‘เบนซ์’ มึนบีโอไอถกนำเข้าเหลว-เลื่อนขาย EV ในไทย

21 พ.ย. 2562 | 07:50 น.

“เมอร์เซเดส-เบนซ์” ถก “บีโอไอ” เรื่องโควตานำเข้า “อีวี” ภาษี 0% ไม่ลงตัวต้องเลื่อนแผนขาย “อีคิวซี” ในไทยจากปลายปีนี้ออกไปอย่างไม่มีกำหนดน้อยใจ “อีวี” จีนไร้ภาษี ด้านบีเอ็มดับเบิลยู วอลโว่ศึกษาการนำเข้าจากแดนมังกรเช่นกัน

 

ตามที่คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนประกาศให้สิทธิพิเศษบริษัทรถยนต์ที่มีแผนลงทุนผลิต “อีวี” ในเมืองไทยโดยอนุญาตให้นำเข้ามาทำตลาดก่อนได้ “จำนวนหนึ่ง” แบบไม่เสียภาษีนำเข้า

Mercedes Benz EQC Mercedes Benz EQC

ปัจจุบันรถยนต์ทั่วไปและอีวีจากยุโรปจะต้องเสียภาษีนำเข้า 80% (ไม่รวมภาษีตัวอื่นๆ เช่น ภาษีสรรพสามิตและภาษีมูลค่าเพิ่ม)ส่วนอีวีจากญี่ปุ่นและเกาหลีใต้เสียภาษีนำเข้า 20% และ 40% ตามลำดับ

อย่างไรก็ตามคำว่า “จำนวนหนึ่ง” ของบีโอไอกับบริษัทผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่อย่าง “เมอร์เซเดส-เบนซ์” ไม่ตรงกันโดยถกประเด็นนี้กันมาข้ามปีหลังจากค่ายรถหรูยื่นแพ็กเกจส่งเสริมการลงทุนให้บีโอไอพิจารณาทั้งปลั๊ก-อินไฮบริดและอีวี

ตามแผนเดิมเมอร์เซเดส-เบนซ์เตรียมนำเอสยูวีพลังงานไฟฟ้ารุ่น “อีคิวซี” จากเยอรมนีเข้ามาทำตลาดในไทยปลายปีนี้แต่กลายเป็นว่าเงื่อนไขของรถล็อตพิเศษที่ไม่ต้องเสียภาษีนำเข้ากลับไม่ได้จำนวนตามที่คาดหวังทำให้ต้องเลื่อนแผนทำตลาดออกไปอย่างไม่มีกำหนด

‘เบนซ์’ มึนบีโอไอถกนำเข้าเหลว-เลื่อนขาย EV ในไทย

จากการเปิดเผยของประธานเมอร์เซเดส-เบนซ์ ประเทศไทย “โรลันด์ โฟล์เกอร์” ว่าต้องการนำเข้าอีวีภายใต้สิทธินี้จำนวน 500 คัน แต่กลายเป็นว่าบีโอไอให้น้อยกว่าตัวเลขนี้มาก

“ถ้าโควตานำเข้าล็อตแรกไม่ได้ตามที่ต้องการก็ไม่มีประโยชน์เพราะมันน้อยเกินไปโดยเราอยากให้ตลาดเห็นว่ารถยนต์ไฟฟ้าราคาไม่แพง(ภายใต้เงื่อนไขที่ขอไป)จากนั้นเมื่อเป็นการประกอบในประเทศเราจะยืนยันราคาขายเดิม” นายโรลันด์ โฟลเกอร์ กล่าวและว่า

บริษัทมีแผนลงทุนประกอบรถยนต์ไฟฟ้าในไทยทั้งอีวีและปลั๊ก-อินไฮบริดแต่ตอนนี้ยังคุยรายละเอียดกับบีโอไอไม่ชัดเจนเรื่องสิทธิพิเศษให้ผู้ลงทุนสามารถนำเข้า “อีวี” ล็อตแรกมาได้จำนวนหนึ่งโดยไม่เสียภาษีนำเข้า

แต่ในช่วงที่ผ่านมากลับกลายเป็นว่าอีวีจากจีนได้ประโยชน์จาก FTA ภาษีนำเข้า 0% แต่ค่ายรถที่ลงทุนในไทยจะนำรถเข้ามาขายก่อนกลับมีโควตาจำกัดบริษัทมองว่ามันไม่สมเหตุสมผล

“ถ้าเป็นแบบนี้เราสั่งอีวีจากจีนรุ่นพวงมาลัยขวามาทำตลาดแทนดีกว่าไหมซึ่งหมายความว่าเงินลงทุนจะไม่เข้าเมืองไทยบางคนอาจจะมองว่าเรารีบเอาเข้ามาเพื่อทำกำไรหรือเปล่า

‘เบนซ์’ มึนบีโอไอถกนำเข้าเหลว-เลื่อนขาย EV ในไทย

ตรงนี้อยากให้มองว่าเราต้องลงทุนด้านต่างๆ เพื่อรองรับไม่ว่าจะเป็นการเตรียมความพร้อมของดีลเลอร์, บุคลากร, เครื่องมือ, ที่ชาร์จและการลงทุนของเบนซ์และโรงงานธนบุรีฯ ไม่ใช่แค่ประกอบรถยนต์แต่ยังมีเรื่องแบตเตอรี่มีการนำเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของฐานผลิตในประเทศไทยซึ่งจะผลิตและส่งออกไปตลาดอาเซียน

หากเงื่อนไขยังเป็นแบบนี้คาดว่าปีหน้า(2563)ก็ยังไม่ได้เห็นการทำตลาดอีวีของเมอร์เซเดส-เบนซ์” นายโรลันด์ โฟลเกอร์ กล่าวสรุป

นอกจาก “เมอร์เซเดส-เบนซ์” แล้วค่ายรถจากยุโรปพร้อมทำตลาดอีวีในไทยเช่นกัน โดยอาวดี้เริ่มจากรุ่น “อี-ตรอน” ราคา 5.099 ล้านบาท ส่วนปอร์เช่เตรียมเปิดตัว “ไทคานน์” ในปี 2563

ส่วนบีเอ็มดับเบิลยูนำเข้า i3s มาทำตลาดด้วยราคา 3.73 ล้านบาทและได้ยื่นแผนส่งเสริมการลงทุนรถยนต์ไฟฟ้าในไทยไว้เช่นกัน ทั้งนี้มีรายงานว่าอีกแผนงานหนึ่งหลังจากโรงงานในประเทศจีนผลิตและเปิดตัว iX3 ปี 2563 แล้วอีวีรุ่นนี้มีโอกาสนำเข้ามาขายไทยผ่านสิทธิ FTA จีน-อาเซียนภาษีนำเข้า 0% ซึ่งส่วนหนึ่งเพราะไทยส่งออกรถจากโรงงานผลิตที่ระยองไปขายในจีนอยู่แล้ว

ด้านวอลโว่ค่ายรถหรูจากสวีเดนที่บริษัทแม่คือ “จีลี่” ยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมยานยนต์จีนล่าสุดผู้บริหารของวอลโว่คาร์ (ประเทศไทย) ยืนยันว่าภายใน 2-3 ปีนี้เตรียมนำเข้าอีวีมาทำตลาดในไทยแต่ยังไม่ระบุว่ามาจากจีนหรือมาเลเซียซึ่งไม่เสียภาษีนำเข้าจากทั้ง 2 แหล่ง

“ตอนนี้อาจเร็วไปที่จะพูดถึงอีวีของวอลโว่แต่เราต้องนำเข้ามาทำตลาดในไทยตามนโยบายของบริษัทแม่แน่นอน ซึ่งกำลังอยู่ในช่วงพูดคุยว่าจะนำเข้ามาจากจีนหรือมาเลเซีย” นายคริส เวลส์ กรรมการผู้จัดการบริษัทวอลโว่คาร์(ประเทศไทย)จำกัด กล่าว 

หน้า 28-29 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,524 วันที่ 21 - 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562