ลองขับ“โตโยต้า โคโรลล่า อัลติส”ไฮบริดพันธุ์นุ่ม

08 ธ.ค. 2562 | 08:15 น.

 

ยุคใหม่รถยนต์โตโยต้าเราได้เห็น 2 สิ่งเปลี่ยนแปลงไปอย่างชัดเจนครับคือ 1. รูปลักษณ์ที่สปอร์ตสวยงาม (ขึ้น)ไม่เป็นทรงกล่องไร้เส้นสายแข็งๆเฉยๆ

2. คือการปูพรมใส่ขุมพลังไฮบริดที่ตนเองถนัดมายาวนานในรถยนต์หลายรุ่นที่เปิดตัวใหม่ ซึ่งจริงๆโตโยต้าตั้งเป้าวางรุ่นไฮบริดในทุกโมเดลที่ขายด้วยซํ้า

การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่นี้ มาจากสารตั้งต้นของประธานไฟแรง “อากิโอะ โตโยดะ” ว่ารถโตโยต้าควรมีชีวิตชีวามากขึ้น ทั้งการออกแบบที่ทันสมัย และสมรรถนะการขับขี่แบบสปอร์ต

สอดคล้องกับการพัฒนาแพลตฟอร์มใหม่ TNGA (Toyota New Global Architecture) ที่ยืดหยุ่นสามารถนำมาใช้กับรถยนต์หลายรุ่น ซึ่งในบ้านเรามีแล้ว 3 โมเดลคือ คัมรี่, ซี-เอชอาร์ โคโรลล่า อัลติส และทุกรุ่นเป็นช่วงล่างด้านหลังเป็นแบบปีกนก 2 ชั้น

ลองขับ“โตโยต้า โคโรลล่า อัลติส”ไฮบริดพันธุ์นุ่ม

การเปลี่ยนแปลงในเชิงนโยบายมาสู่การพัฒนาโครงสร้างใหม่ของรถ ส่งผลโดยตรงต่อสมรรถนะการขับขี่และอารมณ์ที่ต่างไปจากโตโยต้าเดิมๆ อย่าง ซี-เอชอาร์ เป็นตัวอย่างที่ดีครับ กับรถแบบครอสโอเวอร์ขนาดกะทัดรัดออกแบบลํ้าสมัย ใครชอบก็ชอบไปเลยใครไม่ชอบก็หาจุดด่าจนหาทางกลับบ้านไม่เจอ

ขณะที่ “โคโรลล่าอัลติส” รถระดับโกลบัลโมเดล ที่เมืองไทยวิ่งเกลื่อนใครไม่ซื้อมาขับก็มีโอกาสได้นั่งด้วยการจ่ายค่าโดยสารเริ่มต้น 35 บาท ด้วยภายในโอ่โถง พื้นที่นั่งด้านหลังกว้างขวางและพื้นที่เก็บสำภาระด้านหลังมีพอสมควร(ติดตั้งถังก๊าซสบาย)

ทว่าโฉมใหม่ที่พลิกโฉมการออกแบบให้ดูสปอร์ตมากขึ้น ต้องยอมรับว่า “โคโรลล่า อัลติส” ได้บางอย่างและเสียบางอย่างไป

ลองขับ“โตโยต้า โคโรลล่า อัลติส”ไฮบริดพันธุ์นุ่ม

ลองขับ“โตโยต้า โคโรลล่า อัลติส”ไฮบริดพันธุ์นุ่ม

ลองขับ“โตโยต้า โคโรลล่า อัลติส”ไฮบริดพันธุ์นุ่ม

 

ด้วยตัวถังที่ยาวและกว้างขึ้นแต่เตี้ยลงพร้อมช่วงล่างหลังเป็นปีกนก 2 ชั้นย่อมมีผลโดยตรงต่อสมรรถนะการขับขี่หรือเสถียรภาพทรงตัวที่ดีขึ้น

เข้าไปนั่งในห้องโดยสารอารมณ์ไม่เหมือนอัลติสที่เราคุ้นเคย เสาเอ-พิลลาร์ ลาดเอียง ตำแหน่งนั่งเตี้ยลง ทัศนวิสัยด้านหน้าและการเป็นผู้โดยสารด้านหลังไม่รู้สึกโปร่งโอโถงเหมือนเคย

....ดูแล้วเป็นรถที่ทำมาเอาใจคนขับมากกว่าคนนั่งครับ

การทำตลาด “โคโรลล่า อัลติส” ในเมืองไทยมีให้เลือก 3 ขุมพลังหลากหลายกว่าคู่แข่ง ทั้ง “ฮอนด้า ซีวิค” ที่ตัวท็อปใช้ 1.5 เทอร์โบ และมี 1.8 เดิมวางขายในระดับเริ่มต้น ขณะที่ “มาสด้า 3 โฉมใหม่” ซึ่งเปิดตัวในช่วงเวลาใกล้เคียงกันคือเดือนกันยายนที่ผ่านมา มีทางเลือกเดียวคือเครื่องยนต์เบนซิน 2.0 ลิตรบล็อกเดิมแต่ปรับจูนใหม่(ยังไม่มีแผนวางเครื่องยนต์ใหม่สกายแอกทีฟเอ็กซ์ในเมืองไทย)

แน่นอนว่าโตโยต้ายังต้องเกาะตลาดหลักคือ รถฟลีต รถสาธารณะ ด้วยรุ่นเครื่องยนต์ 1.6 ลิตร แบ่งเป็นเกรด J LIMO ราคา 829,000 บาทและ 1.6 G CVT 869,000 บาท ส่วนเครื่องยนต์ 1.8 เดิมเหลือขายรุ่นย่อยเดียวคือ 1.8 GR Sport CVTราคา 999,000 บาท

ขณะที่ความหวังใหญ่ของโตโยต้าคือรุ่นไฮบริด ที่ต้องการผลิตจำนวนมากๆและขายมากๆให้สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ถ่ายโยงเทคโนโลยีและการลงทุนหลักหมื่นล้านบาทในไทยจึงแบ่งขาย 3 รุ่นย่อยคือ 1.8 Hybrid Entry ราคา 939,000 บาท, 1.8 Hybrid MID 989,000 บาทและ 1.8 Hybrid High 1,099,000 บาท

ลองขับ“โตโยต้า โคโรลล่า อัลติส”ไฮบริดพันธุ์นุ่ม

ลองขับ“โตโยต้า โคโรลล่า อัลติส”ไฮบริดพันธุ์นุ่ม

“โคโรลล่าอัลติสไฮบริด” ได้สิทธิพิเศษจากการลงทุน รุ่นนี้เสียภาษีสรรพสามิตตํ่าเพียง 4% (รุ่น 1.8 ใช้E 85 โดน 20%)โดยขุมพลังไฮบริดแม้มีต้นทุนสูงกว่ารุ่นเครื่องยนต์ทั่วไปทั้งชุดแพ็กแบตเตอรี่, มอเตอร์, ชุดควบคุม แต่สามารถทำราคาให้ตํ่ากว่ารุ่น 1.8 ลิตรได้ ส่วนหนึ่งเพราะได้เปรียบเรื่องภาษีและเป็นนโยบายการตั้งราคาที่โตโยต้าอยากขาย ระบายเทคโนโลยีไฮบริดเจเนอเรชันที่ 4 ออกไปสู่ตลาดให้ได้มากที่สุด

ขณะที่คู่แข่งอย่างฮอนด้า ซีวิค เทอร์โบ โดนภาษีสรรพสามิตไปเต็มๆ 25% ส่วนมาสด้า 3 รับในอัตรา 20% (จริงๆทั้ง 2 รุ่นปล่อยไอเสียอยู่ในพิกัดที่จะต้องโดนภาษีในอัตราเดียวกันคือ 25% แต่มาสด้า 3 ใช้E 85 ได้เลยเหลือ 20%)

นอกจากนี้ โตโยต้าพยายามปิดความกังวลของผู้ใช้ ด้วยการให้ฟรีค่าแรงเช็กระยะ 5 ปี ขยายเวลารับประกันคุณภาพ Warrantyเป็น 5 ปี หรือ 150,000 กม.พร้อมรับประกันระบบ Hybrid 5 ปีโดยไม่จำกัดระยะทาง ส่วนแบตเตอรี่รับประกัน 10 ปีไม่จำกัดระยะทาง

ทั้งยังมีโปรแกรมรับประกันราคาขายต่อ กรณีลูกค้าไม่อยากใช้แล้วไปขายเป็นรถมือ 2 กับโตโยต้าชัวร์ภายใน 5 ปีหลังซื้อรถใหม่ โตโยต้ายืนยันว่าคุณจะได้ราคาไม่น้อยกว่าอัลติสรุ่นเครื่องยนต์เบนซิน กล่าวคือถ้ามีส่วนต่างเท่าไหร่โตโยต้าจะสมทบเงินเข้ามาให้

ส่วนสมรรถนะการขับขี่ผมได้ลองทั้งรุ่น 1.8 และไฮบริดในภาพรวมเป็นรถที่ดีขึ้นกว่าเดิมมาก แต่โตโยต้ายังเน้นบุคลิกช่วงล่างและการควบคุมที่นุ่มนวล (แต่ย้วยน้อยลง)ต่างจาก ซีวิค เทอร์โบ ที่ตอบสนองได้สปอร์ตกว่า ส่วนที่สุดในคลาสเรื่องนี้ต้องยกให้ มาสด้า 3 ที่ทำช่วงล่างมาลงตัวแบบนุ่มหนึบขับสนุก (แม้ช่วงล่างหลังเป็นคานทอร์ชันบีม)

จุดที่ผมยังไม่ชอบเสมอมาคือ สัมผัสของระบบเบรกไฟฟ้าไม่เนียนเหมือนเบรกหม้อลมทั่วไป ลักษณะยังออกแนวขาดๆเกินๆในการให้นํ้าหนักกับจังหวะชะลอหยุดของรถ

โคโรลล่า อัลติส ไฮบริด ใช้เครื่องยนต์เบนซิน 4 สูบ 1.8 ลิตรผสานการทำงานกับมอเตอร์ไฟฟ้าให้กำลังรวม 122 แรงม้า ช่วงออกตัวนุ่มเงียบด้วยพลังจากมอเตอร์

ลองขับ“โตโยต้า โคโรลล่า อัลติส”ไฮบริดพันธุ์นุ่ม

ลองขับ“โตโยต้า โคโรลล่า อัลติส”ไฮบริดพันธุ์นุ่ม

เมื่อเลยช่วงนี้ไปแล้ว 2 ขุมพลังจะช่วยกันทำงานทั้ง ส่งกำลังขับเคลื่อนรถ และชาร์จไฟไปเก็บไว้ในแบตเตอรี่นิกเกิลเมทัลไฮดราย ที่ปรับปรุงการวางเซลล์และโมดูลใหม่ ให้ศักยภาพในการจ่ายไฟการชาร์จการเก็บประจุดีขึ้นในชุดแพ็กที่ขนาดกะทัดรัด วางอยู่ใต้เบาะนั่งด้านหลัง

อัลติส ไฮบริด แรงสมเนื้อสมตัว ตอบสนองการขับขี่รวดเร็ว เพียงแต่ไม่จี๊ดเท่า ซีวิค เทอร์โบ ขณะที่อัตราบริโภคนํ้ามันเฉลี่ยเคลมไว้ 23 กม./ลิตร ดีสุดในคลาส(ฮอนด้า ซีวิค เทอร์โบ เคลมไว้ 17.85 กม./ลิตร และมาสด้า 3 เคลมไว้ 15.87 กม./ลิตร อ้างอิงจากอีโคสติกเกอร์)

ส่วนการขับจริงของผมสำหรับอัลติสไฮบริดตัวเลขที่เห็นบ่อยคือ 17-18 กม./ลิตร

รวบรัดตัดความ...อัลติสใหม่พัฒนาสมรรถนะการขับขี่ดีขึ้นแบบผิดหูผิดตาทว่ายังไม่ถึงกับเด็ดขาดกว่าคู่แข่งทั้ง ซีวิค และมาสด้า 3 ขณะที่รุ่นไฮบริดบุคลิกนุ่มนวลแต่การเก็บเสียงในห้องโดยสารไม่เนียนสัมผัสเบรกยังไม่เป็นธรรมชาติต้องใช้เวลาทำความคุ้นเคยแม้จะเป็นรถที่ราคาน่าสนใจมากแต่ผมขอใช้บริการในรูปแบบแท็กซี่ดีกว่า 

คอลัมน์เทสไดร์ฟ

โดย : กรกิต กสิคุณ

หน้า 28-29 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,529 วันที่ 8 - 11 ธันวาคม พ.ศ. 2562