ฮุนไดปรับยุทธศาสตร์อาเซียนไทยนำเข้าEVอินโดนีเซีย

07 ธ.ค. 2562 | 01:00 น.

ฮุนได มอเตอร์ เปิดยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมยานยนต์ในอาเซียน วางอินโดนีเซียเป็นฐานผลิตใหญ่ และเล็งใช้บริษัทลูก “เกีย” บุกตลาดรถพลังงานไฟฟ้า ส่วนไทยรอนำเข้าตามกรอบอาฟต้า ด้าน “ยนตรกิจ เกีย” สั่งแกรนด์ คาร์นิวัล รุ่นล่าง จากเวียดนาม ทำราคาถูกลง 2.25 แสนบาท

ธุรกิจขายรถยนต์ “ฮุนได” ในเมืองไทย ดำเนินงานโดยดิสทริบิวเตอร์ “โซจิทสึ” เทรดดิ้งรายใหญ่สัญชาติญี่ปุ่น โดยตั้ง บริษัท ฮุนได มอเตอร์ (ไทยแลนด์) จำกัด เข้ามาดูแลตลาดตั้งแต่ปี 2549 ส่วนบริษัทลูก “เกีย มอเตอร์ส” ใช้บริการของ “ยนตรกิจเกีย” หรือตระกูลลีนุตพงษ์ มานาน

โดยทั้ง 2 แบรนด์มีรถอเนกประสงค์แบบเอ็มพีวี เป็นตัวทำยอดขายหลัก เพราะเป็นเซ็กเมนต์ที่ค่ายญี่ปุ่นไม่ลงมาลุยหนัก มีช่องว่างการตลาดและสามารถทำราคาขายได้ (รถตู้ 11 ที่นั่งไม่เสียภาษีสรรพสามิต)

ล่าสุดค่ายรถอันดับ 1 ของเกาหลี “ฮุนได” ประกาศแผนยุทธศาสตร์อาเซียนในระยะเวลา 10 ปี ด้วยเงินลงทุน 1.15 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 4.65 หมื่นล้านบาท เพื่อสร้างฐานผลิตแห่งแรกในประเทศอินโดนีเซีย รองรับรถยนต์นั่งเครื่องยนต์สันดาปภายใน และรถพลังงานไฟฟ้าในอนาคต

สำหรับเงินลงทุนจำนวนนี้จะรวมถึงค่าก่อสร้างโรงงาน สายการผลิต ระบบบริหารจัดการ และโครงการพัฒนารถรุ่นใหม่ๆ โดยโรงงานใหม่ของ ฮุนได มอเตอร์ ตั้งอยู่ที่เมือง Kota Deltamas ทางตะวันออกของกรุงจาการ์ตา รถพร้อมผลิตในปี 2564 ด้วยศักยภาพ 1.5 แสนคันต่อปี แต่สามารถขยายกำลังผลิตได้เต็มที่ 2.5 แสนคันต่อปี ช่วยเพิ่มการจ้างงานทั้งทางตรงและทางอ้อมมากกว่า 23,000 ตำแหน่ง (โรงงานผลิตรถยนต์และบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วน)

ฮุนไดปรับยุทธศาสตร์อาเซียนไทยนำเข้าEVอินโดนีเซีย

ฮุนได วางแผนให้โรงงานแห่งนี้ ผลิตคอมแพ็กต์เอสยูวี-เอ็มพีวี และเก๋งตัวถังซีดาน ทั้งยังศึกษาแผนงานผลิตรถพลังงานไฟฟ้า EV เพื่อป้อนตลาดในอาเซียน ผ่านทั้งแบรนด์ของตัวเองและเกีย สอดคล้องกับเป้าหมายของ ฮุนได มอเตอร์ กรุ๊ป ที่หวังติดท็อปทรีบริษัทผู้ผลิตรถพลังงานไฟฟ้ารายใหญ่ของโลกในปี 2568

ส่วนความเคลื่อนไหวในไทย “ฮุนได” ยังทำยอดขายต่อเนื่องกับรุ่น “เอช 1” และยอดขาย 10 เดือนที่ผ่านมา (ม.ค.-ต.ค. 62) รวมทุกรุ่นทำได้ 4,414 คัน โต 9.9%

ส่วน “ยนตรกิจ เกีย มอเตอร์” สบช่องนำเข้า “แกรนด์ คาร์นิวัล” มาจากโรงงานเวียดนาม ภายใต้เขตการค้าเสรีอาเซียน ไม่เสียภาษีนำเข้า

“บริษัทแม่พยายามช่วยเหลือเราในการทำตลาด ไม่ว่าจะเรื่องการทำราคา การนำเข้าสินค้ารุ่นต่างๆ แต่เนื่องจากอัตราภาษีที่ต้องเสีย เมื่อบวกรวมแล้วทำให้ราคาจำหน่ายรถเราสูง จึงมีผลด้านการแข่งขัน อย่างไรก็ตามครั้งล่าสุดที่มีการพูดคุย บริษัทแม่ได้แนะนำให้นำเข้ารถจากเวียดนามที่จะได้สิทธิ อาฟต้า ซึ่งเราก็ตัดสินใจลองดู และหากผลการตอบรับดี ก็อาจจะพิจารณารุ่นอื่นๆในอนาคต“ นางสาวฬสนันท์ ภูนิธิพันธุ์กุล ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท ยนตรกิจ เกีย มอเตอร์ จำกัด กล่าว

สำหรับแกรนด์ คาร์นิวัล ใหม่ ที่นำเข้าจากโรงงานเวียดนาม เป็นรุ่น LX ราคา 1,397,000 บาท ลดลง 2.25 แสนบาท จากรุ่นเดิมที่นำเข้าจากเกาหลีราคา 1,622,000 บาท มาพร้อมเครื่องยนต์ดีเซล เทอร์โบ ขนาด 2.2 ลิตร เกียร์อัตโนมัติ 8 จังหวะ เพิ่มฟีเจอร์ใหม่ในเรื่องของระบบความปลอดภัยและระบบอำนวยความสะดวกที่มากขึ้น อาทิ ระบบควบคุมเสถียรภาพการทรงตัวหรือ ESC ล้อขนาด 18 นิ้ว (จากเดิม 17 นิ้ว), ระบบวิทยุที่สามารถเชื่อมต่อสมาร์ทโฟนผ่าน Apple CarPlay และ Android Auto

ปัจจุบันเกีย แกรนด์ คาร์นิวัล SLX ราคา 2.292 ล้านบาท รุ่น EX ราคา 1.991 ล้านบาท และ LX 1.397 ล้านบาท โดยทำตลาดตั้งแต่ปี 2558 มียอดขายสะสมมากกว่า 4,000 คัน ขณะที่กลุ่มรถพลังงานไฟฟ้านำเข้ามาขายแบบตามมีตามเกิด โดย โซล อีวี ราคา 2.387 ล้านบาท ส่วนรถเพื่อการพาณิชย์ เค 2500 ราคา 6.99-7.79 ล้านบาท

นอกจากแนวรุกภายใต้แบรนด์ “เกีย” แล้ว เดือนมีนาคมที่ผ่านมา “ฮุนได มอเตอร์ คัมปะนี” ได้แต่งตั้งบริษัท ฮุนได คอมเมอร์เชียล เวฮิเคิลส์ (ไทยแลนด์)จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ “ยนตรกิจ คอร์เปอเรชั่น” ให้เป็นผู้ประกอบและจัดจำหน่ายรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ของฮุนได ในนาม “ฮุนได ทรัค แอนด์ บัส” อย่างเป็นทางการแต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทย

ภายใต้ข้อตกลงดังกล่าวจะมีการเปิดสายผลิตรถมินิบัส ขนาด 18 + 1 ที่นั่ง “ฮุนได เคานท์ตี้” พวงมาลัยขับขวาเป็นครั้งแรกของโลก ราคา 1.991 ล้านบาท ที่โรงงานย่านลาดกระบัง ซึ่งเป็นโรงงานในกลุ่มยนตรกิจอุตสาหกรรม ที่แต่เดิมจะเริ่มส่งมอบตั้งแต่กลางปี แต่เนื่องจากติดขัดปัญหาทำให้ต้องเลื่อนมาในไตรมาส 4 ซึ่งความพร้อมตอนนี้ถือว่า 100% โดยมีการประกอบและส่งมอบได้ทันที

“เราล่าช้าเล็กน้อยเกี่ยวกับแผนงานรถบัสและรถบรรทุก แต่ตอนนี้เข้าที่เข้าทางแล้ว ทั้งในแง่ผลิตภัณฑ์ การเปิดเครือข่ายโชว์รูมและศูนย์บริการ เช่นเดียวกับการทำตลาด” นางสาวฬสนันท์ กล่าว 

 

หน้า 28-29 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจปีที่ 39 ฉบับที่ 3,528 วันที่ 5 - 7 ธันวาคม พ.ศ. 2562