กกพ.ซื้อไฟจากขยะพ.ค.นี้ อุดหนุนชีวมวล Ft พุ่ง 7 สต.

26 เม.ย. 2559 | 11:00 น.
กกพ.โหมเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน ล่าสุดได้ผู้ลงทุนโซลาร์สหกรณ์ฯ แล้ว 67 ราย 281 เมกะวัตต์ พร้อมลุยต่อเปิดรับซื้อไฟฟ้าขยะชุมชน-อุตสาหกรรม 150 เมกะวัตต์ภายในพ.ค.-มิ.ย.นี้ ส่วนโซลาร์ราชการฯที่เหลือ 600 เมกะวัตต์ จะเปิดบิดดิ้งต้นปี 2560

นายวีระพล จิรประดิษฐกุล กรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในฐานะโฆษก กกพ. เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ภายหลังการจับสลากโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ติดตั้งบนพื้นที่สำหรับสหกรณ์การเกษตร จำนวน 300 เมกะวัตต์ว่า เบื้องต้นมีผู้ที่ได้สิทธิ์ในการขายไฟฟ้าจำนวน 67 ราย ประมาณการขายไฟฟ้า 281.32 เมกะวัตต์ ซึ่งกกพ.จะประกาศรายชื่ออย่างเป็นทางการในวันที่ 26 เมษายนนี้ จากนั้น กกพ.จะเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการโรงไฟฟ้าขยะชุมชนประมาณ 100 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรม 50 เมกะวัตต์ ภายในเดือนพฤษภาคม-มิถุนายนนี้ ซึ่งในส่วนของโรงไฟฟ้าขยะไม่ต้องเปิดแข่งขันประมูล(บิดดิ้ง) เป็นไปตามมติของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ที่ต้องการบริหารจัดการขยะ

โดยขณะนี้ปริมาณขยะอุตสาหกรรมมีความชัดเจนแล้วทั้งในส่วนของหลักเกณฑ์และพื้นที่ ซึ่งทางคณะทำงานได้แจ้งให้ทางนิคมอุตสาหกรรมไปคำนวณว่าหากมีโรงไฟฟ้าขยะเกิดขึ้นในนิคม จะทำให้มลพิษเพิ่มขึ้นหรือไม่ แต่ในส่วนของโรงฟ้าขยะชุมชน ต้องรอทางกระทรวงมหาดไทย(มท.) หาข้อมูลปริมาณขยะในแต่ละพื้นที่ก่อน

นอกจากนี้ภายหลังโรงไฟฟ้าขยะมีความชัดเจน ทาง กกพ.จะพิจารณาพื้นที่วางสายส่งไฟฟ้า เพื่อเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากชีวมวลและก๊าซชีวภาพทั่วประเทศอีกรอบในช่วงปลายปีนี้ จากปัจจุบันอยู่ระหว่างเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพและชีวมวล ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ4 อำเภอในจังหวัดสงขลา แบ่งเป็นโรงไฟฟ้าชีวมวล 36 เมกะวัตต์ และก๊าซชีวภาพ 10 เมกะวัตต์

นอกจากนี้ในส่วนของการเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการโซลาร์ราชการฯ เฟส 2 แบ่งเป็น โซลาร์ราชการ 400 เมกะวัตต์ และโซลาร์สหกรณ์ที่เหลืออีกกว่า 100 เมกะวัตต์ จะเปิดบิดดิ้งในช่วงต้นปี 2560 เพื่อที่จะขายไฟฟ้าเข้าระบบ(ซีโอดี) ภายในปี 2561 โดยคาดว่าสายส่งไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) จะแล้วเสร็จ สามารถรองรับพลังงานทดแทนได้ 200-400 เมกะวัตต์

นายวีระพล กล่าวอีกว่า หลังจากกระทรวงพลังงานมีมติให้ผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าชีวมวลรายเก่าสามารถปรับระบบรับซื้อไฟฟ้าจากระบบการให้เงินส่วนเพิ่มรับซื้อไฟฟ้า(แอดเดอร์) มาเป็นระบบการสนับสนุนอัตราค่าไฟตามต้นทุนที่แท้จริง(ฟีดอินทาริฟ) ประมาณ 204 โครงการ ซึ่งผู้ประกอบการจะทยอยตัดสินใจว่าจะเปลี่ยนเป็นฟีดอินทาริฟหรือไม่ โดยในส่วนนี้คาดว่าจะกระทบต่อค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ(เอฟที) 7.04 สตางค์ต่อหน่วย

แหล่งข่าวกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ปัจจุบันขั้นตอนการพิจารณาเปลี่ยนจากแอดเดอร์เป็นฟีดอินทาริฟของผู้ผลิตไฟฟ้าชีวมวลรายเก่า ทางกระทรวงพลังงานได้ส่งไปให้ กกพ. แล้ว ซึ่งเบื้องต้นตัวเลขที่ทางคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาโรงไฟฟ้าชีวมวล ได้ส่งตัวเลขโดยจะให้อัตราฟีดอินทาริฟโรงไฟฟ้าชีวมวลที่ 4.24-5 บาทต่อหน่วย อาทิ หากเป็นผู้ผลิตรายเล็กที่น้อยกว่า 1 เมกะวัตต์ จะอยู่ที่ประมาณ5 บาทต่อหน่วย บวกค่าพรีเมียม 30 สตางค์ต่อหน่วย ส่วนรายที่มีกำลังการผลิตมากกว่า 3 เมกะวัตต์ขึ้นไป จะอยู่ที่ 4.24 บาทต่อหน่วย บวกค่าพรีเมียมอีก30 สตางค์ต่อหน่วย

สำหรับระยะเวลาการให้ฟีดอินทาริฟ ปกติจะกำหนดให้ 20 ปี แต่กรณีของกลุ่มโรงไฟฟ้าชีวมวลเก่าดังกล่าวจะให้ระยะเวลาฟีดอินทาริฟที่แตกต่างกัน โดย 1.ต้องหักระยะเวลาที่ขายเข้าระบบ(ซีโอดี)ไปแล้ว และ2. หักระยะเวลาตามสัดส่วนการผลิต ซึ่งเป็นไปตามสูตรคำนวณของสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) โดยเฉลี่ยจะหักเวลาอีก27-56 เดือน อาทิ หากผลิตไฟฟ้าขายเข้าระบบไปแล้ว 1 ปีจะต้องตัดวันรับฟีดอินทาริฟ ออกไป 56 เดือน เป็นต้น โดยสาเหตุที่ต้องหักระยะเวลาการให้ฟีดอินทาริฟนั้น เนื่องจากเป็นมาตรการป้องกันไม่ให้เกิดการเอาเปรียบภาครัฐและกลายเป็นภาระค่าไฟฟ้ากับประชาชน เพราะที่ผ่านมาผู้ประกอบการดังกล่าวได้รับประโยชน์จากระบบแอดเดอร์ไปแล้ว
Photo : Pixabay
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,151 วันที่ 24 - 27 เมษายน พ.ศ. 2559