พลาสติกบรรจุภัณฑ์สดใส ทีพีบีไอทุ่มขยาย/ซื้อโรงงาน

06 ก.ค. 2559 | 01:00 น.
ทีพีบีไอ ตั้งเป้ารายได้แตะ 1 หมื่นล้านบาทภายในปี 2563 เทียบปีนี้ที่กว่า 5 พันล้านบาท หลังยอดขายพลาสติกทั่วโลกเติบโตสูง เตรียมทุ่มเงินลงทุนขยายโรงงานผลิตบรรจุภัณฑ์ร่วมกับพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศ เผยขั้นตอนอยู่ระหว่างรอใบอนุญาตผังเมือง คาด 1-2 เดือนชัดเจน พร้อมเล็งซื้อกิจการโรงงานพลาสติกเพิ่ม

สมศักดิ์ บริสุทธนะกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทีพีบีไอ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติกรายใหญ่ในประเทศ เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า แนวโน้มความต้องการใช้พลาสติกทั่วโลกยังคงเติบโตต่อเนื่อง โดยในส่วนของพลาสติกกลุ่มบรรจุภัณฑ์หรือแพ็กเกจจิ้ง สำหรับอาหารพร้อมทานเติบโตกว่า 10-20% ต่อปี ดังนั้นบริษัทมีแผนขยายการลงทุนต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันมีแผนขยายการผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติกชนิดอ่อนสำหรับการอุปโภคและบริโภค
(Flexible Packaging) โดยจะขยายโรงงานที่ อ.สามพราน จ.นครปฐม เฟส 2 เพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว จากปัจจุบันมีกำลังการผลิตอยู่ที่ 100 ล้านเมตรพิมพ์ต่อปี เป็น 200 ล้านเมตรพิมพ์ต่อปี จะใช้เงินลงทุนประมาณ 800 ล้านบาท คาดว่าจะเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ภายในปี 2561

โดยขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างรอความชัดเจนใบอนุญาตผังเมือง คาดว่าภายใน 1-2 เดือนนี้จะมีข้อสรุปออกมา ส่วนสาเหตุที่เลือกขยายในพื้นที่สามพรานนั้น เพราะกลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่จะอยู่ในโซนดังกล่าว แต่หากไปสร้างที่ระยอง ก็จะต้องบวกค่าโลจิสติกส์เพิ่มขึ้น ซึ่งการขยายกำลังการผลิตดังกล่าวจะสามารถรองรับตลาดที่เติบโตขึ้นทั้งในและต่างประเทศ โดยพบว่าพลาสติกในกลุ่มแพ็กเกจจิ้งไม่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ และยังเติบโตดี คาดว่าปีนี้รายได้มีโอกาสแตะ 700 ล้านบาท เทียบกับปีก่อนที่ 575 ล้านบาท

นอกจากนี้บริษัทยังอยู่ระหว่างเจรจากับพันธมติรหลายรายเพื่อเข้าซื้อกิจการโรงงานแพ็กเกจจิ้งทั้งในและต่างประเทศ โดยยังอยู่ในแถบอาเซียน แต่คงต้องพิจารณารายละเอียดหลายด้าน อาทิ ผลิตผลิตภัณฑ์ที่ใกล้เคียงกับบริษัท มาร์จินอยู่ในระดับใกล้เคียงกัน นอกจากนี้ยังต้องดูตลาด คาดว่าจะมีความชัดเจนภายในปี 2559 ซึ่งในส่วนนี้จะใช้เงินจากการขายหุ้นเพิ่มทุน(ไอพีโอ) ไม่เกิน 800 ล้านบาท อย่างไรก็ตามบริษัทส่งออกผลิตภัณฑ์แพ็กเกจจิ้งเป็นหลัก ซึ่งยอดขายเติบโตตามจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น หรือประมาณ 3-5% ต่อปี

นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า ขณะเดียวกันยังมีแผนขยายโรงงานผลิตเม็ดพลาสติกรีไซเคิลเฟส 2 จ.ระยอง ร่วมกันพันธมิตรเยอรมัน ในอีก 1-2 ปีข้างหน้า (บริษัทถือหุ้น 40%) มีกำลังการผลิตประมาณ 1.2 พันตันต่อปี เทียบกับเฟสแรกอยู่ที่ 600 ตันต่อปี โดยใช้เงินลงทุนกว่า 70 ล้านบาท แต่เนื่องจากพลาสติกที่ใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตของเฟสแรกนั้น จะต้องนำเข้าจากยุโรปและสหรัฐฯ 100% ดังนั้นในเฟส 2 ทางบริษัทจึงเจรจากับเทศบาลและบริษัทเอกชนรายใหญ่ เพื่อคัดแยกขยะ จะสามารถลดปริมาณนำเข้าพลาสติกรีไซเคิลจากต่างประเทศได้ สำหรับโครงการดังกล่าวจะช่วยให้บริษัทรับรู้รายได้เพิ่มขึ้น โดยเฟสแรกคาดรับรู้รายได้ 200 ล้านบาทต่อปี

สำหรับเป้ารายได้ 5 ปีข้างหน้า(2559-2563) บริษัทคาดว่าจะเติบโตเท่าตัว หรืออยู่ที่กว่า 1 หมื่นล้านบาท จากปีนี้ที่คาดว่ารายได้จะอยู่ที่กว่า 5 พันล้านบาท มาจากการขยายกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้น ปัจจุบันมีสัดส่วนรายได้จากการส่งออกอยู่ที่กว่า 60% ส่วนที่เหลือมาจากยอดขายในประเทศ ขณะที่เงินลงทุน 5 ปีนี้ ตั้งเป้าไว้ที่ 2-2.5 พันล้านบาท เพื่อใช้ในการขยายกำลังการผลิตและซื้อกิจการในอนาคต

นอกจากนี้ บริษัทยังสนใจลงทุนผลิตพลาสติกชีวภาพ(ไบโอพลาสติก) แต่อยู่ระหว่างหารือกับทางภาครัฐ เกี่ยวกับนโยบายการส่งเสริม ส่วนตัวมองว่าการผลักดันของภาคเอกชนและภาครัฐในการส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางผลิตไบโอพลาสติกในภูมิภาคนี้ จะส่งผลดีต่อเกษตรกรและสิ่งแวดล้อม

ล่าสุดทางภาครัฐพร้อมสนับสนุน โดยเฉพาะท่าทีของกรมสรรพากร ไม่คัดค้านข้อเสนอที่ให้มีมาตรการให้ผู้ใช้สินค้าไบโอพลาสติกสามารถนำค่าใช้จ่ายจากการใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพนำไปหักลดค่าใช้จ่ายได้ 200-300 % ในการนำคำนวณภาษีนิติบุคคล เป็นระยะเวลา 5 ปี ซึ่งแนวทางนี้คาดว่าจะจูงให้ห้างสรรพสินค้า ร้านค้าสะดวกซื้อ หันมาใช้ถุงพลาสติกชีวภาพ ทดแทนถุงพลาสติกทั่วไป ปัจจุบันมีสัดส่วนการใช้ถึง 2 หมื่นตันต่อปี

Photo : Pixabay
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,171 วันที่ 3 - 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2559