อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดตลาด “แข็งค่า”ที่ระดับ 31.17 บาท/ดอลลาร์

16 เม.ย. 2564 | 00:17 น.

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทมีแนวโน้มจะกลับมาอ่อนค่า จากสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นในไทย นักลงทุนต่างชาติอาจเทขายสินทรัพย์เสี่ยงของไทยมากขึ้น

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  31.17 บาทต่อดอลลาร์แข็งค่าขึ้นจากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 31.49 บาทต่อดอลลาร์ (ระดับปิดก่อนวันหยุดสงกรานต์)

 นายพูน  พานิชพิบูลย์  นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทยระบุว่า ตลาดการเงินโดยรวมเดินหน้าปิดรับความเสี่ยง (Risk-On) เพิ่มขึ้น หนุนโดย รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาทิ ยอดค้าปลีก (Retail Sales) รวมถึง ยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานครั้งแรก ที่ออกมาดีกว่าคาด สะท้อนแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯที่แข็งแกร่ง ซึ่งภาพดังกล่าว กอปรกับ รายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนในสหรัฐฯที่ก็ออกมาดีกว่าคาด ได้ส่งผลให้ ดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง โดย ดัชนี S&P500 พุ่งขึ้น 1.1% ขณะที่ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ก็ปรับตัวขึ้นกว่า 1.3% หนุนโดย บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ที่ย่อตัวลง สวนทางกับภาพเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวแข็งแกร่ง

 

ขณะเดียวกัน ในฝั่งยุโรป นักลงทุนยังคงเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยงเช่นกัน โดย ดัชนีหุ้นยุโรป STOXX50 ปรับตัวขึ้นราว 0.4% ท่ามกลางความหวังว่า มาตรการ Lockdown จะช่วยชะลอการระบาดของ COVID-19 และหนุนให้เศรษฐกิจยุโรปกลับมาฟื้นตัวดีขึ้น

 

แม้ว่า ตลาดการเงินจะกล้าเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น แต่ผู้เล่นส่วนใหญ่ในตลาดบอนด์ กลับไม่ได้เทขายพันธบัตรรัฐบาลออกมา แต่เลือกที่เข้ามาซื้อพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวมากขึ้น ส่งผลให้ บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ปรับตัวลงกว่า 8bps สู่ระดับ 1.56% ซึ่งอาจมองได้ว่า ผู้เล่นส่วนหนึ่ง เริ่มมีความกังวลว่าสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ทั่วโลก อาจทวีความรุนแรงมากขึ้น ตามคำเตือนของ WHO ขณะเดียวกัน สินทรัพย์เสี่ยงอย่างหุ้น อาทิ ดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐฯ ก็อยู่ในจุดที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ และเสี่ยงต่อการปรับฐานในระยะสั้น นอกจากนี้ เฟดก็ส่งสัญญาณชัดเจนว่าจะยังไม่รีบปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินในระยะสั้น ทำให้บอนด์ระยะยาวที่ยีลด์ระดับแถว 1.60% ยังมีความน่าสนใจอยู่

 

ในส่วนตลาดค่าเงิน การเปิดรับความเสี่ยงต่อเนื่องของตลาด (ตลอดช่วงวันหยุดยาวของไทย) และบอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ที่ปรับตัวลดลง ทำให้ผู้เล่นในตลาดลดสถานะถือครองสินทรัพย์หลบความผันผวนอย่าง เงินดอลลาร์ กดดันให้ เงินดอลลาร์อ่อนค่าลง เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยล่าสุด ดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ย่อตัวลงมาสู่ระดับ 91.66 จุด ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 1 เดือน  นอกจากนี้ การย่อตัวลงของทั้ง เงินดอลลาร์ และ ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ได้หนุนให้ ราคาทองคำ ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 1,764 ดอลลาร์ต่อออนซ์

 

 

สำหรับวันนี้ ตลาดจะติดตาม แนวโน้มเศรษฐกิจจีน โดยคาดว่าเศรษฐกิจโดยรวมยังคงขยายตัวดีขึ้นต่อเนื่อง หนุนโดยการฟื้นตัวของภาคการผลิตที่แข็งแกร่ง ทำให้เศรษฐกิจในไตรมาสที่ 1 ของปีนี้ จะโตกว่า 18% จากปีก่อนหน้า นอกจากนี้ ในเดือนมีนาคม ยอดผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (Industrial Production) จะเพิ่มขึ้นกว่า 18% จากปีก่อน ส่วนยอดการลงทุนสินทรัพย์ถาวร (Fixed Asset Investment) จะโตได้ราว 27% และยอดค้าปลีก (Retail Sales) จะขยายตัวขึ้นกว่า 28% หนุนโดยการทยอยผ่อนคลายมาตรการ Lockdown สอดคล้องกับ การปรับตัวขึ้นของดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการบริการในเดือนมีนาคม

 

ส่วนในฝั่งสหรัฐฯ แนวโน้มเศรษฐกิจที่สดใสจะส่งผลให้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค โดย มหาวิทยาลัยมิชิแกน (U of M. Consumer Sentiment) ในเดือนเมษายน ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 89 จุด จาก 84.9 จุด

 

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท เราคาดว่า เงินบาทอาจแข็งค่าขึ้นจากการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ ทว่า สถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นในไทย อาจทำให้ เกิดแรงเทขายสินทรัพย์เสี่ยงของไทยมากขึ้นจากนักลงทุนต่างชาติ ทำให้ เงินบาทไม่แข็งค่าไปมาก หรือ อาจพลิกกลับมาอ่อนค่าได้ ซึ่งในระยะสั้น เราเชื่อว่า โอกาสที่เงินบาทจะกลับไปอ่อนค่ายังมีอยู่ และยังมองว่ามีโอกาสที่จะเห็นเงินบาทกลับไปอ่อนค่าใกล้ระดับ 31.30-31.40 บาทต่อดอลลาร์ เพราะแรงซื้อสกุลเงินต่างชาติเพื่อจ่ายปันผล จะเริ่มกลับมามากขึ้นในช่วง หลังวันหยุดเทศกาลสงกรานต์

 

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 31.15 - 31.25 บาท/ดอลลาร์

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเช้านี้ (16 เม.ย.) เปิดตลาดที่ระดับประมาณ 31.16 บาทต่อดอลลาร์ฯ ก่อนจะทยอยอ่อนค่ามาเคลื่อนไหวอยู่ที่ 31.27 บาทต่อดอลลาร์ฯ (แต่ยังคงเป็นระดับแข็งค่าเมื่อเทียบกับระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาที่ 31.49 บาทต่อดอลลาร์ฯ) ทั้งนี้เงินบาททยอยอ่อนค่าลงหลังจากเปิดตลาดในช่วงเช้าท่ามกลางความกังวลต่อสถานการณ์การระบาดของโควิด 19 ในประเทศ ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ มีปัจจัยบวกจากตัวเลขยอดค้าปลีก และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ของสหรัฐฯ ที่ออกมาดีกว่าที่ตลาดคาด
  
สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ คาดไว้ที่ 31.00-31.40 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ สถานการณ์และมาตรการดูแลโควิด 19 ในประเทศ 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :