‘เจนเนอราลี่’ ฟุ้งครึ่งปีกวาดเบี้ยโต 42% เปิดเกมรุกตลาดประกันชีวิต/วินาศภัย

24 ส.ค. 2559 | 11:00 น.
“เจนเนอราลี่ ประกันชีวิต” ปลื้มผลงานครึ่งปีแรกขยายตัว 42% สูงกว่าระบบที่เติบโต 6% วางแผน 3 ปี เจาะกลุ่มรายย่อย/เล็งออกโปรดักต์ควบการลงทุน ด้าน “ประกันภัย” ลุยลูกค้าองค์กร/โครงสร้างพื้นฐานภาครัฐ หลังวงเงินรับประกันไม่เกิน 1,000 ล้านไม่ต้องขออนุมัติบริษัทแม่ มั่นใจช่วยดันสัดส่วนพอร์ตแตะ 50% จากปัจจุบันมีอยู่กว่า 30% ชี้ลดเสี่ยงกลุ่มปิโตรเคมี เพิ่มลูกค้าโกลบอลแอคเคาท์ โชว์เบี้ย 6 เดือนแรกโต 29%

[caption id="attachment_88896" align="aligncenter" width="700"] เบี้ยรับรวมประกันชีวิต-ประกันภัยนับตั้งแต่ปี 2557-ปัจจุบัน เบี้ยรับรวมประกันชีวิต-ประกันภัยนับตั้งแต่ปี 2557-ปัจจุบัน[/caption]

นายบัณฑิต เจียมอนุกูลกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจนเนอราลี่ ประกันชีวิต (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) (บมจ.) และในฐานะประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท เจนเนอราลี่ ประจำประเทศไทยฯ กล่าวว่า ช่วงครึ่งแรกของปีจะเห็นว่าตลาดเผชิญภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำ และปัญหาการลงมติโหวตออกจากกลุ่มสหภาพอียูของสหราชอาณาจักร (Brexit) ทำให้ตลาดค่อนข้างผันผวน ขณะที่ไทยเผชิญปัญหาทางการเมืองและภัยแล้ง ทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจไม่ดีและมีผลกระทบต่อรายได้ของผู้บริโภค แต่ปัจจุบันเริ่มมีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นจากผลประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญ คาดว่าในช่วงที่เหลือธุรกิจประกันจะปรับตัวดีขึ้น

สำหรับทิศทางธุรกิจช่วงที่เหลือและเป้าหมายในอีก 3 ปีข้างหน้านั้น บริษัทต้องการมุ่งเน้นธุรกิจรายย่อย (Retail Business) เป็นหลัก โดยต้องการให้ลูกค้ารายย่อยเลือกบริษัท ซึ่งเป็นธุรกิจประกันสำหรับรายย่อย และเป็น Trusted Insurer ในมุมมองผู้บริโภค แต่ยังคงจุดแข็งรักษาฐาน B2B หลังจากช่วง 2 ปีที่ผ่านมา บริษัทพยายามหาผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสม และเพิ่มช่องทางการขาย เพื่อให้เรื่องประกันเป็นเรื่องใกล้ตัว โดยหลังจากนี้จะให้ความสำคัญในเรื่องของ Digital Platform มากขึ้น และขยายความร่วมมือกับพันธมิตร จากปัจจุบันที่มีบมจ.ธนาคารเกียรตินาคิน ขณะเดียวกันบริษัทอยู่ระหว่างจัดทำแบบประกันชีวิตควบรวมการลงทุน (Unit Link) ตอนนี้เตรียมระบบภายในเพื่อรองรับการขายผ่านช่องทางแบงก์แอสชัวรันส์ ซึ่งสอดคล้องกับฐานลูกค้ากลุ่มระดับบนของบริษัทในแต่ละช่องทางด้วย

ขณะที่ผลการดำเนินงานในช่วงครึ่งปีแรก บริษัทมีเบี้ยประกันชีวิตรับปีแรกอยู่ที่ 671 ล้านบาท เติบโต 42% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สูงกว่าระบบที่ขยายตัวติดลบ 0.4% โดยมีเบี้ยรับรวมอยู่ที่ 2,677 ล้านบาท ขยายตัว 29% แบ่งเป็นช่องทางตัวแทน 34 ล้านบาท ช่องทางขายตรงผ่านเทเลเซล 620 ล้านบาท ช่องทางขายผ่านธนาคาร 926 ล้านบาท และประกันกลุ่ม 1,069 ล้านบาท ทั้งนี้ การเติบโตดังกล่าวถือว่าสูงกว่าระบบที่ขยายตัวเพียง 6% สะท้อนว่าบริษัทสามารถทำธุรกิจในไทยได้ค่อนข้างดีนับตั้งแต่เปิดตัว

“ภาพรวมทั้งระบบมีอัตราการเติบโตติดลบ 0.4% แต่บริษัทขยายตัวได้สูงถึง 42-43% ถือว่าประสบความสำเร็จค่อนข้างมาก ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากช่องทางการขายที่เติบโตดี และลูกค้ามีความเชื่อมั่นในแบรนด์ของเจนเนอราลี่ คาดว่าธุรกิจจะเดินได้ตามเป้าภายใต้สัญญาณเศรษฐกิจที่ดีขึ้น”

ด้านนายกรกฤต คำเรืองฤทธิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เจนเนอราลี่ ประกันภัย กล่าวกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การแข่งขันธุรกิจประกันวินาศภัยภายใต้แนวโน้มการแข่งขันสูง อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ และตลาดการเงินผันผวน แต่บริษัทเชื่อว่าธุรกิจประกันภัยยังมีโอกาสที่จะขยายการเติบโตอีกมาก โดยในช่วงที่เหลือของปีนี้ต่อเนื่องไปถึงปีหน้า บริษัทจะมุ่งเน้นการสร้างความเข้าใจและปรับกลยุทธ์ภายในให้สอดรับกับพันธมิตรทางธุรกิจ ตลอดจนการเข้าไปสนับสนุนในกลุ่มธุรกิจที่สามารถขยายตัวได้ดี และมีอัตราความเสียหาย (Loss Ratio) ไม่สูงมาก เช่น ประกันภัยรถยนต์ชั้น 3 หรือ +3 เป็นต้น

นอกจากนี้ พยายามจะเติบโตในช่องธุรกิจประกันภัยในกลุ่มลูกค้าองค์กร (Corporate Commercial) ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจที่มีความถนัด ประกอบกับบริษัทมีความสามารถในการรับประกันภัยในดีลค่อนข้างใหญ่เพิ่มขึ้นจากทุนประกันที่มีอยู่ และหากวงเงินรับประกันภัยไม่เกิน 1,000 ล้านบาท ไม่ต้องขออนุมัติจากบริษัทแม่จากเดิมที่ต้องขออนุมัติก่อนรับประกันภัย ส่วนดีลที่มีวงเงินประกันภัยเกิน 1,000 ล้านบาท ยังคงต้องอนุมัติจากบริษัทแม่ แต่บริษัทพยายามกระชับขั้นตอนให้มีความรวดเร็วยิ่งขึ้น เพื่อให้การทำธุรกิจมีความคล่องตัวและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ในแง่ของความเสี่ยง จะมีการบริหารจัดการความเสี่ยงของบริษัทร่วมกับบริษัทแม่ ซึ่งจะมีการจัดการความเสี่ยงโดยแบ่งพื้นที่หรือกลุ่มธุรกิจ (Risk Zone) เป็นสีเขียว-แดง เช่น สีแดง จะเป็นกลุ่มธุรกิจปิโตรเคมี เป็นต้น ทำให้ภาพรวมอาจจะต้องลดความเสี่ยงกลุ่มนี้ลง โดยบริษัทแม่จะมีข้อมูลจากการเก็บสถิติเพื่อบอกทิศทางดังกล่าว ดังนั้น ในปีนี้ตลาดที่บริษัทจะเน้นเป็นภาคธุรกิจโครงสร้างพื้นฐาน หรือโครงการเมกะโปรเจ็กต์ ซึ่งไทยจะเติบโตเรื่องนี้และจะเห็นตลาดนี้คึกคักมากขึ้น แม้ว่ามีเรื่องการแข่งขันที่ค่อนข้างสูงโดยเฉพาะเรื่องของราคา แต่บริษัทจะขยายการเติบโตผ่านความสัมพันธ์กับพันธมิตร

นอกจากนี้ กลุ่มที่จะทำเพิ่มขึ้นนับจากนี้ เป็นกลุ่มธุรกิจไทยที่ออกไปลงทุนต่างประเทศ หรือที่เรียกว่า Global Account จะหันมาให้ความสำคัญมากขึ้น จากปัจจุบันมีลูกค้าเพียง 1 รายธุรกิจ โดยอาจจะมีแพ็กเกจเสนอกับลูกค้า เป็นต้น ขณะที่ประกันภัยกลุ่มบุคคลธรรมดา (Personal) ยังคงเน้นกลุ่มรถยนต์ อุบัติเหตุและสุขภาพ (Accident & Health) ที่สามารถขยายตัวได้ต่อเนื่อง ทั้งนี้ สัดส่วนพอร์ตประกันภัยที่บริษัทต้องการเห็นกลุ่มลูกค้าองค์กรอยู่ที่ 50% รถยนต์และอุบัติเหตุ-สุขภาพกลุ่มละ 25% แต่ปัจจุบันกลุ่มลูกค้าองค์กรปรับลดลงเหลือประมาณกว่า 30% รถยนต์ 30% และอุบัติเหตุ-สุขภาพประมาณ 30% จึงเป็นโอกาสที่บริษัทจะขยายกลุ่มคอร์ปอเรตให้มากขึ้น

“กลุ่มคอร์ปอเรตบริษัทคงไม่ได้ให้ทุกราย และการแข่งขันจะขึ้นอยู่กับแต่ละราย อยู่กับความเสี่ยง แต่เราคิดว่ามีโอกาสขยายตัวได้ เพราะมีความพร้อมที่จะสร้างความสัมพันธ์กับพันธมิตร โดยเราจะเลือกโฟกัสที่โตได้ ลอสไม่สูง ด้านผลงาน 6 เดือนแรก ถือว่าเป็นไปตามเป้าหมาย โดยมีเบี้ยประกันภัยรับรวมอยู่ที่ 338 ล้านบาท เติบโต 29% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนระบบขยายตัวเพียง 0.4%”

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,185 วันที่ 21 - 24 สิงหาคม พ.ศ. 2559