ดึงอุตฯใหม่นำร่องอินดัสทรี4.0 จับมือม.มหิดลยกร่างแบบสำรวจรายบ.หาช่องว่างพัฒนา

10 พ.ค. 2559 | 12:00 น.
สถาบัน IRDI กำหนดนโยบายขานรับอินดัสทรี4.0 ยกระดับไทยก้าวสู่ฐานผลิตอุตสาหกรรมที่ไฮเทคขึ้น เบื้องต้นโฟกัสจาก 10 กลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ ทำโรดแมปพัฒนา จับมือกับมหาวิทยาลัยมหิดลยกร่างแบบสำรวจการประเมินรายบริษัทก่อน นำร่อง 3 กลุ่มอุตฯ ไล่ตั้งแต่ กลุ่มไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ อาหาร เพื่อประเมินสถานะว่าบริษัทนั้นๆอยู่ในระดับไหนระหว่าง 2.0-4.0 ขานรับนโยบายส.อ.ท.

[caption id="attachment_51318" align="aligncenter" width="700"] IRDI เดินหน้าอินดัสทรี 4.0 ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ 6 ด้านของ ส.อ.ท. IRDI เดินหน้าอินดัสทรี 4.0 ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ 6 ด้านของ ส.อ.ท.[/caption]

ดร.ขัติยา ไกรกาญจน์ ประธาน สถาบันวิจัยพัฒนาและนวัตกรรมเพื่ออุตสาหกรรม หรือIRDI สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) เปิดเผย"ฐานเศรษฐกิจ"ว่า ขณะนี้สถาบัน IRDI มีภารกิจเพิ่มจากเดิมที่เน้นเรื่องนวัตกรรม และเทคโนโลยี ให้ผู้ประกอบการ ต่อไปจะมีการพัฒนาอินดัสทรี4.0 เข้ามาเสริม โดยการนำเทคโนโลยีเข้ามาเสริมดิจิตอลและอินเตอร์เน็ต มาใช้ในการผลิตสินค้าโดยใช้หุ่นยนต์ทำงานแทนสายพานการผลิต โดยอินดัสทรี4.0จะเข้ามาเสริม และเป็นนวัตกรรมของการทำธุรกิจแบบใหม่ โดยใช้ระบบออโตเมติกและหุ่นยนต์แทนแรงงาน โดยมีระบบไอทีเข้ามาเชื่อม โดยจะเน้นไปที่กลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ 10 กลุ่มเป้าหมายของรัฐบาลก่อน

โดยจะทำโรดแมปกำหนดเป็นวิสัยทัศน์ที่เรียกว่า"ไทยอินดัสทรี 2022" เพื่อยกระดับการผลิตจากระดับ 2.0 ที่ใช้แรงงานและเครื่อง ไปเป็นอินดัสทรี3.0 ที่มีระบบโอโตเมชันและแรงงาน และเป็นอินดัสทรี4.0 ที่มีระบบโอโตเมชัน หุ่นยนต์ และไอที เชื่อมโยงกัน ดังนั้นบริษัทไหนที่อยู่ในระดับอินดัสทรี 2.0 ก็จะถูกพัฒนาไปยังระดับ 3.0 และบริษัทใดที่อยู่ในระดับอินดัสทรี 3.0 ก็ถูกพัฒนาไประดับอินดัสทรี 4.0 ต่อไป

ทั้งนี้ล่าสุดสถาบันIRDI ได้ร่วมมือกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ยกร่างแบบสำรวจการประเมินเป็นรายบริษัทใน 3 กลุ่มอุตสาหกรรมที่อยู่ใน10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายของรัฐบาลนำร่องไปก่อน โดยมีกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ กลุ่มยานยนต์และกลุ่มอาหาร เพื่อประเมินว่า บริษัทนั้นๆยืนอยู่ในระดับไหนระหว่างอินดัสทรี 2.0-4.0 เพื่อหาช่องว่างในการไปพัฒนาต่อ รวมทั้งร่วมมือกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ทำโรดแมปอินดัสทรี4.0 ด้วย เพื่อให้งานส่วนนี้บรรลุเป้าหมาย ซึ่งในส่วนนี้จะเป็นส่วนหนึ่งที่สอดคล้องกับนโยบายของนายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ที่กำหนดไว้ใน ยุทธศาสตร์6 ด้าน กลุ่มอุตสาหกรรม และยุทธศาสตร์จังหวัด และภูมิภาค ได้แก่

1. สร้างขีดความสามารถของอุตสาหกรรมไทยด้วยประสิทธิภาพ ผลิตภาพ และนวัตกรรม

2. พัฒนาอุตสาหกรรมไทยให้ยั่งยืนด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม3. สร้างความเข้มแข็งของอุตสาหกรรมไทยด้วยการรวมกลุ่มเป็นคลัสเตอร์ 4. สร้างโอกาสให้อุตสาหกรรมไทยใช้ประโยชน์จากการเจรจาการค้า 5. พัฒนาบุคลากรเพื่อยกระดับศักยภาพของอุตสาหกรรมไทย 6. ร่วมกับภาครัฐในการสร้างปัจจัยเอื้อต่อภาคอุตสาหกรรม

ต่อเรื่องนี้นายวิษณุ ลิ่มวิบูลย์ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และโทรคมนาคม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.)กล่าวว่า นับจากนี้ไปกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าฯจะมีการปรับตัวมากขึ้น โดยก้าวจากอินดัสทรี 2.0 ไปสู่อินดัสทรี 4.0 มากขึ้น โดยนำระบบโอโตเมชันเข้ามาใช้ในกระบวนการผลิต ปรับปรุงการผลิตที่ใช้แรงงานเข้มข้น มาสู่ระบบอัตโนมัติมากขึ้น

"เวลานี้เราต้องหนีการผลิตที่ใช้แรงงานจำนวนมาก ยกระดับการผลิตไปสู่อุตสาหกรรมที่ทันสมัยยิ่งขึ้นและมีมูลค่าสูงขึ้น ไม่เช่นนั้นแล้วเราจะแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านที่มีค่าแรงถูกกว่าไม่ได้อีกต่อไป เราต้องก้าวให้พ้นฐานการผลิตเดิมไปสู่นวัตกรรมใหม่"

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,155 วันที่ 8 - 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2559