‘เหล็กสยามยามาโตะ’ วาง 2 ยุทธศาสตร์รับมือแข่งขัน

25 ส.ค. 2559 | 07:00 น.
อุตสาหกรรมเหล็กถือเป็น 1ในอุตสาหกรรมพื้นฐานที่ภาครัฐให้ความสำคัญตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศกว่า 20 ปีที่ผ่านมาจะเห็นการเติบโตของอุตสาหกรรมเหล็กอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ความต้องการใช้ก็เติบโตตาม โดยเฉพาะตลาดอาเซียน ที่มีการขยายตัวอย่างมีนัยสำคัญ ทำให้ตลาดโซนนี้ถูกโฟกัสถึงมากที่สุด จนทำให้อุตสาหกรรมเหล็กมีการแข่งขันที่รุนแรงทั้งทางตรงและทางอ้อมจนหลายประเทศต้องมีเครื่องมือออกมาคุ้มกันไม่ให้กระทบถึงผู้ผลิตในประเทศตัวเองไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทย

ล่าสุด “ฐานเศรษฐกิจ”สัมภาษณ์พิเศษ ไพฑูรย์ จิรานันตรัตน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เหล็กสยามยามาโตะ จำกัด (SYS) ผู้ผลิตและจำหน่ายเหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดร้อน ถึงสถานะและการปรับตัวของบริษัทในสถานการณ์ที่ตลาดเหล็กมีการแข่งขันที่เข้มข้นขึ้นทุกวัน

กรรมการผู้จัดการSYS กล่าวว่า ปัจจุบันSYS มีขีดความสามารถในการผลิตเหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดร้อน เช่น เหล็กเอชบีม(H-Beam),เหล็กรางน้ำ(Channe),เหล็กฉาก(Angle),เหล็กคัตบีม(Cut Beam)และเข็มพืดเหล็กกล้ารีดร้อน(Sheet Pile) รวมจำนวน 1.1 ล้านตันต่อปีสำหรับใช้ในงานก่อสร้าง แต่ปัจจุบัน ผลิตได้จริงอยู่ที่สัดส่วน 60-70% ของกำลังผลิตเต็ม เพื่อส่งออกราว 50-60% ของกำลังผลิตทั้งหมด โดยส่งออกไปยังตลาดอาเซียนเป็นหลัก เนื่องจากต้องแข่งขันกับเหล็กนำเข้าจำนวนมาก โดยปี 2559 สถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทยระบุว่าในประเทศไทยมีความต้องการใช้เหล็กรวมจำนวน 17.5 ล้านตัน โดยในจำนวนดังกล่าวเป็นการนำเข้าสูงถึง 10.5 ล้านตัน เท่ากับว่ามีการใช้เหล็กจากผู้ผลิตในประเทศรวมกันเพียง 7 ล้านตันเท่านั้น ทำให้บริษัทต้องมองตลาดส่งออกมากขึ้นนับตั้งแต่ที่ประเทศไทยเผชิญวิกฤติต้มยำกุ้งปี 2540 ที่บาทอ่อนค่า และเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ตลาดอาเซียนรู้จัก SYS ดีขึ้น เขากล่าวและว่า

จากปัญหาการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้นทุกปีทำให้ SYS ต้องวางยุทธศาสตร์การรับมือ 2 เรื่องหลัก คือ 1.วางแผนการลงทุนให้มีความทันสมัยไฮเทคโนโลยีมากขึ้น ดังนั้นนับจากนี้ไปอีก 5 ปีจะต้องลงทุนในส่วนนี้เป็นมูลค่าเงินลงทุนนับพันล้านบาทขึ้นไป เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการผลิต และการแข่งขัน เช่น การลงทุนนำหุ่นยนต์มาใช้ในการผลิต วางระบบเครื่องจักรอัตโนมัติมากขึ้น เพื่อให้เกิดความแม่นยำสูงและเพื่อลดต้นทุนทั้งระบบในระยะยาว

SYSเปิดตัวโปรดักต์ใหม่

2.การทำตลาดบลูโอเชียน มีความร่วมมือกันมากขึ้น โดยมองว่า จะเป็นตลาดที่มีการแข่งขันไม่มาก และมีนวัตกรรมใหม่ๆเข้ามาและใกล้ชิดกับผู้บริโภคมากขึ้น ซึ่งในส่วนนี้บริษัทได้เริ่มแล้ว โดยล่าสุดบริษัทร่วมมือกับโกลบอลเฮ้าส์ศูนย์รวมสินค้าวัสดุก่อสร้าง ตกแต่งบ้านแบบครบวงจร พัฒนาโรงจอดรถสำเร็จรูปร่วมกัน ซึ่งกำลังอยู่ในช่วงทดลองตลาด โดยวัสดุหลักจะใช้เหล็กเอชบีม จากโรงงานSYS โดยสินค้าดังกล่าว มีข้อดีคือสะดวกรวดเร็วและแข็งแรง สามารถสร้างโรงจอดรถให้เสร็จได้ภายใน 1 วัน โดยรับประกอบและออกแบบให้เข้ากับพื้นที่นั้นๆ

เขาอธิบายว่าช่องทางการตลาดของโปรดักต์ใหม่นี้ มีเป้าหมายให้บริการทั่วประเทศ เพียงแต่ในระยะเริ่มต้นจะอาศัยเครือข่ายของโกลบอลเฮ้าส์โฟกัสไปที่ตลาดในพื้นที่ภาคอีสานนำร่องก่อน เนื่องจากมีพื้นที่กว้าง ไม่มีข้อจำกัดเรื่องพื้นที่เหมือนในเมืองที่แออัด มีพื้นที่คับแคบ ซึ่งขณะนี้เพิ่งเปิดตัวมาได้เพียง 1 เดือนผ่านยูทูบ ก็ได้เสียงขานรับจากตลาดแล้วราว 10 รายที่สนใจใช้บริการติดตั้งโรงจอดรถสำเร็จรูป โดยราคาขนาดที่จอดรถ เริ่มตั้งแต่ 1-2 คัน รวมค่าติดตั้งและวัสดุแล้วไม่ถึง 1 แสนบาท

“ ธุรกิจเหล็กมีการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น SYS จะอยู่นิ่งไม่ได้ต้องปรับตัวตั้งแต่การพัฒนาสินค้า หรือหาช่องทางใหม่ๆในการขายรวมถึงการหาตลาดส่งออกใหม่ๆเพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งล่าสุด SYS โฟกัสไปที่ตลาดอินเดีย ที่เวลานี้ยังมีข้อจำกัดในการขนส่งทางเรือที่เข้าจอดได้เฉพาะบางท่าเรือ ทำให้ยังส่งออกไปในปริมาณไม่มากนัก แต่ก็เป็นจุดเริ่มต้นไปสู่ตลาดใหม่ที่ดี และมีอนาคต เพราะอินเดียเป็นตลาดใหญ่ เช่นเดียวกับตลาดในทวีปแอฟริกาด้วย รวมไปถึงการศึกษาลู่ทางการลงทุนในต่างประเทศควบคู่ไปด้วย”

สำหรับการตั้งเป้ายอดขายในปี 2559 คาดว่าจะมีรายได้ใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมาคือประมาณ 10,000 ล้านบาท โดยปี2558-2559 SYS จะมีรายได้ที่มาจากต่างประเทศเป็นหลักโดยเฉพาะการรุกตลาดอาเซียน ขณะที่ตลาดภายในประเทศในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมามีการแข่งขันที่รุนแรงมาก เพราะนอกจากผู้ผลิตในประเทศ 4-5 รายแข่งขันกันเองแล้ว ยังต้องรับมือกับเหล็กนำเข้าอีกจำนวนมากจนไม่สามารถแข่งขันได้ เนื่องจากนำเข้ามาขายในราคาทุ่มตลาด

เห็นภาครัฐตั้งใจแก้ปัญหา

อย่างไรก็ตามปัญหาการทุ่มตลาดเหล็ก ในมุมของภาคเอกชนมองว่า เริ่มเห็นสัญญาณที่ดีขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมารัฐบาลเริ่มเห็นความสำคัญของอุตสาหกรรมเหล็กมากขึ้น โดยเฉพาะ ดร.อรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมที่มองเห็นว่าเวลานี้การนำเข้ากำลังเป็นปัญหาใหญ่ เพราะมีทั้งหลีกเลี่ยงภาษีและมีเหล็กที่ไม่ได้มาตรฐานเข้ามาตีตลาด กระทบต่อผู้บริโภคโดยตรง จึงต้องออกมารับมือโดยกำหนดมาตรฐานอุตสาหกรรมเหล็กเพิ่มขึ้น ซึ่งที่ผ่านมามองเห็นความตั้งใจในการแก้ปัญหาเหล่านี้ เช่นเดียวกับกระทรวงพาณิชย์ที่มีความคืบหน้าในเรื่องมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดหรือเอดี ที่ล่าสุดมีการออกกฎหมายที่ใช้ร่วมกับเอดีออกมาคือ กฎหมายต่อต้านการลักลอบหลีกเลี่ยงภาษีเอดี (Anti Circum Vention) ซึ่งในแง่ผู้ผลิตเหล็กในประเทศไทยมองว่าเพียงแค่รัฐบาลเป็นฝ่ายสนับสนุนดูแลให้เกิดการค้าขายอย่างเป็นธรรม ก็จะช่วยทำให้อุตสาหกรรมเหล็กไทยแข่งขันและเติบโตในตลาดอาเซียนได้

ยันทุนญี่ปุ่นไม่ถอดใจ

ส่วนกรณีที่ประเทศไทยมีปัญหาการเมืองอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งล่าสุดหลายพื้นที่มีเหตุระเบิดเกิดขึ้นนั้นในแง่การลงทุนในประเทศไทย กลุ่มทุนญี่ปุ่นที่ถือหุ้นในSYSไม่ว่าจะเป็น Yamato Kogyo Co.,Ltd. , Mitsui& Co.,Ltd., Sumitomo Corporation(Thailand) Co.,Ltd.,Mitsui&Co.(Thailand) Co.,Ltd. ที่ถือหุ้นใหญ่รวมกันราว90%( 10% ถือหุ้นโดยเอสซีจี)ไม่ถอดใจ และยังมีความเชื่อมั่นต่อประเทศไทย เพราะมองว่าการลงทุนเป็นเรื่องระยะยาว และSYSก็เข้ามาลงทุนในประเทศไทยนานกว่า 20 ปีแล้ว(ก่อตั้งปี2535) จนขณะนี้มีโรงงานถึง 2 แห่ง ตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด และนิคมอุตสาหกรรมเหมราช จังหวัดระยอง ใช้เครื่องจักรและเทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัยเพื่อผลิตเหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดร้อนที่มีคุณภาพได้มาตรฐานทั้งในและต่างประเทศ และพันธมิตรร่วมทุนไทยคือกลุ่มเอสซีจีก็เป็นองค์กรที่มีธรรมาภิบาล และอุตสาหกรรมเหล็กก็มีศักยภาพจึงมั่นใจว่าจะเป็นฐานการผลิตที่สำคัญต่อไป

หลักในการดำเนินธุรกิจ

กกรรมการผู้จัดการ SYS กล่าวทิ้งท้ายว่ากว่า 20 ปีที่ผ่านมาบริษัทเปน็ ผู้นำในการผลิตและจำหน่ายเหล็กโครงสร้างรูปพรรณในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยยึดถือที่ความต้องการของลูกค้าเป็นศูนย์กลาง มีแนวคิดที่มุ่งมั่นพัฒนาการผลิตและการบริการที่ตรงและตอบสนองลูกค้าได้ โดยใช้กลยุทธ์และการจัดการในเชิงรุกกับกระบวนการต่างๆ ตามหลักการบริหารงานที่เป็นสากลมาผสมผสานในการบริหาร โดยที่พนักงานทุกคนมีส่วนร่วม คำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,185 วันที่ 21 - 24 สิงหาคม พ.ศ. 2559