ผลประชามติ-ปลดล็อกรถคันแรกดันลีสซิ่งขยับ ‘ธนชาต-กสิกรไทย’ พร้อมลุยปล่อยสินเชื่อโต

20 ส.ค. 2559 | 05:00 น.
แบงก์ประเมินธุรกิจเช่าซื้อเริ่มกระเตื้อง เหตุความเชื่อมั่นฟื้นหลังประชามติปลดล็อกโครงการรถคันแรก หนุนอานิสงส์คนซื้อรถใหม่เพิ่ม 7.3-7.5 แสนคัน ดันยอดสินเชื่อลีสซิ่งเพิ่ม ด้าน “กสิกรไทย”มองยอดขายรถใหม่เริ่มขยับ สบช่องรัฐลงทุน เจาะตลาดรถยนต์เชิงพาณิชย์เพิ่มมั่นใจทั้งปีปล่อยสินเชื่อใหม่ตามเป้า 7.5 หมื่นล้าน ส่งสินเชื่อคงค้างสิ้นปีแตะ 9.2 หมื่นล้าน ชี้สัญญาณหนี้เอ็นพีแอลรถใหม่คุมอยู่หมัด เหลือแก้ของเดิมจากปัจจุบันอยู่ที่ 1.54% ส่วน “ธนชาต” เล็งรุกตลาดรถมือสอง หลังเห็นราคาเริ่มดีดกลับ พร้อมจับมือพันธมิตรทางธุรกิจต่อยอดแคมเปญเผยครึ่งปีแรกปล่อยแล้ว 3 หมื่นล้าน

[caption id="attachment_86403" align="aligncenter" width="700"] พอร์ตสินเชื่อเช่าซื้อแบงก์เจ้าตลาด พอร์ตสินเชื่อเช่าซื้อแบงก์เจ้าตลาด[/caption]

นายทวี ธีระสุนทรวงศ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ลีสซิ่งกสิกรไทย จำกัด เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ภาพรวมธุรกิจเช่าซื้อในช่วงที่เหลือของปีนี้ ประเมินว่ามีโอกาสขยับตัวดีขึ้นกว่าช่วง 2-3 ปีผ่านมา โดยยอดขายรถยนต์ใหม่กระเตื้องขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากโครงการรถยนต์คันแรกที่จะมีบางส่วนหมดอายุสัญญาการถือครอง ทำให้มีความต้องการซื้อรถยนต์ใหม่ ซึ่งสัญญาณการปรับตัวดีขึ้นอาจจะยังไม่ชัดเจนในปีนี้ แต่ถือว่ามีสัญญาณผงกหัวขึ้น หากดูจากยอดจดทะเบียนรถยนต์ใหม่จะเริ่มเป็นบวกเมื่อเทียบกับปี 2557-2558 ที่อัตราการจดทะเบียนรถยนต์ใหม่มีอัตราการเติบโตติดลบ

ดังนั้น หากดูภาพรวมสัญญาณยอดขายรถยนต์ใหม่ที่น่าจะเริ่มขยับ ส่งผลให้สินเชื่อเช่าซื้อขยายตัวสอดคล้องกับอัตราการเติบโตของอุตสาหกรรมรถยนต์ ในส่วนของกสิกรไทยถือว่าเติบโตได้ตามเป้าหมายสามารถปล่อยสินเชื่อใหม่ไปแล้ว 4.1 หมื่นล้านบาท จากเป้าหมายทั้งปีอยู่ที่ 7.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งการเติบโตมาจากรถยนต์เชิงพาณิชย์ค่อนข้างมากประมาณ 30% ของยอดสินเชื่อปล่อยใหม่ รถยนต์ใหม่ 30% สินเชื่อผู้แทนจำหน่ายรถยนต์ (Floor Plan) 30% และที่เหลืออีก 10% จะเป็นสินเชื่อรถช่วยได้ คาดว่าทั้งปียอดสินเชื่อคงค้างจะอยู่ที่ 9.2 หมื่นล้านบาท จากปัจจุบันอยู่ที่ 8.95 หมื่นล้านบาท

ทั้งนี้ กลุ่มที่คาดว่าจะขยายตัวได้ในช่วงที่เหลือของปีนี้ และเป็นกลุ่มที่บริษัทตั้งเป้าขยายการเติบโตต่อเนื่อง จะเป็นกลุ่มรถยนต์เชิงพาณิชย์ เนื่องจากได้รับอานิสงส์การลงทุนโครงการภาครัฐ ทำให้มีความต้องการสินเชื่อเพื่อจัดซื้อรถยนต์มาใช้ในกิจการ (Fleet) เพราะการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน จะต้องมีรถยนต์ไว้ใช้ในกิจการหรืออุตสาหกรรม ทั้งขนส่งคนและสิ่งของ ทำให้กลุ่มนี้มีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้น จึงเป็นกลุ่มเป้าหมายที่บริษัทมุ่งเน้น นอกจากนี้บริษัทเริ่มทดลองทำตลาดรถยนต์มือสอง หลังจากตลาดเริ่มกลับมาดีขึ้น ราคาไม่ตกเหมือนที่ผ่านมา ตอนนี้อยู่ระหว่างทดลองโมเดลตลาด ช่วงแรกจะเน้นรถยนต์ที่มีศักยภาพ และยี่ห้อรุ่นเป็นที่รู้จักจะทำร่วมกับดีลเลอร์รถยนต์ โดยมีการเจรจาอยู่ประมาณ 10 ราย อาจจะเป็นการทำสินเชื่อให้ลูกค้าบุคคลจากรถยนต์ที่มาจาก Fleet เป็นต้น ซึ่งปีนี้อาจจะยังไม่มีเป้าหมาย หากตลาดขยายตัวได้ดีจะเริ่มทำปีหน้า

สำหรับแนวโน้มหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ภาพรวมเริ่มทรงตัว อาจจะขยับขึ้นเล็กน้อย แต่โดยรวมถือว่าผ่านจุดที่แย่ที่สุดของอุตสาหกรรมรถยนต์มาแล้ว อาจจะยังไม่เห็นอัตราที่ลดลง แต่จะไม่ปรับเพิ่มขึ้นในอัตราเร่งขึ้น ปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 1.54% จากสิ้นปีก่อนอยู่ที่ 1.3% อย่างไรก็ดี เอ็นพีแอลที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่เกิดจากกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจ ทำให้กระแสเงินสดติดขัด ส่งผลต่อการผ่อนชำระค่างวดเช่าซื้อทางอ้อม ซึ่งปัจจุบันบริษัทได้ให้การดูแลช่วยเหลือตามกรณีไป ทั้งในส่วนปรับโครงสร้างหนี้ ยืดอายุการชำระ หรือยึดรถขายทอดตลาด โดยตอนนี้มีลูกค้าที่มีปัญหาและได้รับการช่วยเหลืออยู่ในหลักร้อยล้านบาทเท่านั้น

“ภาพรวมธุรกิจเชื่อว่าได้ผ่านช่วงที่แย่ที่สุดของอุตสาหกรรมรถยนต์ แม้เอ็นพีแอลไม่ได้ดีขึ้น แต่ก็ไม่เพิ่มขึ้นในอัตราเร่ง ซึ่งเราก็สามารถเอาเอ็นพีแอลอยู่แล้ว รถใหม่ไม่ได้มีปัญหา แต่รถที่ไปใช้ธุรกิจหรือกลุ่มเอสเอ็มอีอาจจะยังมีความเสี่ยงอยู่ เพราะเศรษฐกิจยังไม่ดีมาก แต่ส่วนใหญ่จะเป็นของเก่าที่ค้างมาปีก่อน ซึ่งเราก็ตามแก้ไขกันอยู่”

ส่วนทางนายธีรชาติ จิรจรัสพร ผู้บริหารสายงานผลิตภัณฑ์และการตลาดสินเชื่อรถยนต์ บมจ.ธนาคารธนชาต กล่าวว่า ธนาคารประเมินยอดขายรถยนต์ใหม่ทั้งปีคาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 7.3-7.5 แสนคัน โดยอานิสงส์การเติบโตส่วนหนึ่งมาจากความเชื่อมั่นที่ดีขึ้นจากผลของประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญ และการเลือกตั้งที่มีความชัดเจนในปีหน้า ขณะที่ปัจจัยปลดล็อกโครงการรถคันแรกอาจจะเข้ามาช่วยเล็กน้อย เนื่องจากในช่วงที่มีโครงการเกิดภาวะน้ำท่วม ทำให้การส่งมอบรถยนต์ชะงัก จำนวนรถยนต์ที่จะออกมาเทิร์นจึงเป็นดีมานด์ปกติ ดังนั้น ตลาดคาดการณ์รถยนต์ทั้งปีจะอยู่ที่ 7.3 แสนคัน แต่หากยอดขายไปแตะที่ระดับ 7.5 แสนคัน ถือว่าตลาดค่อนข้างดี

สำหรับทิศทางการดำเนินงานในช่วงที่เหลือของปีนี้ ธนาคารยังคงมุ่งเน้นการขยายธุรกิจและความร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจ ทั้งในรูปแบบการร่วมมือกับผู้ผลิตรถยนต์ (Captive Finance) หรือการจัดแคมเปญพิเศษร่วมกัน นอกจากนี้ ธนาคารจะหันมาให้ความสำคัญในตลาดรถยนต์ใช้แล้วมากขึ้น ภายหลังจากราคาเริ่มกลับมาทรงตัว จึงเป็นโอกาสของธนาคารที่จะขยายธุรกิจ โดยธนาคารจะเข้าไปสนับสนุนวงเงินสินเชื่อให้กับเต็นท์รถยนต์ที่มีคุณภาพ และขยายตลาดลูกค้าใหม่ต่อเนื่อง โดยตั้งเป้าเติบโตรถใช้แล้ว 30%

ทั้งนี้ ภายหลังจากธนาคารได้นำระบบการอนุมัติสินเชื่อเข้ามาใช้ในการพิจารณาปล่อยสินเชื่อ ส่งผลให้การอนุมัติสินเชื่อรวดเร็วขึ้น โดยในช่วงครึ่งปีแรกธนาคารสามารถปล่อยสินเชื่อไปได้แล้วกว่า 3 หมื่นล้านบาท จากพอร์ตสินเชื่อคงค้างประมาณ 3 แสนล้านบาท แบ่งเป็นพอร์ตรถใหม่อยู่ที่ 70% และรถใช้แล้ว 30% คาดว่าในช่วงที่เหลือของปีจะปล่อยสินเชื่อเติบโตเพิ่มขึ้น 15-20% จากปริมาณธุรกิจที่เพิ่มขึ้นจากระบบที่นำมาใช้ ประกอบกับการเน้นทำตลาดและหาลูกค้าใหม่ต่อเนื่อง ขณะที่คุณภาพของสินเชื่อปรับตัวดีขึ้นตามเครดิตสกอริ่งที่ธนาคารนำมาปรับใช้ ประกอบกับการติดตามดูแลลูกค้าอย่างใกล้ชิด ทำให้คุณภาพพอร์ตดีขึ้น

“อานิสงส์โครงการรถคันแรกในปี 2554 เข้ามาช่วยดันความต้องการเล็กน้อย แต่ปัจจัยที่เข้ามาช่วยจะเป็นเรื่องความมั่นใจที่เพิ่มขึ้นหลังประชามติ ถ้ายอดขายแตะ 7.5 แสนคันถือว่าดีมาก ซึ่งในช่วงที่เหลือเราจะไปมุ่งเน้นรถมือสอง มากขึ้น เพราะตลาดเริ่มกลับมา ตลอดจนมีแคมเปญร่วมกับพันธมิตรทางธุรกิจที่จะมีให้เห็นเรื่อยๆ จะสามารถกระตุ้นยอดเติบโตตามเป้าได้”

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,184 วันที่ 18 - 20 สิงหาคม พ.ศ. 2559