อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ “อ่อนค่า” ที่ระดับ 31.18 บาทต่อดอลลาร์-จับตาผลประชุมกนง.วันนี้และสัญญาณมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมจากมติครม.

05 พ.ค. 2564 | 00:38 น.

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทมีโอกาสเผชิญความผันผวนจากปัญหาการระบาดของ COVID-19 ในประเทศที่ดูมีแนวโน้มอาจทวีความรุนแรงมากขึ้น

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  31.18 บาทต่อดอลลาร์อ่อนค่าลงจากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 31.14 บาทต่อดอลลาร์ (ระดับปิด ณ วันศุกร์ที่ 30 เมษายน) ตลาดจะรอจับตาการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (MPC) ที่คาดว่าหลังการระบาดระลอกใหม่ของCOVID-19อาจกดดันการฟื้นตัวเศรษฐกิจรุนแรงกว่าที่กนง.เคยประเมิน-คาดยังคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 0.50%ต่อปี

 

นายพูน  พานิชพิบูลย์  นักกลยุทธตลาดเงินตลาดทุน  ธนาคารกรุงไทย ระบุว่า ตลาดการเงินโดยรวมผันผวนและอยู่ในภาวะที่ปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) จากความกังวลของตลาดว่าเฟดอาจมีแนวโน้มปรับขึ้นดอกเบี้ยได้เร็วกว่าคาด ซึ่งความกังวลดังกล่าวถูกกระตุ้นโดยถ้อยแถลงของรัฐมนตรีคลังสหรัฐฯและอดีตประธานเฟด นางเจนเน็ต เยลเลน ที่มองว่าการขึ้นดอกเบี้ยอาจมีความจำเป็น เพื่อลดความร้อนแรงของเศรษฐกิจที่ได้รับแรงหนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากรัฐบาล ทั้งนี้ ความกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยปรับตัวขึ้น ได้ส่งผลกระทบต่อหุ้นในกลุ่มเทคโนโลยีมากที่สุด ดังจะเห็นได้จากการที่ หุ้นเทคฯ -ขนาดใหญ่ อาทิ  Apple, Amazon, Tesla ต่างปรับตัวลง ซึ่งการปรับตัวลงของหุ้นกลุ่มเทคฯ นั้นทำให้ ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ดิ่งลงกว่า 1.9% ส่วนดัชนี S&P500 ย่อตัวลง 0.7% ขณะที่ ดัชนี Dowjones ที่ส่วนใหญ่เป็นหุ้นในกลุ่มอุตสาหกรรม Cyclical กลับปิดบวก 0.06% นอกจากนี้ แรงเทขายหุ้นกลุ่มเทคฯ ยังได้กดดันให้ ตลาดหุ้นยุโรปปรับฐานเช่นกัน นำโดย ดัชนี DAX30 ของเยอรมนี ที่ดิ่งลงกว่า 2.4% ทำให้โดยรวม ดัชนี STOXX50 ปิดลบ 1.9%

 

แม้ว่า ตลาดโดยรวมจะอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง ทว่า นักลงทุนกลับไม่ได้เข้าถือสินทรัพย์ปลอดภัยมากนัก เนื่องจากส่วนหนึ่งก็มีความกังวลโอกาสที่เฟดจะใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดเร็วกว่าคาด หากข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ แข็งแกร่งต่อเนื่อง ทำให้ บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ทรงตัวที่ระดับ 1.59%

 

อย่างไรก็ดี แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯที่สดใส กอปรกับความต้องการสินทรัพย์หลบความผันผวนชั่วคราว ได้หนุนให้ เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยล่าสุด ดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวขึ้นแตะระดับ 91.27 จุด ขณะที่เงินยูโร (EUR) อ่อนค่าลงสู่ระดับ 1.202 ดอลลาร์ต่อยูโร เช่นเดียวกับเงินปอนด์ (GBP) ที่อ่อนค่าสู่ระดับ 1.389 ดอลลาร์ต่อปอนด์ ทั้งนี้ การแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ ท่ามกลางความกังวลว่าเฟดอาจขึ้นดอกเบี้ยเร็วกว่าคาด ได้กดดันให้ ราคาทองคำย่อตัวลง สู่ระดับ 1,778 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ในขณะที่ราคาสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ อาทิ ราคาน้ำมันดิบเบรนท์และราคาน้ำมันดิบ WTI ต่างปรับตัวขึ้น ไม่น้อยกว่า 2.5% สะท้อนภาพความต้องการสินค้าโภคภัณฑ์ที่เพิ่มสูงขึ้น ตามการฟื้นตัวเศรษฐกิจ

 

 

สำหรับวันนี้ ตลาดจะติดตามแนวโน้มการฟื้นตัวของตลาดแรงงานสหรัฐฯ ผ่านยอดการจ้างงานภาคเอกชน โดย ADP ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 8 แสนราย และเป็นสัญญาณสะท้อนว่า ยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) ในวันศุกร์นี้ จะออกมาเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 8 แสนรายเช่นกัน นอกจากนี้ ตลาดยังมองว่า การทยอยผ่อนคลายมาตรการ Lockdown จะช่วยกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาคการบริการ สะท้อนผ่าน การปรับตัวขึ้นของดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการบริการ (ISM Non-Manufacturing PMI) เดือนเมษายน สู่ระดับ 64.3 จุด

 

ส่วนในฝั่งไทย ตลาดจะรอจับตาการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (MPC) ที่คาดว่าจะมีการปรับลดมุมมองแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจไทยแย่ลง หลังจากการระบาดระลอกใหม่ของ COVID-19 อาจกดดันการฟื้นตัวเศรษฐกิจรุนแรงกว่าที่ กนง. เคยประเมินไว้ อย่างไรก็ดี เราคาดว่า กนง. จะยังคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 0.50% และเลือกที่จะใช้นโยบายการเงิน อาทิ การสนับสนุนการปล่อยสินเชื่อ ผ่านโครงการ Softloan เพื่อแก้ปัญหาให้ตรงจุดและช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจร่วมกับรัฐบาล

 

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า ในระยะสั้น เงินบาทยังมีโอกาสเผชิญความผันผวนจากปัญหาการระบาดของ COVID-19 ในประเทศที่ดูมีแนวโน้มอาจทวีความรุนแรงมากขึ้น หลังมีการพบคลัสเตอร์การระบาดใหม่หลายจุด กอปรกับแนวโน้มเงินดอลลาร์อาจแข็งค่าขึ้นจากความต้องการสินทรัพย์หลบความผันผวนระยะสั้น อาจทำให้โดยรวม เงินบาทอาจมีทิศทางผันผวนและอ่อนค่าลงได้มากกว่าที่จะแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง

 

มองกรอบเงินบาท สัปดาห์นี้ที่ระดับ 31.10 - 31.40 บาท/ดอลลาร์

ส่วนกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 31.15 - 31.25 บาท/ดอลลาร์

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุเงินบาทเช้านี้ (5 พ.ค.) ทรงตัวอยู่ใกล้ๆ แนว 31.20 บาทต่อดอลลาร์ฯ อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับระดับปิดตลาดในประเทศในวันทำการก่อนหน้า (ช่วงปลายสัปดาห์ที่แล้ว) ที่ระดับ 31.14 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยเงินบาทมีปัจจัยกดดันด้านอ่อนค่าจากสถานการณ์การระบาดของโควิด 19 ในประเทศที่มีการพบคลัสเตอร์การระบาดใหม่หลายจุด ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ มีปัจจัยหนุนบางส่วนจากความเห็นเกี่ยวกับทิศทางดอกเบี้ยของรมว.คลังสหรัฐฯ 

สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ คาดไว้ที่ 31.15-31.30 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ปัจจัยที่ต้องติดตาม ได้แก่ ผลการประชุมนโยบายการเงินของกนง. สัญญาณมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมจากที่ประชุมครม. และข้อมูลการจ้างงานภาคเอกชน และ PMI ภาคบริการของสหรัฐฯ เดือนเม.ย.