ฮอนด้าชักธงรบไฮบริด เปิดสนามทดสอบ 1.7 พันล.ค่ายรถโอดยื่น BOI ไม่ทัน

11 ก.ค. 2560 | 05:05 น.
“ฮอนด้า” พร้อมเปิดสนามทดสอบยานยนต์ ที่ปราจีนบุรี เล็งยื่นแผนขอส่งเสริมการลงทุนรถยนต์ไฮบริดต่อบีโอไอ ทันภายในสิ้นปีนี้คาด “แจ๊ซ ซิตี้” ทำแน่ ส่วนค่ายรถยนต์อื่นๆหวั่นเดดไลน์ 31 ธันวาคมนี้ กระชั้นเกินไป

หลังความชัดเจนตามกฎกระทรวงการคลังประกาศแผนสนับสนุนรถยนต์นั่งไฮบริด และรถพลังงานไฟฟ้า(อีวี) โดยกลุ่มแรกลดภาษีสรรพสามิตลงครึ่งหนึ่งในทุกอัตราการปล่อยไอเสีย หรือไม่เกิน 100 กรัมต่อกิโลเมตร จาก 10% เหลือ 5% (ดูตารางประกอบ) ขณะที่อีวีปรับให้เหลือ 2% จากเดิม 10%(ประกาศราชกิจจานุเบกษา 20 มิถุนยายน 2560) ทั้งนี้ ค่ายรถที่สนใจในกลุ่มไฮบริดต้องยื่นแผนต่อคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ภายในวันที่ 31 ธันวาคมนี้ ส่วนอีวีขยับเวลาให้นานกว่า หรือไม่เกิน 31 ธันวาคม 2561

ส่วนกลุ่มที่เป็นปิกอัพดับเบิลแค็บและพีพีวีไฮบริดที่ภาษีลดลง2% ไม่ต้องยื่นแผนต่อบีโอไอ เพียงทำรถให้อยู่ในเงื่อนไขและแจ้งความประสงค์ขอรับการลดอัตราภาษีก่อน31 ธันวาคม 2563 ต่อกรมสมรรพสามิตเท่านั้น

ด้านรายใหญ่ “โตโยต้า” นั้นแสดงความชัดเจนก่อนใครเพราะถือเป็นนโยบายหลักของบริษัทเกี่ยวกับรถไฮบริด เพียงแต่ยังไม่ประกาศอย่างถึงแผนลงทุนอย่างเป็นทางการ ทว่าในวันที่ 20 กรกฎาคมนี้ โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย เตรียมตั้งโต๊ะแถลงข่าวสรุปยอดขายครึ่งปีแรกและแนวโน้มครึ่งปีหลังโดยประธานคนใหม่ “มิจิโนบุ ซึงาตะ” ซึ่งมีโอกาสที่ได้จะข่าวความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับแผนการลงทุนใหม่เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ในวันเดียวกัน(20 ก.ค.) บริษัท ฮอนด้า อาร์แอนด์ดี เอเชีย แปซิฟิค จำกัด (Honda R&D Asia Pacific Co., Ltd. – HRAP) สำนักงานในประเทศไทย เตรียมเปิดสนามทดสอบที่สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จังหวัดปราจีนบุรี ซึ่งมีมูลค่าการลงทุนรวมกว่า 1,700 ล้านบาท ครอบคลุมเนื้อที่ 500 ไร่ หวังเพิ่มศักยภาพในการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ฮอนด้า ที่สามารถดำเนินการได้ครอบคลุมทุกกระบวนการ ตั้งแต่ขั้นตอนแรกไปจนถึงขั้นตอนสุดท้าย รองรับการขยายตัวของธุรกิจฮอนด้าทั้งในประเทศและระดับภูมิภาค

ขณะที่รถยนต์ในกลุ่มไฮบริด ฮอนด้ามีความสนใจใช้ไทยเป็นฐานการผลิตและเพิ่มโมเดลในการทำตลาดมากขึ้น โดยคาดว่าจะเป็นซับคอมแพกต์รุ่น “แจ๊ซ” และ “ซิตี้ เพิ่มเติมจาก “แอคคอร์ด ไฮบริด” ที่ขายอยู่ในปัจจุบัน จากนั้นถึงจะก้าวไปเป็นเทคโนโลยีปลั๊ก-อินไฮบริดในลำดับถัดไป

สำหรับ “แจ๊ซ ไฮบริด” มีผลิตและทำตลาดแล้วในประเทศมาเลเซีย โดยเปิดตัวกับโฉมไมเนอร์เชนจ์เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ใช้เครื่องยนต์เบนซิน 1.5 ลิตร ผสานการทำงานกับมอเตอร์ไฟฟ้า ส่งกำลังด้วยเกียร์ดูอัลคลัทช์ 7 สปีด พร้อมแบตเตอรีแบบลิเธียมไอออน ราคาขายประมาณ 8.5 หมื่นริงกิต หรือราว 6.72 แสนบาท

“ความสนใจเกี่ยวกับรถไฮบริด หรือรถไฟฟ้านั้น ฮอนด้าจะยื่นเรื่องให้ทันตามที่รัฐบาลกำหนดออกมาภายในสิ้นปีนี้ ส่วนจะเป็นรถรุ่นไหน อย่างไร ต้องศึกษา ซึ่งทุกอย่างมีความเป็นไปได้หมด”

[caption id="attachment_176434" align="aligncenter" width="412"] ฮอนด้าชักธงรบไฮบริด เปิดสนามทดสอบ 1.7 พันล.ค่ายรถโอดยื่นBOIไม่ทัน ฮอนด้าชักธงรบไฮบริด เปิดสนามทดสอบ 1.7 พันล.ค่ายรถโอดยื่นBOIไม่ทัน[/caption]

นาย ณัฏฐ์ ปฏิภานธาดา ผู้จัดการทั่วไปส่วนการตลาด และการวางแผนกลยุทธ์ บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย)จำกัด กล่าวยืนยัน

แม้ฮอนด้าจะประกาศว่าพร้อมยื่นแผนการลงทุนต่อ “บีโอไอ” ทันภายในสิ้นปีนี้ เช่นเดียวกับโตโยต้า แต่ค่ายรถยนต์อื่นๆที่มีความสนใจทำตลาดรถยนต์ไฮบริด กลับมองว่ารัฐบาลให้เวลาในการตัดสินใจน้อยเกินไป หรือหลังจากประกาศของกระทรวงการคลังเพียง 6 เดือนเท่านั้น

นายธีร์ เพิ่มพงศ์พันธ์ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายการตลาด บริษัท มาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า เส้นตายของบีโอไอเร่งรัดเกินไป เพราะกระทรวงการคลังเพิ่งออกประกาศเดือนมิถุนายนแต่สิ้นเดือนธันวาคมต้องยื่นแพ็กเกจการลงทุนแล้ว อย่างโครงการอีโคคาร์เมื่อรับทราบเงื่อนไขและสิทธิประโยชน์ชัดเจน มาสด้ายังต้องใช้เวลาศึกษาและรวบรวมข้อมูลอีก 2 ปี

“บริษัทผู้ผลิตรถยนต์มีพันธมิตรที่เป็นผู้ผลิตชิ้นส่วน ดังนั้นการจะทำรถยนต์โมเดลใหม่ต้องใช้เวลาศึกษาร่วมกัน ยิ่งเป็นรถแบบไฮบริดและรัฐบาลหวังให้มีการใช้ชิ้นส่วนสำคัญที่ผลิตในประเทศ เช่น แบตเตอรี มอเตอร์ไฟฟ้า ชุดควบคุม เป็นต้น ถือเป็นเรื่องยากหากจะให้เกิดอย่างเป็นรูปธรรม”

นายพงษ์ศักดิ์ เลิศฤดีวัฒนวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า กรณีของการปรับลดภาษีสรรพสามิต บริษัทมีความสนใจทั้งไฮบริด และรถไฟฟ้า ซึ่งตอนนี้กำลังศึกษาอย่างละเอียดทั้ง 2 ทางเลือก เพราะต้องมีการลงทุนสูง ดังนั้นต้องคำนวณความคุ้มทุนต่างๆ

“โครงสร้างภาษีทีรัฐบาลเปิดมาถือว่าน่าสนใจ แต่ต้องมีการลงทุนสูงเพราะเป็นเรื่องของเทคโนโลยี โดยอีวี เป็นเทรนด์ที่โลกกำลังจะวิ่งไป แต่ระหว่างทางก็อาจจะเป็นไฮบริดเข้ามาก่อน ซึ่งตรงนี้ต้องศึกษา อีกเยอะ”

ขณะที่แหล่งข่าวผู้บริหารบริษัทรถยนต์รายใหญ่ กล่าวว่า ปกติการวางแผนผลิตภัณฑ์จะมองไปข้างหน้าอย่างน้อย 3-5 ปี อย่างแพกเกจสนับสนุนรถยนต์ไฮบริดและอีวีของรัฐบาลถือเป็นเรื่องดี แต่หลังจากประกาศเงื่อนไขที่ชัดเจนแล้ว มีเวลาให้บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ตัดสินใจน้อยเกินไป

“ระยะเวลาในการยื่นเงื่อนไขไปที่ภาครัฐภายในสิ้นปีนี้ เรามองว่าไม่น่าจะพอสำหรับการพิจารณาของแต่ละค่าย เพราะตามปกติการศึกษาจะต้องใช้เวลาประมาณ 1 ปี หลังจากนั้นถึงจะเข้าสู่กระบวนการต่อไป ซึ่งจะใช้เวลามากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับการวางแผนของแต่ละบริษัท” แหล่งข่าวกล่าว
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,277 วันที่ 9 - 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2560