นวัตกรรมยานยนต์สุดล้ำ Continental Tech Show 2017

10 ก.ค. 2560 | 09:31 น.
ช่วงปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ผมมีโอกาสไปร่วมงาน Continental Tech Show 2017 ที่เมืองฮันโนเวอร์ ประเทศเยอรมนี ตามคำเชิญของ บริษัท คอนติเนนทอล ออโตโมทีฟ (ประเทศไทย) จำกัด

สำหรับงานดังกล่าวจัดเป็นประจำทุก 2 ปี ซึ่งสอดคล้องกับมหกรรมแสดงรถ “แฟรงก์เฟิร์ต มอเตอร์โชว์” (มีปีเว้นปีสลับกับปารีส มอเตอร์โชว์) ที่คอนติเนนทอลเตรียมนำนวัตกรรมใหม่ๆ เทคโนโลยีเด่นๆ ไปแสดงศักยภาพช่วงเดือนกันยายนนี้

โดย Continental Tech Show 2017 ยังใช้พื้นที่ Contidrom หรือสนามทดสอบของตัวเองนำเสนอความโดดเด่นในรูปแบบต่างๆ ปีนี้แบ่งเป็น 3 โดมหลัก คือ Electrification, Connectivity และ Automated Driving รวม 30 นวัตกรรม และ12 รถยนต์ตัวอย่าง

mp37-3277-4 เริ่มจาก Electrivification ซึ่งเป็นโดมที่เกี่ยวกับชิ้นส่วน อะไหล่ของรถยนต์ ไฮไลต์หลักของโดมนี้คือ เครื่องยนต์ New Renault Scenic - 48 Volt Mild Hybrid ที่พัฒนาขึ้นมาจากเครื่องยนต์ตัวเก่าที่จ่ายไฟได้เพียง 12 Volt
โดยเครื่องยนต์ตัวใหม่สามารถชาร์จพลังงานเข้าสู่แบตเตอรี่ได้มากขึ้น นั่นเท่ากับว่าจะทำให้รถวิ่งได้นานขึ้น เมื่อนำไปใช้คู่กันกับ Dual Battery Manager ในระบบรถไฮบริดหรือรถยนต์ไฟฟ้า จะทำให้เป็นระบบ Mild Hybrid ที่สมบูรณ์แบบที่สุด และช่วยลดการใช้เชื้อเพลิงได้ถึง 21% สำหรับการจราจรในเมือง

ถัดมาเป็นโดม Connectivity ถือเป็นไฮไลต์ที่คอนติเนนทอลต้องการจะสื่อสาร ด้วยเป้าหมายเปลี่ยนจากการเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์รถยนต์มาเป็นผู้ให้บริการทางด้านซอฟท์แวร์ที่จะช่วยอำนวยความสะดวกระหว่างขับขี่ยานพาหนะ
สิ่งที่น่าสนใจในโดมนี้เห็นจะหนีไม่พ้น Next Generation Car Audio รถยนต์ที่ปราศจากลำโพง โดยการใช้รถยนต์เกือบทั้งคันเป็นตัวช่วยในการสะท้อนเสียงไม่ว่าจะเป็นหลังคาหรือเบาะที่สามารถขับพลังเสียงได้ดีกว่าลำโพงแบบเดิมๆ แถมน้ำหนักเบา และให้เสียงชัดเจนกว่า

[caption id="attachment_176430" align="aligncenter" width="503"] ดร.เอลมาร์ เดเกนฮาร์ท ดร.เอลมาร์ เดเกนฮาร์ท[/caption]

อีกจุดเด่นของงาน Continental Tech Show 2017 อยู่ที่ Automated Driving โดมที่เกี่ยวกับระบบการขับรถอัตโนมัติ ที่ถือได้ว่าเป็นรถยนต์ในโลกอนาคต เพราะโดมนี้ได้รวมความเป็นไปด้านการพัฒนาระบบ AI (Artificial Intelligence) หรือปัญญาประดิษฐ์ที่จะช่วยให้รถยนต์ฉลาดขึ้น เพื่อที่จะปล่อยให้รถยนต์สามารถขับเคลื่อนไปได้ด้วยตัวเอง พร้อมระบบ Cruising Chauffeur ที่จะเข้ามาช่วยขับรถยนต์บนถนน Highway ผ่านระบบกล้องที่ตรวจจับสัญญาณป้ายจราจรต่างๆ รวมไปถึงการวิ่งของรถยนต์คันอื่นๆ ทำให้ผู้ขับขี่ไม่จำเป็นต้องควบคุมการขับรถด้วยตัวเอง ตลอดจนการจอดเข้าข้างทางเองเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินและผู้ขับขี่ไม่สามารถควบคุมรถยนต์ได้ ปัจจุบันระบบนี้ รถยนต์สามารถวิ่งด้วยความเร็วสูงสุดได้ถึง 80-90 กม./ชม. แต่ในอนาคตจะพัฒนาให้รถยนต์สามารถวิ่งได้ถึง 120 กม./ชม.

นอกจากระบบกล้องแล้ว คอนติเนนทอลยังพัฒนาระบบ 3D Flash LiDAR – unique sensor technology for HAD ระบบเซ็นเซอร์ฟิวชั่นที่เป็นอีกหนึ่งในกุญแจสำคัญของการขับขี่แบบ Automated เพื่อที่จะช่วยระบบกล้องในการตรวจสอบสภาพแวดล้อมโดยรอบของตัวรถยนต์ นั่นทำให้เราเห็นรถยนต์ต้นแบบ อย่าง CUbE – Continental Urban Mobility Experience ที่นำนวัตกรรมทั้งหมดของคอนติเนนทอล มาบรรจุไว้ในรถยนต์คันนี้

คอนติเนนทอล พยายามพัฒนาระบบดังกล่าวให้เป็น Robo-Taxi หรือรถแท็กซี่ไร้คนขับ ซึ่งระบบนี้จะอาศัยการทำงานร่วมกันของทั้งระบบกล้องที่ติดอยู่รอบคันรถและระบบเซ็นเซอร์ในการช่วยให้รถยนต์สามารถขับขี่ไปได้ด้วยตัวเอง รูปทรงของตัวรถเป็นขนาดทรงสี่เหลี่ยม มีการตกแต่งคล้ายรถไฟของต่างประเทศ เน้นที่ความเรียบง่าย และประโยชน์ใช้สอยเป็นสำคัญ สามารถรองรับน้ำหนักได้สูงสุดถึง 1,000 กิโลกรัม หรือ ราว 12 คน (แต่นั่งได้จริง 6 คน)

mp37-3277-2 สำหรับ CUbE วิ่งได้ที่ความเร็ว 50-60 กม./ชม. เท่านั้น แต่คอนติเนนทอล จะพัฒนาให้ทำความเร็วได้ถึง 100 กม./ชม. เพื่อที่จะได้ไม่ไปขวางช่องทางการจราจร คาดว่าจะพัฒนาให้แล้วเสร็จภายในปี 2025

ขณะเดียวกันสิ่งที่จะขาดไม่ได้สำหรับคอนติเนนทอล คือการเปิดตัวยาง Continental Premium Contact 6 ที่พัฒนาขึ้นต่อจากรุ่นก่อน รองรับรถยนต์ซีดานขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ เน้นการยึดเกาะพื้นผิวถนนที่ดีเยี่ยม และความเงียบ เตรียมทำตลาดในไทยในช่วงปลายปีนี้

สุดท้าย ผมมีโอกาสได้สัมภาษณ์ ดร.เอลมาร์ เดเกนฮาร์ท ประธานกรรมการบริหารคอนติเนนทอล โดยถามว่า ในอนาคตมีแนวคิดที่จะผลิตรถภายใต้แบรนด์ของตัวเองหรือไม่ คำตอบที่ได้คือ “อาจจะเป็นไปได้ แต่คงยังไม่ใช่เร็วๆนี้ เพราะมีอีกหลายสิ่งที่ต้องทำ และศึกษาอยู่อีกเยอะ"

แม้ “ดร.เดเกนฮาร์ท”จะตอบแบบแบ่งรับแบ่งสู้ถึงการผลิตรถยนต์แบรนด์คอนติเนนทอล แต่ในความเป็นจริงน่าจะเกิดขึ้นได้ยาก เพราะคงเป็นการแข่งขันกับลูกค้าของตนเอง เรียกว่ามุ่งมั่นพัฒนาเทคโนโลยียานยนต์ก้าวหน้าแล้วอยู่ในสถานะซับพลายเออร์คอยสนับสนุนบริษัทผู้ผลิตรถยนต์น่าจะเป็นงานที่ถนัดกว่า!
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,277 วันที่ 9 - 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2560