“บ๊อช” ทุ่ม 3,400 ล้านปรับสู่ธุรกิจคาร์บอนต่ำ

19 ม.ค. 2563 | 07:24 น.

การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และการเผชิญกับภาวะมลพิษในปัจจุบัน ทำให้หลายบริษัทมุ่งสู่การทำธุรกิจแบบ “คาร์บอนต่ำ” ดูแลสินค้าและบริการให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ

“บ๊อช” ผู้ผลิตเทคโนโลยีและบริการชั้นนำรายใหญ่โลกจากเยอรมนี ประกาศเดินหน้าตามแผน สร้างความเป็นกลางทางคาร์บอนด้วยเงินลงทุน 100 ล้านยูโร หรือ 3,400 ล้านบาท

ดร.โฟล์คมาร์ เดนเนอร์

จากงบประมาณ 100 ล้านยูโร ที่ฝ่ายบริหารได้อนุมัติสำหรับโครงการสร้างความเป็นกลางทางคาร์บอนระหว่างปี ค.ศ. 2018-2030 โดยเน้นเรื่องประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และการผลิตพลังงานจากทรัพยากรหมุนเวียนต่างๆ เพื่อให้บริษัทเดินไปสู่เป้าหมายคือ การประหยัดพลังงานรวม 1.7 เทระวัตต์ และผลิตพลังงานใช้เองจากทรัพยากรหมุนเวียน 400 กิกะวัตต์ ภายในปีค.ศ. 2030

“เราตั้งเป้าว่าภายในอีก 10 ปี หรือปีค.ศ. 2030 สถานการณ์การปกป้องสภาพภูมิอากาศจะต้องดีขึ้นเมื่อดูจากตัวชี้วัดคุณภาพในด้านต่างๆ ซึ่งความเป็นกลางทางคาร์บอนในที่นี้ ครอบคลุมถึงกระบวนการผลิต การจัดการ และวิจัยต่างๆ” ดร.โฟล์คมาร์ เดนเนอร์ ประธานคณะกรรมการบริหาร กลุ่มบ๊อช กล่าวและว่า

บริษัทตระหนักถึงก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น ก๊าซโซลีน น้ำมันดีเซล น้ำมันให้ความร้อน ก๊าซธรรมชาติ และถ่านหิน รวมไปถึงก๊าซอุตสาหกรรมทุกประเภทที่ใช้ในกระบวนการต่างๆ อย่างการกลึง นอกจากนี้ยังรวมถึงก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทางอ้อมที่เกิดจากการใช้พลังงานไฟฟ้า การทำความร้อนแบบรวมศูนย์เพื่อกระจายไปยังชุมชน และระบบไอน้ำ

“บ๊อช” ทุ่ม 3,400 ล้านปรับสู่ธุรกิจคาร์บอนต่ำ “บ๊อช” ทุ่ม 3,400 ล้านปรับสู่ธุรกิจคาร์บอนต่ำ

บ๊อชจะเน้นใช้พลังงานสะอาดตั้งแต่ต้นทาง แหล่งผลิตพลังงานที่ได้จากทรัพยากรหมุนเวียนจึงต้องเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ต้องใช้ทรัพยากรที่มั่นใจได้ถึงแหล่งที่มา พร้อมกับมีมาตรการที่ดีด้วย ดังนั้นภายในปี 2030 กลุ่มบ๊อชจึงให้ความสำคัญกับพลังงานรูปแบบใหม่ๆ รวมถึงรูปแบบการทำสัญญาซื้อขายระยะยาวกับนักลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน เช่น กังหันลม หรือโซล่าฟาร์ม เพื่อให้สอดคล้องกับพันธกิจ

“อีกปัจจัยที่จะทำให้บ๊อชก้าวไปสู่จุดหมายที่วางไว้ได้ คือ การชดเชยด้วยการลดปริมาณคาร์บอน (คาร์บอนเครดิต) ที่เกิดจากกระบวนการเผาไหม้ เช่น การให้ความร้อน หรือการทำความร้อน ทั้งนี้เนื่องจากบางประเทศยังไม่มีกลไกรองรับความเป็นกลางทางคาร์บอน เช่น การจัดซื้อพลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมทำได้ในปริมาณจำกัด จึงต้องมีการชดเชยปริมาณคาร์บอนเข้ามาแทน” ดร.เดนเนอร์ กล่าว