พรุ่งนี้ สำนักงบฯ ชง ครม. พิจารณาร่างงบฯปี65 เปิดช่องดึงงบแก้โควิด-19

19 เม.ย. 2564 | 10:15 น.

สำนักงบฯ เตรียมชง ครม. พิจารณาร่างงบประมาณปี65 พร้อมเปิดช่องดึงงบกลางฉุกเฉินและงบหน่วยงาน รวมกว่า 1.39 แสนล้านบาท มาใช้เพื่อแก้ปัญหาโควิด-19ได้

นายเดชาภิวัฒน์ ณ สงขลา ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ  กล่าวว่า ในวันพรุ่งนี้ (20 เม.ย.2564) สำนักงบประมาณจะเสนอร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) ปีงบประมาณ 2565 วงเงิน 3.1 ล้านล้านบาท ให้คณะรัฐมนตรี(ครม.) พิจารณาเพื่อขอจัดทำเอกสารงบประมาณ  โดยวงเงิน 3.1 ล้านล้านบาท แบ่งเป็น ประมาณการณ์รายได้ 2.4 ล้านล้านบาท และการกู้งบประมาณขาดดุล 700,000 ล้านบาท

ขณะที่ในช่วงการการอภิปรายงบประมาณประจำปี 2565 วาระ 1 และ 2 จำนวน 120 วันนั้น จะมีการตั้งกรรมาธิการงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 โดยถ้าหากในช่วง 3 เดือนข้างหน้า หรือสิ้นสุดเดือนส.ค. กรรมาธิการเห็นว่าสถานการณ์โควิด-19 ยังมีความรุนแรงต่อเนื่อง ก็จะให้สามารถปรับลดงบประมาณของส่วนราชการมาจัดทำเป็นงบกลางรายจ่ายเพื่อแก้ไขปัญหาผลกระทบจากภัยพิบัติโควิด-19 ได้ ทั้งนี้ตอนออกหลักเกณฑ์ปีงบประมาณ 2565 ได้ขอให้ทุกส่วนราชการปรับเป้าหมายเพื่อให้สอดคล้องกับงบประมาณที่มีอยู่ เช่น อบรม ต้องเปลี่ยนวิธีเป็นออนไลน์ เป็นต้น ส่วนโครงการที่ทำอยู่เดิมหากไม่สัมฤทธิ์ผลอาจจะต้องปรับลดงบประมาณลง

“ถ้าหากมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 รอบที่ 4 เกิดขึ้น ทางรัฐบาลยังมีงบกลางที่จะสามารถดึงมาใช้ได้อีก 89,000 ล้านบาท รวมทั้งงบกลางฉุกเฉินเมื่อจำเป็นที่สำรองไว้สำหรับภัยพิบัติ ประมาณ 50,000 ล้านบาท ที่จะมาช่วยเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจจากโควิดถ้าจำเป็น”  ผอ.สำนักงบฯ กล่าว

เดชาภิวัฒน์ ณ สงขลา ผอ.สำนักงบฯ

ขณะที่การลงทุนในปีงบประมาณ 2565 มีงบประมาณอยู่ที่ 624,000 ล้านบาท ซึ่งมากกว่า 20% ที่กฎหมายวินัยการเงินการคลังกำหนดไว้แล้ว แต่ยังน้อยกว่าการกู้ชดเชยการขาดดุล ซึ่งหากจำเป็นต้องใช้เงินลงทุน ก็สามารถใช้การลงทุนรูปแบบอื่นได้ เช่น การร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ หรือ พีพีพี การลงทุนผ่านกองทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย หรือ TFFIF ซึ่งทำให้เม็ดเงินการลงทุนจริงของรัฐบาลมากกว่า 700,000 ล้านบาท

ส่วนจะมีการกู้เงินเพิ่มเติมจากพระราชกำหนด(พ.ร.ก.) เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท  หรือไม่นั้น เดิมตามวินัยการเงินการคลังกำหนดไว้ว่าหนี้สาธารณะจะต้องไม่เกิน 60% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(จีดีพี) ซึ่งในภาวะปกติสามารถใช้เกณฑ์ได้ ส่วนในช่วงที่โควิด-19 ยังแพร่ระบาดอยู่นั้นถ้าจะมีการกู้เงินเพิ่มอาจต้องมีการขยับเพดานวินัยการเงินการคลังด้วย แต่ทั้งนี้ กระทรวงการคลังจะต้องหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นต้นถึงความจำเป็นและรูปแบบการใช้เงิน