เงินเดือน 15,000 บาท วางแผนอย่างไรให้อยู่รอด

10 มิ.ย. 2564 | 22:05 น.

ชีวิตคนเมืองเงินเดือนก็น้อย ค่าใช้จ่ายก็สูง แล้วเดือนๆ หนึ่งจะใช้ชีวิตอย่างไรให้อยู่ได้ตลอดทั้งเดือน โดยเฉพาะเหล่าบัณฑิตจบใหม่ที่ส่วนใหญ่เงินเดือนเริ่มต้นกันที่เดือนละ 15,000 บาทเท่านั้น ซึ่งการใช้ชีวิตให้อยู่ได้ด้วยเงินเดือนเท่าที่มี จริงๆ ไม่ยากเลย เพียงแค่...

1.รู้ก่อนว่า คนส่วนใหญ่ใช้จ่ายไปกับอะไร

จากผล "การสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน พ.ศ. 2562 กรุงเทพมหานคร" พบว่าคนกรุงเทพฯ ในแต่ละเดือนหมดเงินมากที่สุดไปกับเรื่อง “อาหารและเครื่องดื่ม” ถึง 26.74% ของค่าใช้จ่ายรวม และเมื่อรวมกับ “ค่าเดินทาง” อีก 18.41% ของค่าใช้จ่ายรวมแล้ว เท่ากับว่าแค่การใช้ชีวิตเพื่อออกไปทำงานก็ใช้จ่ายไปเกือบครึ่งของค่าใช้จ่ายรวมในแต่ละเดือนแล้ว

หากลองแจกแจงสัดส่วนค่าใช้จ่ายของคนส่วนใหญ่ มาเทียบกับเงินเดือน 15,000 บาท โดยลองสมมติว่าเงินเดือนมีเท่าไรก็ใช้หมดทุกเดือนโดยไม่มีเงินเหลือเก็บเลย จะพบว่าค่าใช้จ่ายต่างๆ จะเป็นไปตามตาราง ดังนี้

เงินเดือน 15,000 บาท วางแผนอย่างไรให้อยู่รอด

2.หันกลับมาดู ค่าใช้จ่ายตนเอง

จากตารางที่แสดง หากลองดูค่าใช้จ่ายแต่ละเรื่องแล้วพบว่าคนที่มีเงินเดือน 15,000 บาท ส่วนใหญ่อาจใช้จ่ายเรื่องต่างๆ เป็นจำนวนเงิน ดังนี้

(1) “อาหารและเครื่องดื่ม” วันละ 134 บาท ซึ่งเป็นไปได้สำหรับการใช้จ่ายเฉพาะมื้อเช้าและมื้อกลาง ส่วนมื้อเย็นกลับไปทานร่วมกับคุณพ่อคุณแม่ที่บ้าน

(2) “ค่าเดินทาง” วันละ 92 บาท หรือ ไป-กลับ เที่ยวละ 46 บาท ซึ่งเป็นไปได้ในกรณีที่ทำงานไม่ไกลจากบ้านมากนัก หรือยอมตื่นเช้าและกลับถึงบ้านดึกหน่อยเพื่อเดินทางโดยระบบขนส่งสาธารณะ

(3) “การสื่อสาร” เดือนละ 594 บาท ซึ่งใกล้เคียงกับแพ็กเกจมือถือรายเดือนทั่วไปในปัจจุบัน

(4) “เสื้อผ้าและรองเท้า” เดือนละ 369 บาท ซึ่งอาจเป็นไปได้ยากในแต่ละเดือน แต่ในความเป็นจริงแล้ว เสื้อผ้าและรองเท้าเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นต้องซื้อทุกเดือน จะซื้อก็ต่อเมื่อของที่มีเริ่มหมองหรือน้ำหนักตัวเริ่มเพิ่มจนใส่ของเดิมไม่ได้แล้ว

ดังนั้นหากคิดเป็นรายปี ปีละ 4,428 บาท (= 369 บาทต่อเดือน x 12 เดือน) แล้ว ก็ถือว่าจำนวนค่าใช้จ่ายที่ว่ามีความเป็นไปได้อยู่

สำหรับค่าใช้จ่ายเรื่อง “ที่อยู่อาศัย เครื่องแต่งบ้าน และเครื่องใช้ต่างๆ” เดือนละ 3,507 บาท เนื่องจากเป็นค่าเฉลี่ยของคนกรุงเทพฯ ที่มีทั้งคนที่ “อาศัยอยู่กับคุณพ่อคุณแม่” ซึ่งค่าใช้จ่ายส่วนนี้อาจแทบไม่มีเลยทำให้มีเงินเหลือไปใช้จ่ายเรื่องอื่นๆ ได้ และคนที่ “แยกตัวออกไปเช่าห้องพัก” ค่าใช้จ่ายส่วนนี้อาจเป็นไปได้ยากสำหรับคนกรุงเทพฯ เพราะหากเป็นอพาร์ทเม้นท์ระดับกลางๆ ไม่ได้อยู่ในซอยลึก ค่าเช่าอย่างน้อยก็น่าจะอยู่ที่ประมาณเดือนละ 3,500-4,500 บาท เมื่อรวมกับค่าประปาและไฟฟ้าอีก 500-1,000 บาท แล้ว เท่ากับว่าต้องมีค่าใช้จ่ายส่วนนี้อีกอย่างน้อยเดือนละ 4,000 บาทเลย

จากที่เล่ามา สังเกตได้ว่าสำหรับคนที่ “อาศัยอยู่กับคุณพ่อคุณแม่” หากไม่ได้มีค่าใช้จ่ายอื่นมากมายนัก นอกจากมีโอกาสสูงที่สามารถอยู่ได้ด้วยเงินเดือนที่มีแล้ว ยังสามารถมีเงินเก็บได้ประมาณ 20% ของเงินเดือนเลย แต่สำหรับคนที่ “แยกตัวออกไปเช่าห้องพัก” หากต้องการอยู่ได้ด้วยเงินเดือนอันจำกัด อาจต้องควบคุมค่าใช้จ่ายของตนเองให้ดีและมีวินัยการใช้จ่ายอย่างเคร่งครัด

3.คุมงบไว้ ไม่ให้เกินเงินเดือน

ค่าใช้จ่ายแต่ละคน ย่อมขึ้นกับปัจจัยและข้อจำกัดที่ต่างกัน เช่น การเดินทางไปทำงาน ราคาอาหารแถวออฟฟิศ รวมไปถึงค่าที่พักอาศัยหากจำเป็นต้องเช่าห้องพักใกล้ที่ทำงานด้วย ดังนั้นใครที่เริ่มรู้ตัวว่าเงินเดือนที่ได้จะไม่พอกับค่าใช้จ่าย และการเพิ่มรายได้ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย คงเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องควบคุมค่าใช้จ่ายของตนเอง ด้วยการตั้ง Budget (งบประมาณค่าใช้จ่าย) ตามค่าใช้จ่ายเรื่องๆ ตามความเหมาะสมของแต่ละคน

โดย Budget ที่ตั้งได้ง่ายๆ และตั้งได้ทันที ได้แก่
⦁    ค่าที่พัก : เป็นค่าใช้จ่ายที่รู้แน่นอน ในรูปแบบของค่าเช่า เช่น เดือนละ 3,500 บาท 
⦁    ค่าประปา ค่าไฟฟ้า : ด้วยลักษณะการใช้ชีวิตที่ไม่ต่างกันในแต่ละเดือน เช่น เปิดแอร์เฉพาะตอนนอน อาบน้ำวันละ 2 ครั้ง ยอดใบแจ้งหนี้ก็คงไม่ต่างกัน เช่น เฉลี่ยเดือนละ 1,000 บาท 
⦁    ค่าแพ็กเกจมือถือ : หากใช้แบบเน็ตไม่จำกัด โทรออกไม่บ่อย คงไม่เกินแพ็กเกจที่สมัครไว้ เช่น เดือนละ 428 บาท (สมมติ 400 บาท และ VAT 7%) 
⦁    ค่าเดินทาง : สำหรับวิถีการเดินทางที่ทำซ้ำๆ อยู่ทุกวัน ด้วยระบบขนส่งสาธารณะ (ไม่รวม Taxi หรือรถยนต์ส่วนตัว) ค่าใช้จ่ายคงไม่ต่างกันในแต่ละวัน เช่น หากเลือกใช้ทั้งตั๋วรถโดยสารปรับอากาศแบบรายเดือน 1,020 บาท และบัตร BTS แบบ 50 เที่ยว เดือนละ 1,300 บาท รวมกับค่าวินมอร์เตอร์ไซค์ ไป-กลับ หน้าปากซอยบ้านเที่ยวละ 10 บาท รวมเดือนละ 440 บาท (= 10 บาทต่อเที่ยว x 2 เที่ยวต่อวัน x 22 วันทำงานต่อเดือน) ก็เท่ากับว่าจะมีค่าเดินทาง เดือนละ 2,760 บาท 
⦁    ประกันสังคมและกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ : ที่ถูกหักจากสลิปเงินเดือนทุกเดือน อย่างเงินสมทบประกันสังคมอาจจะถูกหักเดือนละ 750 บาท (= 5% x ฐานเงินเดือนสูงสุด 15,000 บาท) ส่วนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพหากบริษัทไหนมี โดยทั่วไปมักเลือกหักได้ที่ 3% ของเงินเดือน หรือประมาณเดือนละ 450 บาท รวมเป็นเดือนละ 1,200 บาท

เงินส่วนที่เหลือหากไม่ต้องผ่อนหนี้สินแล้ว หลักๆ จะเป็นส่วนที่ไว้เป็นค่าอาหาร เครื่องดื่ม และสังสรรค์ต่างๆ ประมาณเดือนละ 6,112 บาท หรือเฉลี่ยวันละ 203 บาท ซึ่งหากเป็นการทานร้านอาหารทั่วไปมื้อละ 30-50 บาท ก็ถือว่าเพียงพอ หรือหากแบ่งส่วนหนึ่งเป็นเงินเก็บสัก 10% ของเงินเดือน หรือเดือนละ 1,500 บาท เงินส่วนที่เหลือเดือนละ 4,612 บาท หรือเฉลี่ยวันละ 153 บาท ก็ยังคงเป็นไปได้สำหรับการดำรงชีพประจำวัน และอย่างน้อยหากเดือนไหนมีค่าใช้จ่ายที่เกินความคาดหมายไปบ้างจนต้องเก็บเงินน้อยลง ก็ยังอาจไม่ถึงขั้นใช้จ่ายเกินเงินเดือน

ชีวิตวัยทำงาน เงินเดือนมากอาจไม่สำคัญเท่ากับเก็บเงินได้เดือนละเท่าไร ต่อให้มีเงินเดือนมากกว่านี้อีกหลายเท่าตัว แต่หากต้องใช้จ่ายมากขึ้นจนไม่มีเงินเก็บก็ถือไร้ประโยชน์ สู้เป็นคนเงินเดือนน้อยแต่ควบคุมค่าใช้จ่ายจนมีเงินเหลือเก็บ น่าจะเป็นวิถีชีวิตที่ดีกว่า
 

โดย : ราชันย์ ตันติจินดา นักวางแผนการเงิน CFP®

         สมาคมนักวางแผนการเงินไทย www.tfpa.or.th