พลังงานยอมถอยแก้มติกพช. รับซื้อไฟฟ้าที่ 40% อุ้มเอสพีพีที่หมดอายุให้อยู่รอด

27 เม.ย. 2559 | 03:00 น.
"อนันตพร" เรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสรุปรับซื้อไฟฟ้าเอสพีพีโคเจนในวันที่ 25 เมษายนนี้ หลังมอบให้สนพ.เจรจาไร้ข้อยุติ ชี้แนวโน้มยึดตามมติ กกพ. สัดส่วนขายไฟฟ้า 40% หรือไม่เกิน 45 เมกะวัตต์ ราคารับซื้อ 3.20 บาทต่อหน่วย ก่อนเสนอ กพช. เห็นชอบ 13 พฤษภาคมนี้

แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ในวันที่ 25 เมษายนนี้ พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน จะหารือร่วมกับทางสมาคมผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ไขปัญหาผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (เอสพีพี) ระบบ Cogeneration ที่ขายไฟฟ้าและไอน้ำให้กับกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรม กลุ่มที่ 1 จำนวน 25 ราย กำลังการผลิตที่ขายเข้าระบบ 1.3 พันเมกะวัตต์ โดยจะสิ้นสุดอายุสัญญาภายในอีก 4-5 ปีข้างหน้า เนื่องจากที่ผ่านมายังมีข้อถกเถียงและยังไม่มีข้อยุติ

โดยที่ผ่านมาทางสมาคมร้องเรียนเพื่อแก้ไขมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อปี 2558 ซึ่งกำหนดให้เอสพีพีโคเจนที่ขายไฟฟ้าและไอน้ำให้กับกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรม โดยจะสิ้นสุดอายุสัญญาภายในปี 2560–2568 จะต้องปรับสัญญาขายไฟฟ้าลดลงเหลือไม่เกิน 20% ของสัญญาเดิมที่เคยขายไฟฟ้าให้กับ กฟผ. ที่ 90 เมกะวัตต์ ส่วนราคารับซื้อไฟฟ้า กำหนดไม่ให้สูงกว่าที่รับซื้อจากโรงฟ้าภาคเอกชนรายใหญ่ (ไอพีพี) ซึ่งกรณีดังกล่าวทางสมาคมได้หารือกับทาง สนพ. หลายรอบ แต่ยังไม่มีข้อสรุปแต่อย่างใด

เนื่องจากภายหลังมติ กพช.ครั้งที่ 1/2558 ออกมา ทางสมาคมได้หารือกับทางคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) แล้วได้ข้อสรุปร่วมกันคือปรับแก้มติ กพช. และปรับลดสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจาก 90 เมกะวัตต์ ลดเหลือไม่เกิน 40 เมกะวัตต์ หรือคิดเป็นประมาณ 40% ของสัญญาซื้อขายไฟฟ้า ขณะที่ราคาขายไฟฟ้าจะลดลงมาอยู่ที่ประมาณ 3.20 บาทต่อหน่วย จากเดิมอยู่ที่ 3.80 บาทต่อหน่วย แต่ต่อมา สนพ. ในฐานะเลขา กพช. ได้เจรจาต่อรองกับทางสมาคมเพื่อให้ยึดตามมติ กพช.เดิม ส่งผลให้เรื่องดังกล่าวยืดเยื้อจนถึงปัจจุบัน

อย่างไรก็ตามคาดว่าจะใช้มติ กกพ. ที่ปรับลดสัญญาซื้อขายไฟฟ้าเหลือ 40% หรือซื้อขายไฟฟ้าไม่เกิน 45 เมกะวัตต์ ของสัญญาเดิม แต่จะให้ทางกลุ่มเอสพีพีเน้นขายไฟฟ้าให้กลุ่มลูกค้าในนิคมอุตสาหกรรมก่อน เพื่อไม่ให้กระทบต่อค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) ในอนาคต โดยทางกระทรวงพลังงานก็มีความเข้าใจผู้ประกอบการเอสพีพี เพราะหากลดสัญญาเหลือ 20% ก็ไม่สามารถอยู่ได้ ประกอบกับต้องการสร้างความมั่นใจต่อนักลงทุนด้วย โดยภายหลังจากได้ข้อสรุปจะเสนอ กพช.ในกลางเดือนพฤษภาคมนี้

"การแก้ไขปัญหาเอสพีพีโคเจน ใช้ระยะเวลาเป็นปีๆ ยังไม่มีข้อสรุป ดังนั้นทาง รมว.พลังงาน จึงต้องการแก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยเร็ว แม้ว่าที่ผ่านมา สนพ.จะเจรจาแล้ว แต่ก็ไม่มีข้อยุติออกมาเพราะเอกชนขอให้ยึดตามมติ กกพ.ที่ไม่เกิน 45 เมกะวัตต์ เทียบกับมติ กพช.เดิมที่ไม่เกิน 20 เมกะวัตต์ เบื้องต้นคาดว่าน่าจะยึดตามมติ กกพ. เพราะได้แนวทางแก้ไขปัญหาที่คำนึงผลกระทบทั้ง 2 ฝ่ายแล้ว แต่ผลสรุปจะออกมาอย่างไรนั้นก็ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของ รมว.พลังงานต่อไป" แหล่งข่าว กล่าว

นายไพทูร ไพศาลสุขวิทยา อุปนายกสมาคมผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ทาง สนพ. ได้เลื่อนการเจรจาเพื่อขอแก้ไขมติกพช.มาหลายครั้งแล้ว และล่าสุดเมื่อวันที่ 21 เมษายนที่ผ่านมาก็เลื่อนออกไปอีก ซึ่งในวันที่ 25 เมษายนนี้ทาง รมว.พลังงานจะเรียกสมาคมเข้าไปชี้แจง ซึ่งทางสมาคมยืนยันตามมติ กกพ. ที่ยืดหยุ่นสัญญาซื้อขายไฟฟ้า จาก 90 เมกะวัตต์ ก็ลดเหลือ 40-45 เมกะวัตต์ ขณะที่ราคาขายไฟฟ้าจะลดลงมาอยู่ที่ประมาณ 3.20 บาทต่อหน่วย จากเดิมอยู่ที่ 3.80 บาทต่อหน่วย ซึ่งนับว่าเป็นปริมาณขายไฟฟ้าและราคาขายไฟฟ้าที่เอสพีพีพอรับไหว

โดยปัจจุบันโครงการรับซื้อไฟจากเอสพีพีในนิคมอุตสาหกรรม มีทั้งสิ้น 3 เฟส คือ เฟสแรก 1.78 พันเมกะวัตต์ จะเริ่มหมดอายุตั้งแต่ปี 2560 สัญญา 21 ปี ,เฟส 2 800 เมกะวัตต์ เริ่มหมดอายุปี 2567 และเฟส 3 3.5 พันเมกะวัตต์ เริ่มหมดอายุปี 2568

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,151 วันที่ 24 - 27 เมษายน พ.ศ. 2559