‘สภาพัฒน์’มองตลาดส่งออกCLMVหด ตามราคาน้ำมันโลกเชื่อกระทบไทยไม่มาก

08 พ.ค. 2559 | 03:00 น.
สภาพัฒน์ มองส่งออกไทยไป CLMV ยังไม่น่าห่วง ชี้เป็นผลกระทบจากสินค้ากลุ่มน้ำมันสำเร็จรูปที่ปรับลดตามราคมน้ำมันโลก หลัง 3 เดือนแรกตลาดส่งออกไป CLMV หด 4 % โดยชะลอตัวลงในทุกตลาด จ่อปรับเป้าจีดีพีใหม่-ส่งออก ในกลางเดือนนี้

ดร.ปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ( สศช. ) หรือสภาพัฒน์ เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ถึงตัวเลขส่งออกไทยไปยังประเทศคู่ค้าในกลุ่ม CLMV ( กัมพูชา , สปป.ลาว ,เมียนมาและประเทศเวียดนาม ) ที่ติดลบมาตั้งแต่ต้นปีว่า อาจส่งผลกระทบต่อภาคส่งออกไทยในปีนี้ เพราะเป็นกลุ่มประเทศที่มีการนำเข้าสินค้าเพื่อการบริโภค, สินค้าขั้นกลางและวัสดุก่อสร้าง แต่เชื่อว่าจะกระทบไม่มากนัก เพราะหากดูจากไส้ใน ตัวเลขที่ลดลงคือส่งออกไทยไปกัมพูชา ที่มีสาเหตุจากสินค้าในกลุ่มน้ำมันสำเร็จรูปที่ปรับตัวลงตามราคาน้ำมันโลก อย่างไรก็ตามคาดว่าราคาน้ำมันโลกในระยะต่อไปมีแนวโน้มจะปรับขึ้น ตามสถานการณ์เศรษฐกิจโดยเฉพาะสหรัฐฯ ที่ดีขึ้น

"ส่งออกในตลาด CLMV ที่ปรับตัวลดลง เชื่อจะไม่กระทบกับไทยมากนัก เพราะเป็นการปรับลดตามราคาน้ำมัน ส่วนตัวสินค้าอื่นๆ ที่ไทยส่งออกไปก็ยังเป็นบวก "

จากรายงานของกระทรวงพาณิชย์ ตัวเลข ณ เดือนมีนาคม 2559 ไทยส่งออกไปยังกลุ่มประเทศ CLMV หดตัวถึง 6.9 % (เทียบปีต่อปี ) ซึ่งเป็นการหดตัวจากการส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปเป็นหลัก ขณะที่ตัวเลข 3 เดือนแรก ( ม.ค.-มี.ค. 2559 ) ส่งออกไทยไปตลาด CLMV หดตัว 4.0 % โดยเป็นการหดตัวใน 3 ประเทศคือ กัมพูชาติดลบ 17.8% ,สปป.ลาวลบ 0.5% ,เมียนมาลบ 2.9% ยกเว้นเวียดนาม ที่แม้จะยังเป็นบวก 3.1% แต่ขยายตัวน้อยกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วที่เติบโตถึง 17.7 %

ทั้งนี้สศช. เตรียมปรับประมาณการส่งออกและตัวเลขเศรษฐกิจใหม่ ในวันที่ 16 พฤษภาคมที่จะถึงนี้ จากปัจจุบันที่คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะโตที่ 3.3% และส่งออกขยายที่ 1.2 % หลังตัวเลข 3 เดือนแรกปีนี้ส่งออกไทยมีมูลค่า 5.38 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ บวก 0.9%

ด้านนายนพพร เทพสิทธา ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวถึง สถานการณ์การค้าระหว่างไทยกับกลุ่ม CLMV ว่ายังมีความน่าเป็นห่วง จากเดิมที่เคยขยายตัวได้ดีแต่กลับมาขยายตัวติดลบในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา (ก.พ.-มี.ค.59 ) ดังนั้นทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องหาทางแก้ไขโดยด่วน ขณะที่รัฐก็ต้องเร่งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน

โดย สรท. ยังคงเป้าหมายการส่งออกในปีนี้ไว้ที่ 0-2%ขณะสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ปรับเป้าส่งออกปีนี้เป็น ติดลบ 0.7 % จากเดิมที่คาดบวก 0.1 % ส่วนบริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ประมาณการส่งออกของไทยปีนี้ที่ 0% หรือที่กรอบ -2.0% ถึง +2.0%

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,154 วันที่ 5 - 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2559