เอสซีจียังไม่ฟันธงศก.ฟื้น แม้ยอดใช้ปูนพุ่ง 5% รอลุ้นQ2

04 พ.ค. 2559 | 08:00 น.
ในการแถลงผลประกอบการไตรมาสแรกของเอสซีจี เมื่อวันที่ 27 เมษายน ที่ผ่านมา ยักษ์ใหญ่ในธุรกิจปิโตรเคมี ปูนซีเมนต์ และบรรจุภัณฑ์ ยังไม่กล้าที่จะฟันธงได้ว่า ภาวะเศรษฐกิจของประเทศเริ่มมีการฟื้นตัวขึ้นแล้ว ตามที่ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้ส่งสัญญาณไปก่อนหน้านี้แม้ว่าดัชนีชี้วัดของการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ที่สะท้อนมาความต้องการใช้ปูนซีเมนต์จะขยายตัวในระดับ 5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนก็ตาม

[caption id="attachment_49833" align="aligncenter" width="700"] ผลประกอบการเอสซีจีไตรมาสแรก ผลประกอบการเอสซีจีไตรมาสแรก[/caption]

ผู้บริโภคยังไม่เชื่อมั่น

การที่ภาคเอกชนยังไม่สามารถบอกได้ว่า ภาวะเศรษฐกิจของประเทศเริ่มที่จะผงกหัวขึ้นได้นั้น นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี ชี้ให้เห็นว่า ความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ที่เพิ่มขึ้นมาในช่วง 3 เดือนนั้น หากลงลึกลงไปในรายสาขา อย่างภาคที่อยู่อาศัย มีสัดส่วนการใช้สูงถึง 50% ของตลาดโดยรวม ยังติดลบอยู่ 2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงผู้บริโภคยังไม่มีกำลังซื้อที่เพียงพอ และความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการที่จะลงทุนก่อสร้างในโครงการใหม่ๆ

ขณะที่การใช้ปูนซีเมนต์ ภาคพาณิชย์กรรม อย่างการก่อสร้างอาคารโรงงาน แวร์เฮาส์ต่างๆ ที่มีสัดส่วนการใช้อยู่ที่ 20 % ไม่มีการขยายตัวหรืออยู่ที่ 0% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สะท้อนให้เห็นถึงภาวะการลงทุนยังอยู่ในระดับทรงตัว จะมีเพียงการใช้ปูนซีเมนต์ในภาครัฐที่มีสัดส่วนการใช้อยู่ 30% ขยายตัวอยู่ในระดับ 20% ที่เป็นผลจากภาครัฐ เริ่มมีการเบิกจ่ายงบประมาณลงไปถึงท้องถิ่น สำหรับการก่อสร้างในโครงการของภาครัฐต่างๆ

ยอดใช้ปูนดีมานด์เทียม

โดยเฉพาะความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ที่เพิ่มขึ้นมานั้นเป็นการขยายตัวที่ผิดปกติค่อนข้างมาในช่วง 2 สัปดาห์สุดท้าย ที่อาจจะเกิดความต้องการเทียมขึ้นมา จากการที่ผู้ประกอบการต้องเร่งสต๊อกก่อนที่จะมีวันหยุดยาวในช่วงสงกรานต์

นอกจากนี้ ยังพบว่าผลิตภัณฑ์ก่อสร้างบางชนิด เช่น กระเบื้องเซรามิก ก็ยังติดลบ 5% เมื่อเทียบกับปีก่อน หรืออย่างผนัง หลังคา ก็อยู่ในระดับทรงตัว ไม่ได้ขยายตัวเพิ่มมากขึ้นไปจากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นต้น จากปัจจัยดังกล่าว ทำให้มองไม่ออกว่าภาวะเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมามีการฟื้นตัวหรือไม่ ซึ่งจะต้องรอประเมินสถานการณ์ในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ น่าจะเห็นภาพชัดเจนว่าทิศทางเศรษฐกิจจะเดินไปทางไหน

ทั้งปีปูนมีโอกาสขยายตัว3-5%

โดยนายรุ่งโรจน์ มองแนวโน้มของภาวะเศรษฐกิจในปีนี้ ขึ้นกับความสามารถของรัฐบาล ที่จะผลักดันการก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคต่างๆ ที่มีอยู่หลายโครงการ หรือเมกะโปรเจ็กต์บางโครงการให้ออกมาเป็นรูปธรรมได้ จะช่วยให้การเติบโตของความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในปีนี้ขยายตัวในระดับ 3-5 % ได้ จากปัจจุบันมีความต้องการใช้อยู่ราว 40 ล้านตันต่อปี

อย่างไรก็ตาม ด้วยภาวะเศรษฐกิจที่เป็นอยู่ ทำให้ธุรกิจปูนซีเมนต์มีการแข่งขันที่นับวันจะทวีความรุนแรงมากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันประเทศมีกำลังการผลิตอยู่ราว 60 ล้านตันต่อปี ใช้ในประเทศประมาณ 40 ล้านตัน และส่งออกอีก 10 ล้านตันต่อปี ทำให้มีกำลังการผลิตเหลืออีก 10 ล้านตันต่อปี ส่งผลให้มีการแข่งขันที่จะช่วงชิงส่วนแบ่งการตลาดของแต่ละค่ายค่อนข้างสูง รวมถึงการแข่งขันในตลาดส่งออกของภูมิภาคนี้ที่มีการขยายตัวค่อนข้างมาก และมีกำลังการผลิตใหม่จากจีนที่เข้ามาลงทุนในภูมิภาคนี้ เป็นคู่แข่งขันที่สำคัญด้วย

ทั้งนี้ จากปัจจัยดังกล่าว ทำผลประกอบการของธุรกิจปูนซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้างของเอสซีจี ในไตรมาสแรกมีรายได้ลดลงมาอยู่ที่ 4.58 หมื่นล้านบาท หรือลดลง 3 % จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีกำไรอยู่ที่ 3.29 พันล้านบาท ปรับตัวลดลง 8 % จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยรายได้ของธุรกิจดังกล่าวนี้ คิดเป็น 39 % ของรายได้ทั้งหมดที่ 1.09 แสนล้านบาท โดยในปีนี้เอสซีจีจะมีรายได้จากธุรกิจนี้เพิ่มขึ้นมาอีก จากการเปิดเดินเครื่องโรงงานปูนซีเมนต์ที่กัมพูชา ในส่วนขยายอีก 9 แสนตัน จากเดิม 1.1 ล้านตัน และโรงงานที่เมียนมา กำลังผลิต 1.8 ล้านตัน จะเปิดเดินเครื่องในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ ขณะที่โรงงานที่สปป.ลาว กำลังผลิต 1.8 ล้านตัน จะเปิดเดินเครื่องช่วงกลางปี 2560

ปิโตรเคมีดีต่อเนื่อง

ในขณะที่ธุรกิจอื่นๆของเอสซีจี นายรุ่งโรจน์ เชื่อว่าจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ค่อยๆ ฟื้นตัว จะส่งผลให้ความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมียังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะตลาดในภูมิภาคเอเชีย และคาดว่าจะเติบโตต่อเนื่องไปจนถึง 2561 เนื่องจากยังไม่มีกำลังการผลิตใหม่เข้ามา ประกอบกับราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลงค่อนข้างมาก ทำให้ส่วนต่างราคาวัตถุดิบกับผลิตภัณฑ์ยังอยู่ในระดับสูง และต้นทุนการผลิตปรับตัวลดลงส่งผลให้รายได้ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ยังใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 4.78 หมื่นล้านบาท แต่มีกำไรเพิ่มขึ้นถึง 9.11 พันล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นถึง 85% จากช่วยเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นสัดส่วนที่สร้างรายได้ให้เอสซีจีถึง 44 %

ประกอบกับในระยะอันใกล้นี้ เอสซีจียังมีแผนที่จะขยายการลงทุนในธุรกิจเคมิคัลเพิ่มขึ้นอีก โดยเฉพาะการลงทุนปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ ที่เวียดนาม มูลค่าการลงทุนราว 4.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แม้ว่าจะล่าช้าไปกว่าแผนที่วางไว้แล้วก็ตาม จากเดิมที่คาดว่าจะหาพันธมิตรร่วมทุนได้ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ หลังจากที่ผู้ร่วมทุนจากกาตาร์ถอนตัวไปแต่ยืนยันว่าจะไม่ล้มโครงการอย่างแน่นอน และจะเดินหน้าหาผู้ร่วมทุนรายใหม่เข้ามา คาดว่าน่าจะได้ความชัดเจนได้ภายในกลางปีนี้

ทั้งนี้ เนื่องจากเอสซีจี ยังให้ความสำคัญกับกลุ่มอาเซียนเป็นหลัก เพราะเป็นตลาดที่ใหญ่ และมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเห็นได้จากช่วงไตรมาสแรกปีนี้ เอสซีจี มีรายได้จากธุรกิจที่มีฐานการผลิตในภูมิภาคนี้ เช่น โรงงานปูนซีเมนต์ โรงงานบรรจุภัณฑ์ และปิโตรเคมี รวมถึงการส่งออกผลิตภัณฑ์ไปยังอาเซียน มีมูลค่าถึง 2.43 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 1 % จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และคิดเป็น 23 % ของยอดรายได้รวมของเอสซีจี

ขณะที่ธุรกิจแพ็กเกจจิ้ง ก็ยังมีทิศทางที่สดใส เนื่องจากได้อานิสงส์จากการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมอาหาร และเครื่องดื่ม ที่ต้องใช้บรรจุภัณฑ์ในการใส่สินค้า และอาหาร ส่งผลให้ในไตรมาสแรกปีนี้มีรายได้เข้ามา 1.88 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 10 % และมีกำไร 1.25 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 43 % จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

 อัดงบวิจัยและพัฒนา 3.5 พันล.

ทั้งนี้ นายรุ่งโรจน์ ชี้ให้เห็นว่า รายได้และกำไรในธุรกิจต่างๆ ที่เพิ่มขึ้นมา เป็นผลจากที่ได้ลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาสินค้าในธุรกิจต่างๆ โดยการสร้างนวัตกรรม ให้เป็นสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่ม (เอชวีเอ) เหนือคู่แข่งขัน และรองรับความต้องการของตลาด ส่งผลให้ในไตรมาสแรกของปีนี้ มียอดขายจากสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่มถึง 4.22 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือคิดเป็น 39% ของยอดขายรวม ดังนั้น ในปีนี้ จึงจะใช้งบในส่วนนี้อีกราว 3.5 พันล้านบาท ในการวิจัยและพัฒนา จากช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาได้ใช้ไปแล้ว 900 ล้านบาท

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,153 วันที่ 1 - 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2559