‘โฟตอน’บุกหนักตลาดกระบะไทย ผนึกโรงงานบางชันฯขยายการผลิต

23 ต.ค. 2559 | 11:00 น.
โฟตอนมอเตอร์ กรุ๊ป เดินหน้าเซ็นเอ็มโอยู โรงงานบางชันฯผลิตรถกระบะพวงมาลัยขวา เริ่มพ.ย.นี้ ทั้งเตรียมส่งออกอาเซียนและภูมิภาคอื่นในอนาคต

นาย ชาง รุย รองประธาน บริษัท โฟตอน มอเตอร์กรุ๊ป จำกัด ผู้ผลิตรถยนต์โฟตอนจากประเทศจีน เปิดเผยถึงความเคลื่อนไหวล่าสุดที่ บริษัทได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยโครงการผลิตอัจฉริยะ Intelligent Manufacturing Project กับนายณรงค์รัตน์ ธุระสาร รองประธาน บริษัท บางชันเยนเนอเรลเอเซมบลี จำกัด โดยการลงนามนี้เป็นการเดินหน้าขยายการผลิตครั้งใหญ่ของโฟตอนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่งอยู่ภายใต้โครงการ“Belt and Road”

ด้านนาย เกิ่ง เชา ประธาน บริษัท โฟตอน ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า หลังจากมีการลงนามฯเป็นที่เรียบร้อย ภายในเดือนพฤศจิกายน 2559 นี้ บริษัท โฟตอน ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด จะเริ่มผลิตรถกระบะสำหรับลูกค้าคนไทย และอนาคตจะผลิตเพื่อการส่งออกไปยังตลาดอาเซียนและตลาดในภูมิภาคอื่นๆ ซึ่งจะทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตรถกระบะพวงมาลัยขวาของโฟตอน

สำหรับ บริษัท โฟตอน ออโตโมบิล (ประเทศไทย ) จำกัด มีการลงทุนเบื้องต้นประมาณ 50 ล้านบาท เพื่อพัฒนาไลน์การประกอบรถบรรทุก ขนาดเล็ก 4 ล้อ, 6 ล้อ ,รถตู้ ขนาดกว้างและหลังคาสูงสำหรับ 16 ที่นั่ง และรถกระบะ โดยใช้โรงงานของ บริษัท บางชันเยนเนอเรล เอสเซมบลี จำกัด (BGAC) ที่มีจำนวน 3 โรงงานบนพื้นที่กว่า 2,000 ตารางเมตร และตั้งเป้าหมายการผลิตในเฟสแรก 1 หมื่นคันต่อปี

ต่อเรื่องนี้นาย ชาง รุย ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า จากยุทธศาสตร์ “Belt and Road” ทำให้โฟตอนมีแผนที่จะสนับสนุนความสัมพันธ์ระหว่างจีนและอาเซียน ตั้งแต่ระบบการผลิตและการพัฒนาสินค้าที่ชาญฉลาด รวมไปถึงการขยายกำลังการผลิตในภูมิภาค การริเริ่มห่วงโซ่อุตสาหกรรมที่ไร้พรมแดน และ เป็นหนึ่งในผู้ผลิตที่ช่วยให้เกิด “Maritime Silk Road” หรือเส้นทางสายไหมด้านเศรษฐกิจทางทะเล ทั้งจีนและอาเซียนในอนาคต

สำหรับโครงการ “Belt and Road” ริเริ่มโดยประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ถือเป็นนโยบายยุทธศาสตร์ที่สำคัญในการรวบรวมกลุ่มประเทศที่มีความต้องการและความรับผิดชอบที่เหมือนกัน โดยจีนจะร่วมมือกับประเทศต่างๆ ในภูมิภาคอาเซียนในการเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ดี และขยายความร่วมมือไปยังด้านอื่นๆ เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์กับทั้ง 2 ฝ่าย

“ภูมิภาคอาเซียนถือเป็นตลาดที่เติบโตเร็วที่สุดสำหรับโฟตอน ซึ่งบริษัทได้สร้างเครือข่ายการตลาดในหลายประเทศในอาเซียน และสร้างโรงงานประกอบในบางประเทศด้วยเช่นกัน ซึ่งถือว่าเป็นการช่วยพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นเป็นอย่างมาก”

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,203 วันที่ 23 - 26 ตุลาคม พ.ศ. 2559