สแตนชาร์ดหวังนโยบายคลังดันจีดีพีปี64

08 เม.ย. 2564 | 12:13 น.

สแตนชาร์ดหวังนโยบายคลังดันจีดีพีปี64 เผยความท้าทายทั้งโควิดและวัคซินเป็นปัจจัยสำคัญบอกทิศทางฟื้นท่องเที่ยวและความเชื่อมั่น

สแตนชาร์ดหวังนโยบายคลังดันจีดีพีปี64  เผยความท้าทายทั้งโควิดและวัคซินเป็นปัจจัยสำคัญบอกทิศทางฟื้นท่องเที่ยวและความเชื่อมั่นทั้งผู้บริโภคและธุรกิจที่ยังอยู่บนความไม่แน่นอน –ย้ำถ้าต้องกลับมาใช้นโยบายการเงินโดยลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายซึ่งสวนทางโลกที่เตรียมปรับขึ้นมีโอกาสเห็นเงินไหลออก

สแตนชาร์ดหวังนโยบายคลังดันจีดีพีปี64

นายทิม ลีฬหะพันธุ์ นักเศรษฐศาสตร์ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) กล่าวว่า สแตนดาร์ดยังคงประมาณการการเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 2564 อยู่ที่ระดับ 2.4% แม้ว่าจะเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 รอบใหม่  แต่เนื่องจากตัวเลขประมาณการจีดีพีของปีนี้ธนาคารค่อนข้างระมัดระวังอยู่แล้วก่อนที่จะเกิดการระบาดของโควิด-19 ในรอบที่3 โดยไตรมาส1ของปีนี้ยังเติบโตติดลบก่อนจะขยับเป็นบวกในไตรมาส2 ซึ่งเป็นผลจากฐานต่ำ สำหรับปี2565 คาดว่าจีดีพีจะฟื้นตัวเป็นอัตรา 3.00%

            “ เราคงตัวเลขคาดการณ์จีดีพีปีนี้ที่ 2.4%ตั้งแต่เดือนก.พ.ซึ่งต่ำกว่าเมื่อเทียบกับไอเอ็มเอฟที่ประเมินจีดีพีที่ 2.6%  ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) 3.00%โดยเรา Conservativeอยู่แล้ว ขณะที่ความมั่นใจอยู่ในระดับไม่สูงทั้งผู้บริโภคและธุรกิจบนความไม่แน่นอน ที่สำคัญ เราเห็นความท้าทายทั้งโควิดและวัคซีนเป็นปัจจัยสำคัญที่จะบอกทิศทางการฟื้นภาคท่องเที่ยวและความมั่นใจ”

            นอกจากนี้ 2เซ็กเตอร์ ทั้งเซ็กเตอร์การบริโภคและท่องเที่ยวบางเดือนยังติดลบโดยไม่เห็นการฟื้นตัวชัด ประกอบกับหนี้ครัวเรือนกลับมาเพิ่มขึ้น และภาคท่องเที่ยวอยู่ในทิศทางจะเริ่มฟื้น โดยเฉพาะภูเก็ตแซนด์บ๊อก ที่เป็นความคาดหวังว่าจะสามารถรับนักท่องเที่ยวในครึ่งปีหลังหรือไตรมาส3และ4

            อย่างไรก็ตาม ช่วงที่เหลืออยากเห็นการดำเนินนโยบายทางการคลัง ที่ส่งผลต่อการบริโภคแล้วเกิดประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจ การจ้างงานและฟื้นการเติบโตของจีดีพี โดยเฉพาะเซ็กเตอร์การบริโภคและท่องเที่ยงนั้นต้องการนโยบายการคลังมากระตุ้นในช่วงที่เหลือ โดยการใช้จ่ายเงินงบประมาณของรัฐบาลต้องนำกิจกรรมทางเศรษฐกิจ คือ ไม่ใช่ว่าเม็ดเงินจะมีจำนวนมากหรือน้อย แต่ทุกการใช้จ่ายต้องคำนึงถึงประชาชน ธุรกิจนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ ทั้งในแง่ของการจ้างงาน และการฟื้นธุรกิจ ที่สำคัญคือ การใช้เงินงบประมาณต้องทำให้จีดีพีเติบโตได้

ด้านนโยบายการคลัง เริ่มเห็นความกังวลเกี่ยวกับหนี้สาธารณะต่อจีดีพีที่จะเพิ่มขึ้นปลายปีนี้เกือบ แตะเพดานที่ 60% จากปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 50%ต่อจีดีพีซึ่งเพิ่มขึ้นจากการออกมาตรการ โดยช่วงก่อนโควิดหนี้ต่อจีดีพีอยู่ที่ 40% ต่อจีดีพี แต่เทียบอัตราการเติบโตจีดีพียังติดลบ -6% ดังนั้น ระยะข้างหน้าจึงอยากเห็นการใช้เงินงบประมาณที่คงเหลือกว่า 20% จากวงเงินกู้ 1ล้านล้านบาทโดยมีแผนการใช้จ่ายไปแล้วกว่า 70%

ทั้งนี้ เงินงบประมาณที่เหลือกว่า 20%นั้น ต้องใช้จ่ายให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ ทั้งฟื้นการบริโภคธุรกิจยังสามารถดำเนินธุรกิจต่อได้ และทำให้เกิดการจ้างงา น เพราะถ้าจีดีพีไม่เพิ่มขึ้น แต่หนี้ครัวเรือน หนี้สาธารณะยังคงเพิ่ม จะไม่เหลือช่องในการกระตุ้นเพิ่ม  เพราะยังไม่แน่ใจว่าการระบาดของโควิด-19ยังมีรอบ 4 หรือรอบ 5 หรือประสิทธิภาพของวัคซีนกับายพันธุ์ใหม่ ความไม่แน่ใจทางการเมืองภายในประเทศ หรือสถานการณ์ทางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐ และปัญหาด้านอุปทาน โดยเริ่มมีปัญหาในหลายเช็กเตอร์ เช่น การส่งออกมีสัญญาณที่ดีขึ้นแต่กลับเกิดปัญหาตู้คอนเทรนเนอร์ขาดแคลน  อุปกรณ์อิเล็กทรินิกส์ โรงแรม  สายการบินจะสามารถซ่อมบำรุงพร้อมรองรับนักท่องเที่ยวหรือไม่ และยังไม่นับปัจจัยที่ยังมองไม่เห็น

 

 

นายทิมกล่าวว่า ทิศทางดอกเบี้ยนโยบายนั้น แนวโน้มมองว่าธปท.จะคงดอกเบี้ยนโยบายอยู่ในระดับต่ำ 0.50%ต่อปีไปอีก 3ปีข้างหน้า(2564-2566)   แต่ถ้าหากยังไม่เห็นการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านนโยบายการคลังจนต้องกลับมาใช้นโยบายการเงินโดยต้องลดดอกเบี้ยนโยบายซึ่งสวนทางโลกที่เตรียมปรับขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งมีโอกาสเห็นเงินไหลออก

“ ช่วงนี้เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ ที่โลกจะขึ้นดอกเบี้ย จึงอยากขอให้ธปท.สื่อสารที่ชัดเจนเพื่อให้ตลดเงินและธุรกิจได้เข้าใจ ส่วนแนวโน้มทิศทางเงินบาทสิ้นปีน่าจะเห็นการเคลื่อนไหวค่อยๆแข็งค่าแตะ 31.00บาท/ดอลลาร์ เทียบจากต้นปีอยู่ที่ 29.8บาท/ดอลลาร์”