‘ฟินเทค’กับบล.กสิกรไทยฯ ชูบริการ‘พรีเมียม’ชิงส่วนแบ่งลูกค้า

04 พ.ค. 2559 | 04:00 น.
กระแสการใช้งานฟินเทค (Fin Tech) กำลังเข้ามามีบทบาทมากขึ้นเกี่ยวกับการทำธุรกรรมทางการเงิน โดยครอบคลุมไปตั้งแต่ระบบการชำระเงิน ประกัน การกู้ยืมเงิน การฝากถอนเงิน ไม่เว้นแม้แต่การซื้อขายหลักทรัพย์ และการระดมทุน ส่งผลให้ในปัจจุบันแม้แต่ในแวดวงธุรกิจตลาดทุน โดยเฉพาะธุรกิจหลักทรัพย์ หลายแห่งตื่นตัว และตัดสินใจปรับโครงสร้างการดำเนินงาน เพื่อรับกับกระแสดังกล่าวที่เกิดขึ้น

ทั้งนี้ "ฐานเศรษฐกิจ" ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ "ธนธรณ์ ชัยมณี" ผู้บริหารฝ่าย ฝ่ายธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์ บริษัทหลักทรัพย์(บล.)กสิกรไทย จำกัด(มหาชน)หนึ่งในโบรกเกอร์ที่ต้องกระโจนเข้าสู่เทคโนโลยีดังกล่าวถึงกระแสความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น และที่มาที่ไปของฟินเทคว่าเป็นอย่างไร โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

 "ฟินเทค" เริ่มต้นมากว่า 40 ปี

"ธนธรณ์" เกริ่นให้ฟังว่า ฟินเทคเป็นการนำคำ 2 คำมารวมกันระหว่างการเงินกับเทคโนโลยี (Financial Technology) โดยปัจจุบันที่เป็นกระแสความนิยมอย่างมากนั้น มาจากการที่ธุรกิจสตาร์ต อัพ (Startup) เข้ามาทำตลาด ไม่ว่าจะเป็นตลาดทางด้านการเงิน หรือการลงทุนอะไรต่างๆ ซึ่งเป็นการหาช่องว่างทางธุรกิจระหว่างบริษัทกับลูกค้า โดยจับประเด็นเรื่องของการซื้อขายผ่านระบบออนไลน์ หรืออี-คอมเมิร์ซ (e-Commerce) ซึ่งจากเดิมจะมีขั้นตอนที่ค่อนข้างยุ่งยากเวลาสั่งซื้อสินค้า โดยที่ลูกค้าจะต้องมีการโอนเงินไม่ว่าจะเป็นจากเคาน์เตอร์ธนาคาร หรือเอทีเอ็ม หลังจากนั้นจะต้องส่งสลิปไปให้เจ้าของสินค้าจึงจะดำเนินการส่งของมาให้ แต่ปัจจุบันมีฟินเทคหลายเจ้าที่เข้ามาเป็นตัวกลาง เช่น เปย์ปอล (PAYPAL) ซึ่งเมื่อลูกค้ารูดบัตรเปย์ปอลก็จะประสานงานกับธนาคารให้ สามารถตรวจสอบได้ทันทีว่ามีเงินโอนเข้ามา ก็จะทำให้จัดส่งสินค้าได้ทันที เรียกว่าเป็นรูปแบบของฟินเทคที่เข้ามา

"จริงๆฟินเทคเกิดขึ้นเมื่อ 40 ปีที่แล้วในระบบธนาคารก็คือตู้เอทีเอ็ม เพียงแต่เราไม่รู้กันเท่านั้นเอง แต่ปัจจุบันได้มีการเปลี่ยนแปลงจากตู้มาสู่โทรศัพท์มือถือ เพื่อทำให้ลูกค้าสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น โดยกระแสฟินเทคในเมืองไทยจะมาอีกเยอะมาก เรามองว่าจะมาตามความเร็วของจี ซึ่งเทคโนโลยีจะดีขึ้นเรื่อยๆ อีกหน่อยอาจจะไม่มีเงินให้ใช้ แต่จะใช้พวกนี้อย่างเดียว"

 มองฟินเทค 3 รูปแบบ

สำหรับกระแสฟินเทคที่เกิดขึ้นนั้น บล.กสิกรไทยฯ มองเป็น 3 รูปแบบที่จะเข้ามาเกี่ยวข้องกับธุรกิจดังนี้
รูปแบบแรก มาในฐานะที่เป็นคู่แข่งของเรา ซึ่งวันนี้ถามว่ามีหรือยัง คงยังไม่ชัด แต่ก็จะมีบางโบรกเกอร์ที่คิดค่าคอมมิชชันถูกๆ แต่เชื่อว่าในอนาคตจะแบ่งแยกอย่างชัดเจนว่าดิสเคาต์โบรกเกอร์ที่ไม่คิดค่าธรรมเนียมเลยจะต้องมีเข้ามาแน่ๆ เพื่อที่จะให้ค่าคอมฯเป็น 0% แต่ว่าก็จะมีผู้ที่เป็นพรีเมียมโบรกเกอร์

เพราะฉะนั้นหากมองในแง่ของการแข่งขันที่จะเกิดขึ้นจากฟินเทคเข้ามา โดยเอาระบบปฏิบัติการใหม่ๆ เข้ามาเพื่อจะไม่มีค่าใช้จ่ายเรื่องคน ใช้ระบบอย่างเดียวค่าคอมฯก็เป็น 0% ได้ และก็ไปหารายได้จากอย่างอื่นแทนที่ไม่ใช่ค่าคอมฯ โดยในธุรกิจหลักทรัพย์มีด้วยกันอยู่ 4 ใบอนุญาต ซึ่งหากใบอนุญาตหนึ่งหารายได้ไม่ได้ ยังเหลืออีก 3 ใบที่ยังหารายได้ได้อยู่ ซึ่งตรงนี้ก็เป็นจุดหนึ่งที่ต้องเกิดขึ้นแน่ๆ

"หากเกิดสถานการณ์แบบนี้ขึ้นมา บล.กสิกรไทยฯเรามองยังไง แน่นอนว่าโจทย์ของเรา คือ เรามีแบงก์ที่เป็นแบ็กอัพที่ดีอยู่แล้ว มีฐานลูกค้ารายใหญ่อยู่แล้ว เพราะฉะนั้นเราไม่เป็นดิสเคาต์ โบรกเกอร์แน่ๆ เราเป็นพรีเมียม โบรกเกอร์ "

สำหรับในต่างประเทศโบรกเกอร์ที่เป็นพรีเมียมสามารถอยู่ได้ แม้ว่าจะมีดิสเคาต์โบรกเกอร์เกิดขึ้นมากมาย โดยที่เรามั่นใจว่าอยู่ได้เพราะมีบริการที่ดีกว่าผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นบริการซื้อขายหลักทรัพย์ต่างประเทศ (KS Offshore Investment) หรือแอพพลิเคชัน ภายใต้ชื่อ KS Super Stock ซึ่งจะรวบรวมข้อมูล เพื่อการลงทุนในหุ้น และติดตามสถานะพอร์ตการลงทุน รวมถึงแจ้งเตือนนักลงทุนแบบเรียลไทม์ และสามารถเทรดหุ้นได้ทันทีที่ต้องการ

นอกจากนี้ธนาคารกสิกรไทย ยังจัดตั้งบริษัท Kasikorn Business Technology Group หรือ KBTG เพื่อผลักดันและโฟกัสด้านดิจิตอล แบงกิ้ง โดยตรง ซึ่ง บล.ก็ไปอยู่ในนั้นเช่นเดียวกัน เพราะเราเห็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจึงตั้งกรุ๊ปดังกล่าวนี้ขึ้นมา โดยเป็นสิ่งที่ตอบโจทย์ว่าเราอยากเป็นพรีเมียม"

รูปแบบที่ 2 เข้ามาในฐานะผู้ช่วย โดยมองว่าฟินเทคจะเข้ามาช่วยเสริม หรือต่อยอดการให้บริการ จากเดิมที่มีบริการการทำธุรกรรมผ่านมือถือ (K-MOBILE BANKING) อยู่แล้ว แอพพลิเคชัน KS Super Stock ก็จะเข้ามาช่วยขยายการให้บริการ โดย บล.กสิกรไทยฯ จะพัฒนาฟินเทคในฐานะที่เข้ามาช่วยลดต้นทุน แต่ลูกค้าจะได้บริการที่ดีขึ้น และรวดเร็วมากขึ้น

รูปแบบที่ 3 คือ การสร้างธุรกิจใหม่ ซึ่งมองว่าส่วนนี้ยังไม่ชัดเจนนักว่าจะเข้ามาในธุรกิจหลักทรัพย์อย่างไร แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นไม่ว่าอย่างไรคนต้องลงทุนในหุ้น โดยคาดว่าคงจะไม่มีผลิตภัณฑ์ใหม่เข้ามาแทนหุ้น ซึ่งก็ยังไม่แน่ใจนัก แต่หากเป็นไปในรูปแบบดังกล่าวก็เสมือนเป็นการทำลายธุรกิจเดิม โดยมีธุรกิจใหม่เกิดขึ้น ซึ่งลักษณะนี้ยังไม่เห็นเท่าไหร่จากฟินเทคที่เกิดขึ้น

"บล.กสิกรไทยฯ ก็มีการเตรียมความพร้อมในส่วนที่เป็นผลกระทบของเรา หรือที่เป็นโอกาสของเรา แต่โดยภาพองค์รวมแล้วมองว่าฟินเทคเป็นโอกาสของ บล.กสิกรไทยฯ ที่เราจะขยายต่อไปในอนาคต แต่จะต้องมองเทรนด์ให้ถูก ซึ่งปัจจุบันก็มีผู้ให้บริการหลายรายที่มองในมุมเดียวกัน"

 ความปลอดภัยสำคัญที่สุด

อย่างไรก็ดีหากถามว่าความสำคัญของฟินเทคอยู่ที่ใดนั้น เชื่อว่าเป็นเรื่องของความปลอดภัย เพราะในส่วนของทางด้านอื่นไม่ว่าจะเป็นระบบ ความรวดเร็ว บทวิจัยทุกรายสามารถทำได้หมด เพียงแต่จะมีบางส่วนที่ดีกว่ากัน หรือด้อยกว่ากันเท่านั้น ดังนั้น บล.กสิกรไทยฯ จึงมุ่งเน้นเรื่องของความปลอดภัยจากการใช้งานอย่างมาก เนื่องจากไม่ว่าอะไรก็ตามที่เปิดให้มีการใช้งานบนมือถือสามารถถูกแฮกข้อมูลได้หมด

"ฟินเทคจึงเป็นเรื่องที่ยากมาก หากใครเข้ามาแฮกข้อมูลระหว่างที่คุณกำลังซื้อขาย หุ้นที่มีอยู่ก็จะหายหมดเลย เพราะระบบจะไม่มีคนที่คอยเก็บข้อมูลให้ทุกอย่างจะถูกเก็บไว้ที่คลาวด์ (Cloud) หากมีใครเข้าไปลบข้อมูลในคลาวด์ ได้ทุกอย่างก็จบ โดยลูกค้าที่อยู่ในระบบดังกล่าวก็จะไม่รู้เลยว่าถือหุ้นอะไรอยู่ ที่สำคัญไปเคลมไม่ได้อีกต่างหาก เนื่องจากไม่มีหลักฐาน หากจะใช้อี-เมล์ก็เชื่อถือไม่ได้ เพราะอาจเป็นอี-เมล์ที่ผ่านมาแล้ว 1 เดือน ซึ่งในระหว่างเดือนผู้ใช้งานอาจจะขายหมดแล้วก็ได้"

อย่างไรก็ตามด้วยระบบโครงสร้างพื้นฐานของบล. กสิกรไทยฯ เราใช้มาตรฐานเดียวกับของแบงก์ (กสิกรไทย ) เพราะเวลาทำงานทางด้านเทคโนโลยี จะประสานกับฝ่ายไอทีของแบงก์ เพราะฉะนั้นเรื่องของความปลอดภัยเราใช้มาตรฐานเดียวกัน ที่สำคัญแบงก์กสิกรเรื่องความปลอดภัยมาเป็นอันดับ1 การยืนยันตัวตนของลูกค้า และการทำธุรกรรมของลูกค้าจะใช้มาตรฐานเดียวกัน แต่ของที่อื่นนี่แค่ลงทะเบียนมาเข้าใช้งานได้เลย แต่ของเราไม่ใช่ต้องยืนยันตัวตนของลูกค้าที่แท้จริง ก็ คือ ยืนยันจาก 3 จี หรือจากเบอร์ที่ลูกค้าใช้จริงว่าเป็นลูกค้าลงทะเบียนเข้ามา จะใช้ไว-ไฟไม่ได้ และต้องเป็นมือถือของลูกค้าจริงๆ ถึงจะใช้งานได้

 บริการแบบ "พรีเมียม"

"ธนธรณ์" กล่าวย้ำว่า บริการฟินเทคจาก บล.กสิกรไทยฯ เป็นแบบพรีเมียมที่มีความแตกต่างจากให้ผู้ให้บริการรายอื่น ผ่านแอพ KS Super Stock โดยจะมีตั้งแต่บทวิเคราะห์ของ บล.กสิกรไทยฯ ทั้งหมด รวมถึงหุ้นที่น่าสนใจวันละ 2-3 ตัว เป้าระยะสั้น จุดตัดขาดทุน โดยที่ทุกอย่างจะเป็นแบบเรียลไทม์ ซึ่งตามปกติเราจะเชื่อมต่อข้อมูลกับนักวิเคราะห์ของเรา ดังนั้น เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลในแอพก็จะอัพเดตตามไปด้วย อีกทั้งยังมีข่าวเศรษฐกิจในรอบวัน ซึ่งเราได้ทำสัญญาไว้กับสำนักข่าว โดยเราต้องการให้แอพนี้เป็นเหมือนวันสต๊อปเซอร์วิสสำหรับลูกค้า ซึ่งไม่ว่าต้องการอะไรจะอยู่ในนี้ทั้งหมด

นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลหุ้นรายตัว ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของราคา หรือการเคลื่อนไหวย้อนหลังทั้งแบบสัปดาห์ เดือน หรือแม้กระทั่งปีที่ผ่านมาว่ามูลค่าการซื้อขายเป็นอย่างไร พีอี เรโช เท่าไหร่ มีการจ่ายปันผลเท่าไหร่ ซึ่งจะรับข้อมูลมาจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) โดยตรง ขณะที่ในส่วนของนักลงทุนประเภทเก็งกำไรก็จะมีกราฟหุ้นไว้บริการ เหมือนกับยกข้อมูลในเครื่องคอมพิวเตอร์มาไว้ในนี้ ไม่ว่าจะเดินทางไปที่ใดในโลกแค่มีไว-ไฟ หรืออินเตอร์เน็ตก็สามารถดูข้อมูลหุ้นได้ทั้งหมด

ไฮไลต์สำคัญก็ คือ เมนูแสกน ก่อนหน้านี้เวลาที่นักลงทุนจะหาหุ้นที่เป็นไอเดียของการลงทุน หรือนักลงทุนหน้าใหม่จะเล่นหุ้นตามเงื่อนไข เช่น ต้องการเงินปันผล 8% ขึ้นไปต่อปี เวลาจะหาก็ต้องไปแกะตารางเอ็กซ์เซลหุ้น 600 ตัว เพื่อดูว่ามีตัวไหนที่จ่ายปันผลเกิน 8% ต้องใช้เวลาเป็นวันกว่าจะได้มา แต่ตัวนี้ใช้เวลาแค่ไม่เกิน 5 วินาที เราก็จะมีสูตรการสแกนหุ้นให้เลย เช่น สแกนหาหุ้นที่มีปันผลสูงเฉลี่ยย้อนหลัง 3 ปีที่ 8% ก็จะกรองข้อมูลให้เลย

"ธนธรณ์ "กล่าวอีกว่า เพื่อเพิ่มความเป็นฟินเทคอย่างแท้จริงเราจึงเปิดให้บริการเทรดผ่านแอพได้ทันที ทำให้แอพของ บล. กสิกรไทยฯ เป็นเทคโนโลยีทางด้านการลงทุนอันดับต้นๆ อีกทั้งยังมีระบบการแจ้งเตือน ซึ่งเปรียบเสมือนเลขา หรือคู่หูในการลงทุน โดยสามารถตั้งการแจ้งเตือนได้ถึง 15 ระบบ เช่น เฝ้าราคาหุ้นตามที่ตั้งค่า เมื่อถึงจุดที่ต้องการระบบก็จะแจ้งเตือนทันที และมูลค่าการซื้อขาย เป็นต้น นอกจากนี้ในอนาคตมีแผนที่จะทำเมนูวิเคราะห์พอร์ตโฟลิโอของลูกค้าว่าที่มีผ่านมาย้อนหลังมีการเทรดชนะ หรือแพ้เท่าไหร่ ด้วยสาเหตุอะไร โดยระบบจะวิเคราะห์ให้ทั้งหมด

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,153 วันที่ 1 - 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2559