‘ปิติภณ โพธิ์ใต้’ ไขความกระจ่างวิธีจัดเก็บภาษีที่ดินฯใหม่ ใช้สิทธิอุทธรณ์/พื้นที่ข้างเคียงทักท้วงได้

30 มิ.ย. 2559 | 11:00 น.
ระหว่างการรอร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพ.ศ...จะมีผลบังคับใช้ในปี 2560 ที่ล่าสุดคณะรัฐมนตรี(ครม.)วันที่ 7 มิถุนายน 2559 ที่ผ่านมา ได้เห็นชอบในหลักการร่างดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว ตามที่กระทรวงการคลังเสนอซึ่งเป็นการปรับปรุงการเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดิน และภาษีบำรุงท้องที่ที่ใช้อยู่ปัจจุบัน

เช่นเดียวกันกับ"ฐานเศรษฐกิจ" ได้จัดเสวนาโต๊ะกลมในหัวข้อ "กฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ส่งผลกระทบอย่างไร" เมื่อวันที่ 22 มิถุนายนที่ผ่านมา เพื่อขยายภาพให้สาธารณชนเห็นชัดเจนยิ่งขึ้นโดยเฉพาะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) ที่จะเป็นองค์กรหลักจัดเก็บรายได้ตามกฎหมายกำหนดอย่างมีประสิทธิภาพ เหมาะสม รวมทั้งมีรายได้เพียงพอที่จะนำมาใช้ในการบริหารจัดการในเขตพื้นที่ของตนก่อช่วยกระตุ้นให้เกิดการใช้ที่ดินอย่างมีประสิทธิภาพ ผลักดันให้เกิดการกระจายการถือครองที่ดินและช่วยลดความเหลี่อมล้ำในการถือครองทรัพย์สินได้

ความน่าสนใจหนึ่งจากโต๊ะเสวนาครั้งนี้ นายปิติภณ โพธิ์ใต้ ผู้อำนวยการส่วนนโยบายการคลังและพัฒนารายได้ สำนักบริหารการคลังท้องถิ่น กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการจัดเก็บรายได้- บริหารจัดการเงินรายได้จากเงินภาษีสู่การพัฒนาระบบสาธารณูปโภคท้องถิ่นให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนผู้เสียภาษีในแต่ละท้องถิ่น ระบุถึงความคืบหน้าในการเตรียมความพร้อม รวมถึงแนวทางเร่งด่วนและกระบวนการดำเนินงานเพื่อให้สามารถรองรับร่างกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกร้างฉบับปรับปรุงดังกล่าวซึ่งจะมีผลใช้บังคับในปี 2560

คืบหน้าจัดทำฐานข้อมูล

นายปิติภณ กล่าวย้ำว่า ขณะนี้ยึดหลักสำคัญว่า ถ้าผ่านร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฉบับปรับปรุงนี้ โดยอันดับแรกมองเรื่องการให้ความรู้ท้องถิ่นเป็นหลัก โดยเฉพาะอปท. เริ่มแล้วในส่วนของสถาบันพัฒนาบุคลากรท้องถิ่น คือ แทรกเนื้อหาวิชานี้ในทุกหลักสูตรของอปท. ท้องถิ่นที่มาอบรม เพื่อให้ท้องถิ่นตั้งแต่ผู้ว่าราชการจังหวัดดูแลการปกครองในท้องถิ่นทำความเข้าใจในหลักการ

ขณะเดียวกันสิ่งที่ทำมาแล้ว เรื่องฐานข้อมูลตอนนี้คืบหน้า 1,479 แห่งจากทั้งหมดกว่า 7,000 แห่ง ยกเว้นองค์การบริหารส่วนจังหวัด ซึ่งการจัดทำฐานข้อมูลที่ยังไม่ครบ เพราะต้องใช้ฐานข้อมูลหรือเอกสารจากกรมที่ดินเป็นหลัก เนื่องจากแผนที่ภาษีจะต้องยึดเอารายของที่ดินมาต่อวางกันในพื้นที่เพื่อจะรู้ว่าที่ดินแปลงนี้เป็นของใคร ทำประโยชน์อะไรบ้าง หรือมีโรงเรือนกี่แห่ง มีบ้านกี่หลัง หรือใช้เป็นพื้นที่เกษตรปลูกยางพาราหรือปลูกอะไรเพิ่มหรือเป็นที่ดินรกร้างว่างเปล่า เสมือนต้องเปิดประตูจากเอกสารกรมที่ดินก่อน

วิธีจัดเก็บใหม่เปิดให้อุทธรณ์ก่อน

"เชื่อมั่นว่าต้องจัดทำฐานข้อมูลแล้วเสร็จทันกฎหมายบังคับใช้ในปี 2560 โดยทางกระทรวงมหาดไทยต้องไปออกกฎกระทรวงหรือกฎหมายลูกอีก 16 ฉบับ ซึ่งกฎหมายลูกดังกล่าวเริ่มตั้งแต่แบบพิมพ์ เพราะกระบวนการเสียภาษีจะกลับกัน จากปัจจุบันให้ผู้เสียภาษีไปยื่นถ้าหากไม่เห็นด้วยกับอัตราภาษีสามารถใช้สิทธิในชั้นศาลเลย แต่ภายใต้กฎหมายฉบับนี้กรมการปกครอง/ท้องถิ่นเป็นคนประเมิน ต้องจัดทำฐานข้อมูลและส่งประกาศให้ประชาชนรู้ก่อนว่า ใครจะต้องเสียอัตราไหน รูปแบบหรือประเภทใด โดยในประกาศจะแจงรายละเอียดทั้งหมด เพราะหลักของกฎหมายฉบับนี้ ต้องการให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากขึ้น"

อย่างไรก็ตามสมมติว่า อปท.ทำบัญชีเสร็จประกาศว่าพื้นที่คุณต้องเสียภาษีเท่าไหร่ ถ้าคุณตรวจสอบแล้วไม่เห็นด้วย ก็สามารถคัดค้านกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้เลย ถ้าอปท.ตรวจแล้วไม่ตรงก็สามารถปรับแก้ไขได้ ถ้าประชาชน/ผู้ประกอบการไม่เห็นด้วย อัตราที่ท้องถิ่นประกาศก็สามารถอุทธรณ์ต่อองค์กรปกครองฯ ผู้บริหารท้องถิ่นได้ ซึ่งจะมีคณะกรรมการวินิจฉัยประจำจังหวัด ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน ซึ่งบอร์ดประเมินภาษีใหม่นี้รับเรื่องอุทธรณ์ในจังหวัดนี้ได้ หลังจากนั้นถ้าหากยังไม่พอใจจึงค่อยไปใช้สิทธิในชั้นศาล

โจทย์ปิดช่องการใช้ดุลพินิจ

นอกจากนี้นายปิติภณ ยังให้ความกระจ่างในแง่อัตราเพดาน กับอัตราจัดเก็บจริงนั้น ต้องขึ้นอยู่กับราคาทุนทรัพย์ ซึ่งราคาประเมินที่กรมธนารักษ์ทำให้ แต่อัตราค่าเช่ามาตรฐานกลางแต่ละพื้นที่ความเจริญไม่เท่ากัน ที่ผ่านมาจะมีปัญหาความลักลั่นกรณีโรงแรมมีห้องพัก 100 ห้อง แต่เปิดให้บริการแค่ 50 ห้อง ซึ่งตามประกาศกระทรวงมหาดไทยจะลดค่ารายปีไม่ต่ำกว่า 8% หรือบางแห่งอาจจะคิดที่ 20% จึงเกิดช่องว่าง อีกปัญหาคือ บางแห่งประกาศผ่านอินเตอร์เน็ตราคา 3,000 บาท ซึ่งเจ้าหน้าที่จะเก็บข้อมูลตามประกาศเพื่อคำนวณอัตราภาษี ซึ่งเกิดข้อร้องเรียน

กรณีที่มีปัญหามากที่สุดคือ คือ หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ แม้กฎหมายจะมีมาตรา 31 กรณีไม่เห็นด้วยไม่ให้หน่วยงานราชการฟ้องร้อง แต่ผู้มีส่วนได้เสียสามารถฟ้องได้ ซึ่งกรมธนารักษ์เป็นหน่วยงานผู้มีส่วนได้เสียและเป็นคนกลางจึงฟ้องร้องได้ อย่างไรก็ตาม ท้องถิ่นจะยึดราคาประเมินของกรมธนารักษ์ไปคำนวณกับพื้นที่ตามอัตราภาษีที่แบ่งไว้ 4ประเภท ซึ่งตรงนี้จะลดการใช้ดุลพินิจลง แต่ถามว่าการใช้ดุลพินิจจะหมดไปเลยหรือไม่ ส่วนตัวมองว่ายังมีเส้นทางที่จะให้ใช้ดุลพินิจอยู่ โจทย์เรากำลังปิดช่องว่างตรงนี้

นอกจากนี้สิ่งปลูกสร้างทางกรมธนารักษ์จะเป็นผู้ประเมินอีก โดยราคาจะแตกต่างเป็นทั้งรายแปลง หรือรายบล็อก โดยจะใช้รายแปลงที่แล้วเสร็จก่อน

ตั้งบอร์ดเพิ่มความพร้อม

อย่างไรก็ตาม วันนี้ความพร้อมของอปท. ได้มีการเลือกตั้งคณะทำงานในระดับกรมและคณะทำงานร่วมซึ่งมีทั้งกระทรวงการคลัง ,สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) กรมธนารักษ์ กรมที่ดิน กระจายอำนาจ พวกนี้โดยจะเอา Stakeholder เข้ามาเป็นคณะทำงาน เพื่อที่จะดูว่าแผนปฏิบัติการของท้องถิ่นที่จะทำขึ้นมานั้นจะมีอะไรที่จะเพิ่มการเตรียมความพร้อม และไล่เป็นสเต็ป พร้อมทั้งการแบ่งบทบาทงานเรื่องไหน ส่วนใดจะเป็นของกระทรวงการคลัง หรือกระทรวงมหาดไทย หรือมีเรื่องไหนที่ต้องร่วมกัน เพราะยอมรับว่าหลายเรื่องต้องรื้อระบบของมหาดไทยที่จะนำไปปฏิบัติทั้งแบบพิมพ์ /การออกระเบียบ มารองรับหลายเรื่องซึ่งเป็นเรื่องใหม่

ที่สำคัญ ได้คุยกับทีมงานเพื่อปิดช่องว่างเรื่องการทุจริต อย่างขั้นตอนกฎหมายให้ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแต่งตั้งผู้ประเมินเจ้าพนักงานสำรวจ ซึ่งจะมีเจ้าพนักงานประเมิน /เจ้าพนักงานสำรวจ แต่บุคลากรคงยังไม่พอ ดังนั้นก่อนจะมีการประกาศจึงน่าจะมีอีกบอร์ดหนึ่งเพื่อจะมาดูว่าการประเมินของอปท./ท้องถิ่นถูกต้องหรือไม่ ก่อนที่จะมีการประกาศราคา-อัตราภาษี ซึ่งบอร์ดตรงนี้จะมาช่วยกลั่นกรองอีกทีหนึ่งเหมือนบอร์ดการประเมินอุทธรณ์ภาษี อาจจะมีกรรมการจากหน่วยราชการข้างนอก เช่น ผู้แทนอำเภอหรือผู้ทรงคุณวุฒิในพื้นที่ของผู้นำชุมชนเข้ามาเป็นบอร์ดเพื่อดูว่าการประเมินนี้ประเมินบัญชีนายนี้ถูกต้องหรือไม่ ขณะเดียวกันเมื่อประกาศแล้วระหว่างประกาศยังให้สิทธิเจ้าของที่หรือคนที่อยู่ข้างเคียงทักท้วงได้อีก ซึ่งกระบวนการมีส่วนร่วมจะมากกว่าเมื่อก่อนเยอะ เหมือนที่ปรึกษาว่า....น่าจะมีอีกสักบอร์ดซึ่งเป็นแนวทางของกระทรวงมหาดไทยมาช่วยกลั่นกรองอีกที

ในแง่ของโครงสร้างรายได้ของอปท.นั้น ที่ผ่านมามีรายได้จาก 4 ทาง ประกอบด้วย 1. รายได้ที่ท้องถิ่นจัดเก็บเอง เช่นภาษีโรงเรือน, ภาษีบำรุงท้องที่, ภาษีป้าย, ค่าธรรมเนียม ฯลฯ 2.รายได้จากที่รัฐจัดเก็บและจัดสรรให้ 3. รายได้ที่รัฐแบ่งให้ตามพ.ร.บ.กระจายรายได้ และ 4.จากเงินอุดหนุนจากรัฐบาล ซึ่งเฉพาะรายได้ที่ท้องถิ่นจัดเก็บได้เองมีสัดส่วนประมาณ 9% ของรายได้อปท.ทั้งปี โดยปี 2558 อปท.มีรายได้ส่วนนี้อยู่ที่ 5.6 หมื่นล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นรายได้จาก ภาษีโรงเรือนและที่ดิน มากสุดถึง 2.5 หมื่นล้านบาท ที่เหลือร่วมๆ 1,000 ล้านบาทมาจากภาษีบำรุงท้องที่

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,170
วันที่ 30 มิถุนายน - 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2559