บ้านปูอัด3.5หมื่นล้านเสริมทัพ เบนเข็มลุยธุรกิจไฟฟ้าเพิ่ม/ตั้งเป้า8ปีกำลังการผลิต4.3พันMW

24 ส.ค. 2559 | 07:00 น.
“บ้านปู” อัดงบลงทุนธุรกิจไฟฟ้า 3.5 หมื่นล้านบาท ตั้งเป้าเพิ่มเป็น 4.3 พันเมกะวัตต์ ในปี 2568 พร้อมลุยพลังงานทดแทนทั้งในและต่างประเทศ 860 เมกะวัตต์ ล่าสุดเจรจาโครงการโซลาร์ฟาร์มในจีนและญี่ปุ่นอีก 500-600 เมกะวัตต์ ขณะที่ “บ้านปู เพาเวอร์” เตรียมเข้าจดทะเบียนใน ตลท.ภายในปลายปีนี้

นางสมฤดี ชัยมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ"ฐานเศรษฐกิจ"ถึงทิศทางการดำเนินงานว่า ขณะนี้บ้านปูได้ปรับแผนการดำเนินธุรกิจของบริษัทใหม่ โดยจะเน้นการขยายลงทุนในธุรกิจไฟฟ้าเพิ่มขึ้น จากปัจจุบันรายได้เกือบทั้งหมดยังคงมาจากธุรกิจถ่านหิน ดังนั้นบริษัทต้องการกระจายความเสี่ยงโดยหันไปขยายการลงทุนในธุรกิจไฟฟ้า ตั้งเป้ากำไรก่อนหักภาษี ค่าเสื่อม(อีบิทดา) จากธุรกิจถ่านลดลงเหลือ 40-50% จากปัจจุบันอยู่ที่ 60% ,ธุรกิจไฟฟ้าเป็น 40% และอื่นๆอีก 10% ภายในปี 2568

โดยบริษัทตั้งเป้ากำลังการผลิตในธุรกิจไฟฟ้าในระยะยาวไว้ที่ 4,300 เมกะวัตต์ภายในปี 2568 จากปัจจุบันมีกำลังการผลิตรวมแล้ว 1,860 เมกะวัตต์ ใช้เงินลงทุนทั้งสิ้น 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 3.5 หมื่นล้านบาท โดยแบ่งเป็น 2 ช่วงคือ ปี 2559-2563 จะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าจาก 1,860 เมกะวัตต์ เพิ่มเป็น 2,400 เมกะวัตต์ จะใช้เงินลงทุน 110 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และระยะที่ 2 ปี 2564-2568 จากกำลังการผลิต 2,400 เกะวัตต์ เป็น 4,300 เมกะวัตต์ ใช้เงินลงทุน 800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ทั้งนี้ แผนขยายธุรกิจไฟฟ้ายังรวมไปถึงการขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนด้วย โดยบริษัทยังคงเน้นโรงไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์(โซลาร์ฟาร์ม) เป็นหลัก โดยเฉพาะในต่างประเทศ ล่าสุดอยู่ระหว่างเจรจาลงทุนโครงการโซลาร์ฟาร์มในจีนและญี่ปุ่น รวมทั้งศึกษาลงทุนโครงการโซลาร์ฟาร์ม โรงไฟฟ้าชีวมวล ในไทยด้วย โดยตั้งเป้าจะมีกำลังการผลิตจากพลังงานทดแทนรวมทั้งสิ้น 860 เมกะวัตต์ภายในปี 2568 จากปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 200 เมกะวัตต์

ปัจจุบันบริษัทมีแผนขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าจากโครงการโซลาร์ฟาร์มในจีนเพิ่มขึ้นจาก100 เมกะวัตต์ เป็น 400-500 เมกะวัตต์ ,โครงการโซลาร์ฟาร์มในญี่ปุ่น จาก 100 เมกะวัตต์ เป็น 200 เมกะวัตต์ และที่เหลือเป็นโครงการพลังงานทดแทนในไทย อาทิ โซลาร์ฟาร์ม โรงไฟฟ้าชีวมวล และโรงไฟฟ้าพลังงานลม เป็น 160 เมกะวัตต์ในอีก 8 ปีข้างหน้า จากปัจจุบันมีเพียงโครงการติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้าน(โซลาร์รูฟท็อป) 4 เมกะวัตต์เท่านั้น

นางสมฤดี กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ บริษัทจะโอนธุรกิจไฟฟ้า ไปอยู่ในบริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) ทั้งหมด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบ้านปู ที่ได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยมีแผนจะขายหุ้นต่อประชาชนเป็นครั้งแรก (ไอพีโอ) และจะสามารถเข้าจะทดเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ภายในไตรมาส 4 ปีนี้ ทั้งนี้จะนำเงินที่ได้ไปชำระคืนหนี้ให้กับบ้านปู จำนวน 1.1 หมื่นล้านบาท ส่วนที่เหลือจะเป็นเงินลงทุนต่อไป โดยบ้านปูจะลดสัดส่วนการถือหุ้นในบ้านปู เพาเวอร์ เหลือประมาณ 78% อย่างไรก็ตามการขยายกำลังการผลิตในอนาคตเชื่อว่าไม่จำเป็นต้องเพิ่มทุนใหม่

ทั้งนี้ การนำบริษัทบ้านปูเพาเวอร์เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ คาดว่าจะดำเนินการได้ภายในไตรมาส 4 ปีนี้โดยบ้านปู เพาเวอร์ จะสามารถทำกำไรได้ดีกว่าปีที่แล้วที่มีกำไรประมาณ 2,000-3,000 ล้านบาท เนื่องจากสามารถรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากโครงการโรงไฟฟ้าหงสา ในสปป.ลาวได้เต็มทั้ง 3 ยูนิต และมีกำลังผลิตไฟฟ้าใหม่เข้ามาทั้งจีนและญี่ปุ่น ขณะที่โรงไฟฟ้าซานซีลู่กวงในจีน 1,320 เมกะวัตต์ อยู่ระหว่างการก่อสร้างคืบหน้าแล้ว 24% จะเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ในปลายปี 2560

สำหรับธุรกิจถ่านหิน คาดว่าราคาขายเฉลี่ยถ่านหินในปีนี้จะใกล้เคียงกับปีก่อนที่อยู่ 55 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน โดยมองภาพรวมราคาถ่านหินของตลาดโลกดีขึ้น ขณะที่บริษัทยังมีถ่านหินเหลืออยู่ประมาณ 1 ใน 4 ที่ยังไม่ได้ขายล่วงหน้าก็จะได้ประโยชน์จากราคาถ่านหินที่มีแนวโน้มดีขึ้นด้วย โดยปีนี้ตั้งเป้าปริมาณขายถ่านหินที่ระดับ 45.4 ล้านตัน ซึ่งลดลงจากเดิม เพราะต้องการปรับเป้าการผลิตให้มีความเหมาะสมกับสถานการณ์ อย่างไรก็ตามบริษัทจะรับซื้อถ่านหินจากบุคคลที่ 3 เพื่อจำหน่ายด้วย

ส่วนภาพรวมของบริษัทในปีนี้คาดว่าจะสามารถพลิกมีกำไรได้อย่างแน่นอน จากขาดทุนสุทธิ 1,530 ล้านบาทในปีก่อน จากการรับรู้ส่วนแบ่งกำไรของธุรกิจไฟฟ้าที่เพิ่มเข้ามาแล้ว ในส่วนของธุรกิจถ่านหินยังมีภาพเป็นบวกมากขึ้น จากความต้องการที่ยังดีต่อเนื่อง โดยเฉพาะในอินเดียที่มีการนำเข้าถ่านหินมากขึ้น เนื่องจากการผลิตถ่านหินในอินเดียยังมีคุณภาพต่ำ ทำให้ต้องการถ่านหินคุณภาพดีเข้ามาเสริม ทำให้คาดว่าราคาถ่านหินในช่วงครึ่งหลังของปีนี้จะปรับตัวดีขึ้น

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,185 วันที่ 21 - 24 สิงหาคม พ.ศ. 2559