โฟล์ค-อาวดี้ จ่อตั้งโรงงานไทย

19 พ.ย. 2562 | 00:20 น.

ค่ายรถยนต์ยักษ์ใหญ่จากเยอรมนี ยังไม่ปิดประตูลงทุนสร้างฐานผลิตในไทย “โฟล์คสวาเกน” รอแจ้งเกิดปิกอัพ “อมาร็อค โฉมใหม่” ส่วนแบรนด์หรูในเครือ “อาวดี้” เล็งประกอบรถในไทยแน่


3 แบรนด์รถยนต์หรูของเยอรมนี ทั้ง เมอร์เซเดส-เบนซ์ บีเอ็มดับเบิลยู และอาวดี้ เดินหน้าลุยตลาดในไทยอย่างขะมักเขม้น ซึ่ง 2 ค่ายแรกดำเนินธุรกิจโดยบริษัทแม่ พร้อมสร้างฐานการผลิตในไทยอย่างแข็งแกร่ง ส่วนค่ายหลังนำเข้ารถมาทำตลาดดิสตริบิวเตอร์ไทย “ไมซ์สเตอร์ เทคนิค”

ช่วงกลางปีที่ผ่านมา “อาวดี้” นำเข้ารถพลังงานไฟฟ้า 100% รุ่นอี-ตรอนมาเปิดตัว (แต่เริ่มส่งมอบต้นปี 2563) และผู้บริหารจากเยอรมนียืนยันว่ามีแผนสร้างฐานการผลิตรถยนต์ในเมืองไทย โดยยื่นแผนส่งเสริมการลงทุนต่อบีโอไอในกลุ่มอีวี และรถปลั๊ก-อินไฮบริด ไปแล้วช่วงปลายปี 2561 มูลค่าแพ็กเกจ 2-3 พันล้านบาท

“เราส่งทีมงานมาศึกษาตลาด ความพร้อมเรื่องสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานต่างๆในไทย รวมถึงแผนรองรับรถยนต์ไฟฟ้าในอนาคตแล้วพบว่าไทยมีศักยภาพมาก และหวังให้ไทยเป็นฐานการผลิตสำคัญของภูมิภาคนี้” นายอเล็กซานเดอร์ วอน วัลเดนเบิร์ก เดรซิล ผู้อำนวยการส่วนงานต่างประเทศ ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไต้หวัน และอินเดีย บริษัท อาวดี้ เอจี กล่าว

โฟล์ค-อาวดี้  จ่อตั้งโรงงานไทย

นายกฤษฎา ลํ่าซำ ประธานกรรมการและประธานกรรมการบริหาร อาวดี้ ประเทศไทย เปิดเผยว่า เรายื่นแผนส่งเสริมการลงทุนรถยนต์ไฟฟ้าทั้ง อีวี และปลั๊ก-อินไฮบริด เพื่อไม่ให้ตกขบวน แต่จะดำเนินการเมื่อไหร่ยังไม่สามารถเปิดเผยได้ แต่ยืนยันว่าบริษัทแม่ อาวดี้ เอจี ประเทศเยอรมนีให้การสนับสนุนเต็มที่

อีกหนึ่งแบรนด์เยอรมนี “โฟล์คสวาเกน” ที่เคยยื่นขอส่งเสริมการลงทุนในโครงการอีโคคาร์เฟส 2 มูลค่า 3 หมื่นล้านบาท และได้รับการอนุมัติแผนงานจากบีโอไอเรียบร้อย แต่สุดท้ายก็ถอนตัวออกไป

โฟล์ค-อาวดี้  จ่อตั้งโรงงานไทย

แม้ “โฟล์คสวาเกน” จะไม่กระโดดลงมาแข่งขันในตลาดรถยนต์นั่งขนาดเล็ก แต่มีกระแสข่าวออกมาต่อเนื่องว่า ค่ายรถยนต์อันดับ 1 ในยุโรปจะกลับมาอีกครั้งด้วยการตั้งโรงงานผลิตปิกอัพในไทย สอดคล้องกับโมเดลใหม่ของ “อมาร็อค” ที่เตรียมเปิดตัวในอีก 3-4 ปีข้างหน้า

ทั้งนี้ ช่วงต้นปีที่ผ่านมาผู้บริหารของโฟล์คสวาเกน และฟอร์ด มอเตอร์ คัมปะนี ประกาศร่วมกันว่า ปิกอัพขนาดมิดไซซ์ (หรือขนาดบรรทุก 1 ตัน ในเมืองไทย) จะใช้พื้นฐานการผลิตร่วมกัน คาดว่าจะเปิดตัวในปี 2565

ปัจจุบัน “ฟอร์ด” มีโรงงานผลิตรถยนต์ในเมืองไทย 2 แห่ง คือ AAT ออโต้ อัลลายแอนซ์ จ.ระยอง และ FTM ฟอร์ด ไทยแลนด์ แมนูแฟคเจอริ่ง จ.ระยอง แต่ยังไม่มีรายงานว่าการบุกตลาดปิกอัพของโฟลค์สวาเกนในไทย จะเกี่ยวข้องกับโรงงานผลิตของพันธมิตรจากอเมริกาหรือไม่

ด้านผู้นำตลาดรถยนต์หรูในเมืองไทย “เมอร์เซเดส-เบนซ์” โดยประธาน “โรลันด์ โฟล์เกอร์” เปิดเผยว่า บริษัทมีแผนลงทุนประกอบรถพลังงานไฟฟ้าในไทยทั้ง อีวี และปลั๊ก-อิน ไฮบริด แต่ตอนนี้ยังคุยรายละเอียดกับบีโอไอไม่ชัดเจน เรื่องสิทธิพิเศษให้ผู้ลงทุนสามารถนำเข้า“อีวี” ล็อตแรกมาได้จำนวนหนึ่งโดยไม่เสียภาษีนำเข้า ซึ่งเราหวังไว้ที่ 500 คัน แต่บีโอไอให้จำนวนน้อยกว่านั้นมาก

“ถ้าโควตานำเข้าล็อตแรกไม่ได้ตามที่ต้องการก็ไม่มีประโยชน์ เพราะเรามองว่ามันน้อยเกินไป โดยเราอยากให้ตลาดเห็นว่ารถยนต์ไฟฟ้าราคาไม่แพง(ภายใต้เงื่อนไขที่ขอไป) จากนั้นเมื่อเป็นการประกอบในประเทศ เราจะยืนยันราคาขายเดิม”

ในช่วงที่ผ่านมา อีวีนำเข้าจากจีนได้ประโยชน์จากเอฟทีเอ ภาษีนำเข้า 0% แต่ค่ายรถที่ลงทุนในไทยจะนำรถเข้ามาขายก่อนกลับมีโควตาจำกัด เรามองว่ามันไม่สมเหตุสมผล แล้วถ้าเป็นแบบนี้เมอร์เซเดส-เบนซ์ สั่งอีวีจากจีนรุ่นพวงมาลัยขวามาทำตลาดแทนดีกว่าหรือไม่ ซึ่งหมายความว่าเงินลงทุนจะไม่เข้าเมืองไทย” นายโรลันด์ กล่าวสรุป

ทั้งนี้ เมอร์เซเดส-เบนซ์ เตรียมนำเข้าเอสยูวีพลังงานไฟฟ้ารุ่น “อีคิวซี” มาเปิดตัวในไทยปลายปีนี้ ภายใต้สิทธิพิเศษภาษีนำเข้า 0% แต่สุดท้ายเจรจาโควตากับบีโอไอไม่ลงตัว จึงเลื่อนแผนการทำตลาดออกไปไม่มีกำหนด หรืออาจได้เห็นหลังปี 2564 

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3523 วันที่ 17-20 พฤศจิกายน 2562