บาทอ่อนค่า จะชะลอให้เงินทุนต่างชาติยังไม่ไหลเข้ามากนัก

18 เม.ย. 2564 | 01:55 น.

คอลัมน์มันนี่ดีไอวาย โดย : สุนทร ทองทิพย์ นักกลยุทธ์การลงทุนบริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย 

เราได้ปรับเพิ่มเป้าหมาย SET Index ล่วงหน้า 12 เดือนเป็น 1,610 จาก 1,575 โดยได้นับรวมการปรับเพิ่มราคาเป้าหมายของนักวิเคราะห์จากตัวเลขเศรษฐกิจ/สัญญาณด้านกำไรที่ดีขึ้น รวมถึงพัฒนาการด้านการฉีดวัคซีนในเชิงบวก แต่ upside ของตลาดจะถูกตรึงจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตร(bond yield) ที่สูงขึ้นในระยะสั้น ก่อนที่ EPS ตลาดจะฟื้นตัวขึ้นมาหักลบผลกระทบจากอัตราคิดลดที่สูงขึ้นได้ ด้วยอัตราเงินเฟ้อที่เร่งตัวสูงขึ้นในไตรมาส 2/64 และอุปทานพันธบัตรรัฐบาลที่ปรับสูงขึ้น เพื่อนำมาเป็นเงินทุนในงบประมาณขาดดุล จึงคาดว่า bond yield ระยะ 10 ปีของไทยจะยังอยู่ในระดับสูงที่ 1.9%-2% และจำกัดการปรับเพิ่มขึ้นของมูลค่าหุ้น

 

ด้านอัตราส่วนต่างผลตอบแทนตลาดและพันธบัตร (EYG) ปรับลงสู่ระดับตํ่ารอบ 10 ปีที่ 3.32% (หรือตํ่ากว่า -1SD) ซึ่งเป็นระดับที่ตลาดมักปรับตัวลดลงในอดีต ภาพรวมด้านมูลค่าหุ้นที่ตึงตัวและเงินบาท/ดอลลาร์ฯ ที่อ่อนค่าในไตรมาส 2/64 จะชะลอให้เงินทุนต่างชาติยังไม่ไหลเข้ามามากนัก จนกว่า bond yield ระยะ 10 ปี และค่าเงินบาทจะมีทิศทางที่เปลี่ยนไป Upside เพิ่มเติมต่อตลาดคาดว่า จะมาจากความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีนที่กลับมาเป็นปกติ

 

ในระยะสั้นนี้ เราคาดว่า SET จะซื้อขายกันในกรอบ 1,530 และ 1,610 อิงจาก EYG ที่ -0.9375SD ถึง -1.125SD

 

คาดว่า ภาพรวมด้านมูลค่าหุ้นที่ตึงตัวและเงินบาท/ดอลลาร์ฯ ที่อ่อนค่าในไตรมาส 2/64 จะชะลอให้เงินทุนต่างชาติยังไม่ไหลเข้ามามากนัก จนกว่า bond yield ระยะ 10 ปีและค่าเงินบาทจะกลับทิศ โดยที่ผ่านมานักลงทุนต่างชาติมีสถานะเป็นผู้ขายสุทธิหุ้นไทยที่ -3.2 หมื่นลบ. YTD แม้จะเป็นผู้ขายสุทธิกว่า 2.40 แสนลบ. เมื่อปีก่อน ซึ่งอาจเป็นผลจากภาพรวมมูลค่าหุ้นที่ตึงตัวและเงินบาทที่อ่อนค่า

 

ในปี 2564 ค่าเงินบาทให้ผลตอบแทนตํ่าสุดเป็นอันดับ 2 ของค่าเงินในกลุ่มประเทศเกิดใหม่ (EMs) ในเอเชีย (-4.19% YTD เป็น 31.30 บาท/ดอลลาร์ฯ) ส่วนหนึ่งอาจเป็นผลจากบัญชีเดินสะพัดที่ขาดดุล การแข็งค่าของเงินดอลลาร์ฯ การส่งเงินปันผลของนักลงทุนญี่ปุ่นกลับประเทศที่เป็นไปตามฤดูกาล และประมาณการ GDP ปี 2564 ของไทยที่อ่อนแอในระดับ 2.6% ตํ่ากว่าคาดการณ์เฉลี่ยของโลกที่ 5.5% YoY หลังจากที่ไทยประสบปัญหาความล่าช้าในการจัดจำหน่ายวัคซีน

 

ทั้งนี้ บัญชีเดินสะพัดของไทยพลิกมาเป็นขาดดุลเดือนที่ 4 ติดต่อกัน หลังจากเกินดุลมา 6 ปี ซึ่งเป็นผลจากการนำเข้าที่สูงขึ้นและรายได้จากกลุ่มท่องเที่ยวที่่เคยมีสัดส่วนถึง 62% ของสภาวะเกินดุลในปี 2562 เบาบางลง โดยไทยมีบัญชีเดินสะพัดขาดดุล 1.7 พันล้านดอลลาร์ฯ ช่วง 2 เดือนแรกของปี 2564 เทียบกับเกินดุล 1.65 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ ในปี 2563

นอกจากนี้ ธปท. ปรับลดประมาณการบัญชีเดินสะพัดเกินดุลปี 2564 เป็น 1.2 พันล้านดอลลาร์ฯ ในรอบประมาณการเดือน มี.ค. 2564 จากประมาณการเดือน ธ.ค. 2563 ที่ 1.12 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ จากภาพรวมที่อ่อนแอของการท่องเที่ยวและการนำเข้าที่สูงขึ้น ทั้งนี้ ธปท. คาดว่าบัญชีเดินสะพัดจะเกินดุลมากขึ้นเป็น 2.5 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ ในปี 2565 จากการส่งออกและจำนวนนักท่องเที่ยวที่สูงขึ้น 

 

คาดว่า ทิศทางเงินบาทจะเปลี่ยนแปลงในครึ่งหลังปี 2564 จากการส่งออกและแผนการกลับมาเปิดพรมแดนของรัฐบาล อย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยในไตรมาส 2/64 จะผ่อนปรนมาตรการกักตัวสำหรับนักท่องเที่ยวที่ได้ฉีดวัคซีนที่จะเดินทางมายังแหล่งท่องเที่ยว (ภูเก็ต กระบี่ พังงา สมุย พัทยา และเชียงใหม่) เหลือ 7 วันจาก 14 วัน นักท่องเที่ยวที่ฉีดวัคซีนแล้วจะได้รับอนุญาตให้เดินทางเข้าพื้นที่ภูเก็ต โดยไม่ต้องกักตัวในไตรมาส 3/64 และจะได้รับการอนุญาตให้เดินทางไปยังแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ(กระบี่ พังงา สมุย พัทยา และเชียงใหม่) โดยไม่ต้องกักตัวตั้งแต่ไตรมาส 4/64 

 

ขณะที่จะเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบโดยไม่ต้องกักตัว ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2565 เมื่ออิงจากแผนการดังกล่าวเชื่อว่า สมมติฐานจำนวนนักท่องเที่ยวขาเข้าของนักวิเคราะห์ของเราที่ 4.3 ล้านคน/24.0 ล้านคนในปี 2564-65 ยังคงสมเหตุสมผล โดยการกลับมาเปิดพรมแดนนั้น ขึ้นกับความคืนหน้าเรื่องการฉีดวัคซีน ซึ่งรัฐบาลไทยมีแผนซื้อวัคซีนจาก Sinovac อีก 5 ล้านโดสจากจีน เทียบกับคำสั่งซื้อเดิมที่ 2 ล้านโดสจาก Sinovac และ 61 ล้านโดสจาก AstraZeneca

 

หน้า 14 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,669 วันที่ 11 - 14 เมษายน พ.ศ. 2564