TR Transformer เล็งพัฒนารถรุ่นใหม่ขยายตลาด

19 มี.ค. 2559 | 08:00 น.
ยืนหยัดในวงการออกแบบและพัฒนายานยนต์ในไทยมากกว่า 49 ปี สำหรับไทยรุ่งยูเนี่ยนคาร์ และยังคงเดินหน้าด้วยการผลิตรถตรวจการณ์ในรุ่น New TR Transformer II ไม่เพียงเท่านั้นยังมีแนวคิดที่จะผลิตรถยนต์อเนกประสงค์รุ่นใหม่ออกมาในอนาคต ซึ่งแนวคิดดังกล่าวจะเป็นอย่างไร จะได้เห็นจริงหรือไม่ ผู้ที่จะมาบอกกล่าวได้ดีที่สุดก็คือคุณสมพงษ์ เผอิญโชค กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยรุ่งยูเนี่ยนคาร์ จำกัด (มหาชน)

 แผนงานสำหรับรถรุ่นใหม่

ในงานมอเตอร์โชว์ที่จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 21 มีนาคม - 3 เมษายนนี้ที่เมืองทองธานี เราจะมีไฮไลต์คือรถตรวจการณ์รุ่นใหม่ New TR Transformer II ที่ได้ร่วมกับ มร.สตีฟ ฮาร์เปอร์ ซึ่งเป็นนักออกแบบ Car Designer จาก Shado Car Design ประเทศอังกฤษ โดยรถรุ่นใหม่นี้มีแรงบันดาลใจซูเปอร์ฮีโร่ IRON MAN ทำให้รถมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ไม่เหมือนใคร สามารถนั่งได้ 5 -11 ที่นั่ง หลังคาสูง กว้างขวาง โปร่งสบาย มีพื้นที่จัดเก็บสัมภาระที่ใหญ่กว่ารถพีพีวีทั่วไปในท้องตลาด และสามารถลุยน้ำได้ไม่น้อยกว่า 50 ซม.

ขณะที่เครื่องยนต์และตัวโครงสร้างรถนั้นมีพื้นฐานมาจากรถกระบะโตโยต้า ไฮลักซ์ รีโว่ ที่มีทั้งระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ และระบบขับเคลื่อน 2 ล้อ ยกสูง เครื่องยนต์ดีเซลขนาด 2.8 ลิตร 177 แรงม้า และ 2.4 ลิตร 150 แรงม้า สามารถเข้ารับบริการด้านเครื่องยนต์และช่วงล่าง ได้ที่ศูนย์บริการโตโยต้าทั่วประเทศ สนนราคารุ่นเครื่องยนต์ดีเซล 2.4 ลิตร เริ่มต้นที่ 1.465-1.545 ล้านบาท และเครื่องยนต์ดีเซล 2.8 ลิตร ราคา 1.555-1.635 ล้านบาท

โดยบริษัทตั้งเป้าหมายการขายรถในรุ่นนี้ไว้ที่ 300 คัน หรือเติบโตประมาณ 50% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาที่ขายได้ประมาณ 200 คัน ซึ่งบริษัทคาดว่าสัดส่วนการขายจะแบ่งออกเป็นในประเทศ 200 คัน และส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศ 100 คัน โดยประเทศที่ให้ความสนใจและมีคำสั่งซื้อมา ได้แก่ มาเลเซีย ประมาณ 100 คัน และในปีนี้กลุ่มลูกค้าจากพม่า, กัมพูชา, และลาวก็ได้ให้ความสนใจ ซึ่งบริษัทกำลังทำรถเพื่อให้กลุ่มลูกค้าเหล่านี้ได้ทดสอบเพราะในอนาคตเมื่อเออีซีมีการเปิดอย่างเป็นทางการจะเกิดการขนส่ง- การค้า มีการใช้รถวิ่งข้ามประเทศมากขึ้น

 แผนงานพัฒนารถรุ่นใหม่และอื่นๆ

เราอยากพัฒนารถรุ่นใหม่ๆ ออกมาสู่ตลาด โดยความคืบหน้าในตอนนี้อยู่ในระหว่างการศึกษา เนื่องจากรถทรานฟอร์เมอร์ที่จำหน่ายอยู่ในตอนนี้มีลูกค้าเฉพาะกลุ่ม ไม่แมสเท่าไร ส่วนจะพัฒนาในรูปแบบไหนนั้นก็ต้องพิจารณากันแต่ในเบื้องต้นก็น่าจะเป็นรถในกลุ่มอเนกประสงค์ เพราะเรามีพื้นฐานในการพัฒนารถประเภทนี้อยู่แล้ว แต่เราจะต้องสร้างความแตกต่าง ไม่ให้รถของเราเหมือนรถในกลุ่มพีพีวีที่ค่ายรถมีการทำออกมา คาดว่าจะได้ข้อสรุปและทำการพัฒนาโดยใช้เวลาประมาณ 1 ปี

นอกจากนั้นแล้วแผนงานที่เราพูดมาตลอดคือ การประกอบรถมินิบัส เพราะตลาดนี้มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง แต่ปัจจุบันไทยมีการนำเข้ามาจากประเทศต่างๆ ทำให้มีราคาแพง สำหรับไทยรุ่งมีแนวคิดที่จะประกอบรถมินิบัสมานานหลายปีแต่ยังไม่ได้เริ่ม เนื่องจากจะต้องมีการพัฒนารวมไปถึงเลือกเครื่องยนต์ที่เหมาะสม หรือบางทีอาจจะเป็นการไปจับมือกับผู้ผลิตรถบรรทุก โดยคาดว่าโครงการดังกล่าวจะได้เห็นภายใน 2-3ปีนี้

 การลงทุนเพิ่มเติมในปีนี้

เรามีการซื้อที่ดินเตรียมไว้สำหรับอนาคต โดยซื้อที่ 50 ไร่ ที่ นิคมอุตสาหกรรมเหมราช บ่อวิน ชลบุรี และอีก 50 ไร่ที่อมตะซิตี้ ระยอง โดยหากมีความพร้อมในโครงการต่างๆ ก็พร้อมที่จะเดินหน้าลงทุนและประกอบได้เลย ส่วนโรงงานในปัจจุบันที่มีอยู่ ก็ใช้กำลังการผลิตรวมแค่ 50% ซึ่งหากมีความต้องการมากขึ้นก็สามารถเพิ่มกำลังการผลิตได้อีก โดยในอดีตที่ผ่านมาบริษัทเคยใช้กำลังการผลิตสูงสุดถึง 70-80%

 เป้าหมายในปี 2559

เราวางเป้าหมายการเติบโตในแต่ละปีประมาณ 10% โดยมีปัจจัยมาจากการได้ลูกค้าใหม่ อาทิ วอลโว่ ทรัค รวมไปถึงกลุ่มรถเพื่อการเกษตร ที่ได้คำสั่งซื้อในการผลิตหัวเคบินให้กับยันมาร์ ที่จะส่งออกไปยังตลาดประเทศฝรั่งเศส ซึ่งคาดว่าจะมีการเติบโตเรื่อยๆ ในส่วนของการรับจ้างประกอบ หรือรถพื้นเรียบก็กำลังขยายไปยังค่ายญี่ปุ่นอีก 2-3 ยี่ห้อ โดยจะเป็นการรับจ้างผลิตแบบโออีเอ็ม นอกจากนั้นแล้วยังมีการเปิดตัวรถไทยรุ่ง ทรานฟอร์เมอร์รุ่นใหม่ ที่มีการพัฒนาและออกแบบใหม่ ภายใต้พื้นฐานของรถกระบะโตโยต้า รีโว่

ขณะที่ผลการดำเนินงานของไทยรุ่งฯในปีที่ผ่านมาชะลอตัวตามตลาดรวม โดยมีรายได้ประมาณ 2.2 พันล้านบาท ลดลง 5-6% เมื่อแบ่งสัดส่วนรายได้จะพบว่า รายได้หลักมาจาก แม่พิมพ์- ชิ้นส่วน 60%,งานรับจ้างประกอบ-รถกระบะพื้นเรียบ 30%, การขายรถไทยรุ่ง 5% และอื่นๆ 5 %

 มองอุตสาหกรรมยานยนต์ในไทย

อุตสาหกรรมยานยนต์ในไทยยังเข้มแข็ง ส่วนตัวเลขการขาย 8 แสนคัน หรือต่ำกว่า ก็ไม่ได้ถือว่าเลวร้ายหรือลดลงมาก โดยเรามองว่ามันเป็นวัฏจักร คาดว่าจะอยู่ในวัฏจักรนี้ไม่เกิน 5 ปี ซึ่งตอนนี้ตลาดชะลอตัวมาแล้ว 3 ปี ก็คาดว่าอีกไม่นานตลาดก็จะฟื้นกลับมา ประกอบกับตลาดเออีซีที่จะเปิด ก็ต้องมีการพึ่งพาหรือนำเข้าจากบ้านเรา ส่วนความพร้อมเรื่องรถไฟฟ้า เรามองว่าต้องใช้เวลาเนื่องจากการใช้งานมีข้อจำกัด ประกอบกับสถานการณ์ราคาน้ำมันในตอนนี้ลดลง ก็ทำให้ประชาชนยังคงใช้รถยนต์เครื่องยนต์ปกติอยู่ ส่วนต่างประเทศที่รถไฟฟ้าได้รับความนิยมสูง เป็นเพราะได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐของประเทศนั้นๆ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,140 วันที่ 17 - 19 มีนาคม พ.ศ. 2559