตรการกระตุ้นการใช้ยานยนต์ไฟฟ้ากับประชาชนรวมไปถึงการพัฒนาบุคลากรด้านยานยนต์ไฟฟ้าให้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะเป็นการช่วยบรรเทาปัญหามลพิษจากยานพาหนะที่เป็นปัญหามาอย่างต่อเนื่องเเละยาวนานในประเทศไทยและส่งผลเสียต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนเป็นอย่างมาก

“ต้นเหตุของ PM 2.5 มากกว่า 50% มาจากรถยนต์เผาไหม้เชื้อเพลิง ดังนั้นเราจึงมองว่ารถยนต์ไฟฟ้าคือทางออกในการสู้กับภาวะวิกฤติ PM 2.5 นี้”

ในปีที่ผ่านมาสมาคมได้นำเสนอ 8 แนวทางการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าต่อสาธารณะยกตัวอย่างเช่น ให้มีการจัดทำ EV Roadmap อย่างเป็นรูปธรรม, ส่งเสริมการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า, สนับสนุนให้มีการจัดทำมาตรฐานของยานยนต์ไฟฟ้า เเละชิ้นส่วนที่เกี่ยวข้อง, ส่งเสริมการออกมาตรการกระตุ้นการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า รวมถึงส่งเสริมศักยภาพเเละพัฒนาบุคลากรไทยด้านการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น

“สมาคมมีทิศทางการดำเนินงานในการสนับสนุนนโยบายของภาครัฐที่จะทำให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าที่สำคัญของภูมิภาคอาเซียนรวมทั้ง
สมาคมยังดำเนินกิจกรรมในการส่งเสริมการพัฒนาและวิจัยเทคโนโลยียานยนต์
ไฟฟ้าภายในประเทศเพื่อนำไปสู่การพัฒนาผู้ประกอบการของไทยและในปีที่ผ่านมาเราได้รวบรวมข้อเสนอต่างๆเพื่อเสนอต่อหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ซึ่งทางสมาคมยืนยันว่าจะยึดมั่นเป้าหมายในการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าให้แพร่หลายมากยิ่งขึ้นเพื่อลดปัญหามลพิษอย่าง PM 2.5 ที่ส่งผลต่อสุขภาพประชาชน”

ปัจจุบันสมาคมได้ดำเนินงานก้าวเข้าสู่ปีที่ 5 และมีผู้สนใจเข้าร่วมเป็นสมาชิกมากกว่า 200 ราย โดยเหล่าสมาชิกต่างมีวิสัยทัศน์ร่วมกันในการสร้างระบบนิเวศด้านยานยนต์ไฟฟ้าที่ครบครันเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้าที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น

หน้า28-29 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 3,542 วันที่ 23 - 25 มกราคม พ.ศ. 2563