ธนชาตประกันภัย ทุ่มงบ 10 ล้านบาท ลดอุบัติเหตุ

19 เม.ย. 2564 | 08:53 น.

ธนชาตประกันภัย ทุ่มงบ 10 ล้านบาท ผนึก ศปถ. สานต่อโครงการ “พลังชุมชนสร้างถนนปลอดภัย ปี 2” ระดมพลังชุมชนทั่วประเทศ สร้างถนนปลอดภัยไร้อุบัติเหตุ

นายพีระพัฒน์ เมฆสิงห์วี กรรมการผู้จัดการ บริษัท ธนชาตประกันภัย จำกัด (มหาชน)เปิดเผยว่า  อุบัติเหตุบนท้องถนน เป็น 1 ใน 5 ของสาเหตุการเสียชีวิตหลักของคนไทย โดยในทุก ๆ วัน คนไทยหลายสิบล้านคนต้องเสี่ยงภัยกับภัยร้ายใกล้ตัวนี้นับตั้งแต่ก้าวออกจากประตูบ้าน ซึ่งที่ผ่านมา จะเห็นว่าการเสียชีวิตส่วนใหญ่ ไม่ได้เกิดขึ้นบนทางหลวง ทางด่วน หรือทางหลวงชนบท แต่เกิดขึ้นบนถนนในเขตเมือง เขตเทศบาล ถนนในชุมชน และมักเกิดขึ้นระหว่างการเดินทางใกล้ ๆ บนถนนสายสั้นๆ ซึ่งเป็นการเดินทางที่มักจะถูกมองข้ามเรื่องความปลอดภัย

 

พีระพัฒน์ เมฆสิงห์วี กรรมการผู้จัดการ ธนชาตประกันภัย

“เรามักคิดว่า “ขับไปแค่นี้เอง คงไม่เป็นไร” หรือ “ทางแยกอยู่ไม่ไกล ย้อนไปแค่นิดเดียว” หรือ “วิ่งข้ามตรงนี้ก็ได้ไม่มีรถมาหรอก” จากความเคยชินจึงกลายเป็นความประมาทที่สร้างความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินของผู้ใช้รถใช้ถนน”นายพีระพัฒน์กล่าว

 

 ดังนั้น ธนชาตประกันภัย ในฐานะผู้ประกอบธุรกิจด้านการประกันภัยประสานความร่วมมือกับศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) สานต่อโครงการ “พลังชุมชนสร้างถนนปลอดภัย” ที่มุ่งสร้างความปลอดภัยในพื้นที่จุดเสี่ยงภัยอันตรายและเกิดอุบัติเหตุบนถนนสายรองในพื้นที่ชุมชน เพื่อสร้างแต้มต่อให้ชุมชนก้าวสู่ถนนปลอดภัย โดยตั้งเป้าหมายภายใน 3 ปี จะต้องแก้ไขจุดเสี่ยงอุบัติเหตุบนถนนอันตรายให้ได้ 30 จุดในพื้นที่ชุมชนทั่วประเทศ ภายใต้งบประมาณ 10 ล้านบาท

โครงการ “พลังชุมชนสร้างถนนปลอดภัย” ปีแรก ได้รับความสนใจจากชุมชนเป็นอย่างมาก เห็นได้จากมีชุมชนส่งโครงการเข้าร่วมทั้งหมด 127 พื้นที่ และได้รับการคัดเลือกจำนวน 10 พื้นที่ โดยดำเนินการแก้ไขจุดเสี่ยงให้ปลอดภัยแล้ว จำนวน 6 พื้นที่ และคาดว่าจะดำเนินการครบทั้งหมดภายในปีนี้

โครงการ “พลังชุมชนสร้างถนนปลอดภัย”

โครงการ “พลังชุมชนสร้างถนนปลอดภัย ปี 2” จะเปิดโอกาสให้ชุมชนทั่วประเทศเสนอโครงการวิเคราะห์แก้ไขจุดเสี่ยงในชุมชนของตน เน้นให้ทุกคนสามารถวิเคราะห์จัดทำแผนได้ด้วยตนเอง กับ 7 ขั้นตอนง่าย ๆ คือ 1.รวมทีมงานไม่น้อยกว่า 4 คน จากหลากหลายอาชีพ 2.ร่วมกันวาดแผนที่จุดเสี่ยงอุบัติเหตุ 3.ศึกษาวิดีโอแนะนำหลักการวิเคราะห์จุดเสี่ยงและเทคนิคการถ่ายภาพ 4.คัดเลือกจุดเสี่ยงให้เหลือเพียง 2 จุด 5.ประสานกับหน่วยงานเจ้าของพื้นที่หรือหน่วยงานปกครองท้องถิ่นร่วมเป็นที่ปรึกษาโครงการ 6. ทีมงานร่วมกันวิเคราะห์ประเมินปัจจัยที่ทำให้เกิดความเสี่ยงอุบัติเหตุทั้งด้านกายภาพและพฤติกรรมทางสังคมพร้อมเสนอแนวทางแก้ไข 7. ตรวจสอบความถูกต้องและส่งโครงการ

 

“หลังจากแต่ละชุมชนนำเสนอโครงการของตนเองเข้ามาแล้ว จะเข้าสู่ขั้นตอนการคัดเลือกผลงาน ซึ่งจะแบ่งเป็น 2 รอบ ได้แก่ รอบคัดเลือก คณะกรรมการคัดกรองผลงานให้เหลือเพียง 30 พื้นที่ รอบตัดสิน ที่ปรึกษาและคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ คัดเลือก 10 โครงการ ซึ่งหากชุมชนใดผ่านเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือก ธนชาตประกันภัยจะประสานกับภาคีและชุมชน สนับสนุนงบประมาณสำหรับดำเนินการแก้ไขปัญหาลดจุดเสี่ยงในพื้นที่ ชุมชนละ 200,000 บาท “นายพีระพัฒน์กล่าว

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: