โควิดรอบใหม่ สะเทือนหุ้นไทยสั้นๆ

19 เมษายน 2564

หุ้นไทยตื่นโควิด-19 รอบ3 เล็กน้อย โบรกชี้ไม่รุนแรงเท่ารอบแรก หลังไทยมีภูมิคุ้มกันจากประสบการณ์ วัคซีน และไม่ล็อกดาวน์ซํ้าเติมเศรษฐกิจ พร้อมประสานเสียงคงเป้าดัชนีหุ้นไทยปีนี้ 

 

กลับมาเขย่าตลาดทุนอีกครั้งกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รอบ3 ที่ครั้งนี้กระจายเป็นวงกว้างทั่วทุกวงการ แต่ด้วยภูมิคุ้มกันและประสบการณ์ใน 2 ครั้งที่ผ่านมา ทำให้ตลาดหุ้นไทยไม่ได้ตื่นตระหนกมากนัก เป็นเพียงแค่ระยะสั้นเท่านั้นที่กระทบกับความเชื่อมั่น จากความกังวลตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่ที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แต่ด้วยการตัดสินใจไม่ประกาศปิดทั่วประเทศ และสั่งเฝ้าระวังบางพื้นที่ของรัฐบาล ส่งผลให้ยังมีความหวังที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจจะยังค่อยๆ ดำเนินต่อได้ 

ในแง่ผลกระทบต่อเศรษฐกิจนั้น ภาคเอกชนเองมองว่า เศรษฐกิจน่าจะแค่แผ่วชั่วคราวเหมือนช่วงเปลายปีที่แล้วที่เกิดการระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่  ดัชนีภาคการบริโภค็หดตัวเทียบเดือนต่อเดือนในแทบทุกหมวดหมู่ในเดือนมกราคม ก่อนฟื้นตัวบ้างในเดือนถัดมา ซึ่งน่าจะเห็นภาพที่คล้ายกันในรอบนี้ หากจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นในเดือนเมษายน และอาจมีมาตรการจำกัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจบางส่วนจริง จนส่งผลให้การใช้จ่ายของคนไทยลดลงในเดือนนี้ แต่หากควบคุมได้ดีขึ้น กิจกรรมทางเศรษฐกิจก็จะกลับมาเปิดมากขึ้น การใช้จ่ายก็จะดีขึ้นในเดือนพฤษภาคมเป็นต้นไป 

ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)เองออกมาระบุว่า การประบประมาณการการขยายตัวทางเศรษฐกิจปีนี้จากเดิม 3.2% เหลือเพียง 3% นั้นยังไม่รวมการระบาดรอบ3 แต่ทำแบบจำลองภายใต้สมมติฐาน 2-3 แบบ คือ กรณีไทยมีการระบาดของโควิด-19 ระลอก 3 ในช่วงครึ่งของปีนี้ และวัคซีนไม่มีประสิทธิภาพ ทำให้การเปิดประเทศเลื่อนออกไปเป็นปี 2565 และกรณีไวรัสโควิด-19 มีการกลายพันธุ์รุนแรงจนวัคซีนปัจจุบันใช้ไม่ได้ผล และต้องมีการพัฒนาคิดค้นวัคซีนใหม่ และเกิดการระบาดทั่วโลกระทบ Global Supply Chain จนทำให้การเปิดประเทศอาจต้องเลื่อนออกไปเป็นปี 2566 ซึ่งภายใต้สมมติฐานดังกล่าวจะทำให้อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจจะหดตัวรุนแรงใกล้เคียงกับการระบาดรอบแรกได้

โควิดรอบใหม่ สะเทือนหุ้นไทยสั้นๆ

รายงานข่าวจากตลาด หลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.)เปิดเผยว่า ดัชนีหุ้นไทยตั้งแต่วันที่ 1-7 เมษายน 2564 ซึ่งเป็นช่วงของการเริ่มมีการระบาดของไวรัสโควิด-19 รอบ3 ปรับลดลง 38.56 จุด หรือ -2.41% โดยเป็นระดับที่ไม่รุนแรงเมื่อเทียบกับการระบาดครั้งแรกในช่วงต้นปี 2563 ที่มีการประกาศหยุดการซื้อขายเป็นการชั่วคราว  (เซอร์กิตเบรกเกอร์) ถึง 3 ครั้ง ภายในระยะเวลาเพียง 1 เดือน รวมถึงช่วงปลายปี 2563 ที่พบการแพร่ระบาดและประกาศล็อกดาวน์เพียงบางพื้นที่เท่านั้น 

นายกิจพณ ไพรไพศาลกิจ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์และนักกลยุทธ์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ อยู่ในระดับปานกลาง มีความรุนแรงมากกว่าระลอก 2 ช่วงปลายปี 2563 แต่น้อยกว่าระลอกแรกเมื่อต้นปี 2563 ซึ่งถึงแม้ผู้จัดเชื้อจะเป็นวงกว้าง ควบคุมได้ยาก ทำให้ประกาศล็อกดาวน์บางพื้นที่ทำไม่ได้ ส่งผลให้เศรษฐกิจไม่หยุดนิ่งเหมือนกับการล็อกดาวน์ในรอบแรก แต่อาจจะมีความเสี่ยงต่อแผนที่วางไว้ให้มีความล่าช้าหรือฟื้นตัวแบบชะลอ โดยจะเป็นเฉพาะบางธุรกิจเท่านั้น ทั้งนี้ ยังคงเป้าคาดการณ์ดัชนีหุ้นไทยปี 2564 อยู่ที่ 1,630 จุด 

นายอภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์ บล. ทิสโก้ จำกัด กล่าวว่า การแพร่ระบาดรอบนี้ค่อนข้างน่าเป็นห่วง เนื่องจากเกิดการกระจายในกลางเมือง รวมถึงมีผู้ติดเชื้อเป็นบุคคลสำคัญและสาธารณะ และเป็นช่วงก่อนเทศกาลสงกรานต์ แต่ยังมีข้อดีจากการที่อยู่ในช่วงที่มีวัคซีนแล้ว มีประสบการณ์มาแล้ว 1 ปี ซึ่งประชาชนมีความรู้และสามารถรับมือได้ดีกว่าในระลอกแรก นอกจากนี้ รัฐบาลมีมาตรการในการควบคุมเป็นอย่างดี แต่ประชาชนบางส่วนอาจจะการ์ดตก โดยคาดว่าจะกระทบตลาดหุ้นไทยเพียงชั่วคราวเท่านั้น และยังคงเป้าหมายดัชนีหุ้นไทยปีนี้ที่ 1,500 จุด 

นายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บล.เอเซีย พลัส จำกัด กล่าวว่า ผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 รอบนี้มีจำกัด โดยในแต่ละรอบจะปรับลดลงเรื่อยๆ ในครั้งนี้ถึงแม้จะเป็นสายพันธุ์อังกฤษ ซึ่งอาจจะกระทบกับหุ้นไทยไม่ปรับขึ้น แต่ก็ไม่ลดลงแรงเช่นกัน ขณะเดียวกัน ยังมีข้อจำกัดในเชิงเศรษฐกิจที่ทำให้ล็อกดาวน์ได้ยาก และอาจจะคุมบางจุดเท่านั้น ทั้งนี้ ต้องติดตามความเสี่ยงหลังเทศกาลสงกรานต์ และยังคงเป้าหมายดัชนีหุ้นไทยปีนี้ที่ 1,670 จุด 

นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลท. กล่าวว่า ผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ระลอกนี้มีแน่นอน แต่ไม่ใช่แค่ไทย ซึ่งยังระบุชัดเจนไม่ได้ว่าจะมากน้อยเพียงใด ทั้งนี้ เชื่อว่าภาคธุรกิจไทยมีการเตรียมความพร้อมและปรับตัวได้อย่างต่อเนื่องมาแล้ว 1 ปี นอกจากนี้ มองว่าภาพการฉีดวัคซีนที่มากขึ้นและเพียงพอ จะเป็นข่าวดีต่อภาคธุรกิจให้ดำเนินงานต่อได้อย่างดี เนื่องจากประสิทธิภาพของวัคซีนจะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดความรุนแรงจากการติดเชื้อ ขณะเดียวกัน ขอให้นักลงทุนพิจารณาผลกระทบเฉพาะจุด ก่อนที่จะมองภาพรวม เพราะบางธุรกิจอาจจะมีผลกระทบมากหรือน้อยแตกต่างกันไป 

 

หน้า 14 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,671 วันที่ 18 - 21 เมษายน พ.ศ. 2564