หุ้นกู้ต่อคิวไถ่ถอน 7.33 แสนล้าน

08 เม.ย. 2564 | 21:20 น.

หุ้นกู้ต่อคิวไถ่ถอน ปี64 กว่า 7.33 แสนล้านบาท ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่ม AAA ถึง BBB- ส่วนกลุ่มที่ตํ่ากว่าระดับน่าลงทุน BB+ ถึง D กว่า 7 หมื่นล้านบาท และไม่จัดเรตติ้งอีก 8.44 หมื่นล้านบาท “ทีเอ็มบี-ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” ประเมินธุรกิจรายใหญ่ มีโอกาสระดมสภาพคล่องเพิ่ม กดสินเชื่อโตเพีียง 6% จากปีก่อน 12%

TMB Analytics ธนาคาร ทหารไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทีเอ็มบีประเมินว่า ปี 2564 จะมีหุ้นกู้ที่ครบกำหนดชำระหนี้รวม 7.33 แสนล้านบาท โดยกว่า 5.79 แสนล้านบาทอยู่ในกลุ่มลงทุนที่มี เรตติ้งตั้งแต่ AAA จนถึง BBB- โดยแบ่งเป็นหุ้นกู้กลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง 1.48 แสนล้านบาท ธุรกิจการเงิน 1.33 แสนล้านบาท อื่นๆ 9.4 หมื่นล้านบาท กลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร 8.9 หมื่นล้านบาท พลังงาน 6.2 หมื่นล้านบาท บริการ 4.9 หมื่นล้านบาท และท่องเที่ยว 980 ล้านบาท 

ส่วนกลุ่มที่มีเรตติ้งตํ่ากว่าระดับน่าลงทุน(Non-Investment) หรือตั้งแต่ BB+ ลงมาถึง D มีประมาณกว่า 7 หมื่นล้านบาท และกลุ่มที่ไม่ได้จัดเรตติ้ง(Non-rated) อีกราว 8.4 หมื่นล้านบาท 

ขณะที่ศูนย์วิจัย กสิกรไทยระบุว่า ปีนี้จะมีหุ้นกู้ที่ครบกำหนดรวม 675,185 ล้านบาท โดยเป็นหุ้นกู้ระยะสั้น 149,995 ล้านบาท ที่เหลือเป็นหุ้นกู้ระยะยาว 525,190 ล้านบาท และครบกำหนดอีก 662,230 ล้านบาทในปี 2565 ขณะที่ค่าชดเชยความเสี่ยง(Credit Spread) ในตลาดหุ้นกู้ยังไม่กลับมาเป็นปกติ และภาระดอกเบี้ยจ่ายของหุ้นกู้เอกชนมีความแตกต่างกันตามอันดับความน่าเชื่อถือ(Credit Rating)ของแต่ละประเภทธุรกิจ และความสามารถในการชำระคืนโดยพิจารณาจากประเภทธุรกิจที่มีโอกาสจะฟื้นตัว

หุ้นกู็เอกชนที่จะครบอายุในปี2564

ยกตัวอย่าง พันธบัตรรัฐบาลอายุ 10ปี อัตราผลตอบแทน(Bonds Yield)อยู่ที่ 1.87% ต่อปี ส่วนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 5ปี Bonds Yield จะอยู่ที่ 1.1%ต่อปี ซึ่งหากเอกชนต้องการออกหุ้นกู้ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือที่ระดับ BBB+ จะทำให้หุ้นกู้ที่จะออกมีต้นทุนที่ 4.31%ต่อปี  โดยคำนวณจากดอกเบี้ยในอัตรา 1.1% ต่อปี บวก Credit Spread อีกประมาณ 3.21%)

อย่างไรก็ตามหากเทียบกับดอกเบี้ยสำหรับสินเชื่อปล่อยใหม่ กรณีวงเงินกู้ 500 ล้านบาท ดอกเบี้ยอยู่ที่ประมาณ 3%ต่อปี ซึ่งอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวถือว่า เป็นอัตราถูกเมื่อเทียบกับช่วงไตรมาส2 ของปีก่อน โดยอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับเกินกว่า 3% และบางเดือนดอกเบี้ยดอกเบี้ยจะอยู่ในอัตรา 3.2%

“ปัจจุบันแม้ว่า Credit Spread จะปรับลดลงมาแล้ว แต่ยังถือว่าไม่ปกติ โดยภาคธุรกิจรายใหญ่ที่มี Credit Rating ดีจะมีโอกาสหาสภาพคล่องได้ด้วยต้นทุนที่ไม่สูง ทั้งจากการระดมทุนออกหุ้นกู้และการใช้สินเชื่อของธนาคาร แต่เอกชนที่เรตติ้งระดับ A ลงมา หรือ BB โอกาสที่จะออกหุ้นกู้ในปีนี้จะยากจากยีลด์ที่แพงขึ้น ซึ่งต่างจากปีก่อนที่เอกชนออกหุ้นกู้ได้ยาก เพราะสถานการณ์ตลาดเงินตลาดทุนโลก จึงจะเห็นภาคเอกชนหันมาใช้สินเชื่อมากกว่าออกหุ้นกู้ในปีก่อน”ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุ 

นายนริศ สถาผลเดชา หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหารTMB Analytics เปิดเผยกับกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า แนวโน้มการระดมทุนปีนี้ น่าจะยังคงมีอยู่ เพื่อทดแทนตราสารหนี้ที่ครบอายุ แม้ว่าภาคธุรกิจจะหันมาใช้สินเชื่อธนาคาร โดยสินเชื่อรายใหญ่ยังมีโอกาสเติบโต 5-6% ชะลอลงจากปีก่อนที่ขยายตัว 12% แต่ด้วยกองทุนที่ยังอยู่ในระดับค่อนข้างสูง โอกาสที่จะระดมทุนเหมือนปีก่อน ซึ่งส่วนใหญ่ระดมทุนเป็นสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ เพื่อใช้ในการขยายธุรกิจ หรือ ระดมทุนเป็นตราสารทางการเงิน (Additional Tier 1:AT1) เพิ่มเสริมเงินกองทุนชั้นที่1 จะน้อยลง 

ทั้งนี้ AT1 เป็นตราสารที่มีความซับซ้อนสูง จึงต้องไประดมทุนสกุลดอลลาร์ในต่างประเทศ แต่ปีนี้การระดมทุนสกุลเงินดอลลาร์จะมีต้นทุนแพงขึ้น เพราะอัตราดอกเบี้ยดอลลาร์ (Yield Curve)เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการจะระดมทุนเป็นสกุลดอลลาร์สหรัฐ โดยไม่มีวัตถุประสงค์เพื่อนำไปใช้ในการปล่อยสินเชื่อเป็นสกุลดอลลาร์หรือเพื่อซื้อกิจการ หรือเพื่อการลงทุน จึงไม่คุ้มที่จะระดมทุนเป็นสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ”นายนริศกล่าว

อย่างไรก็ตาม ช่วง 3ปีที่ผ่านมา (ปี2561-ปัจจุบัน) ธนาคารพาณิชย์ 5 แห่งได้ออกตราสารทางการเงินในสกุลต่างประเทศ(ดอลลาร์สหรัฐ) 10,882 ล้านดอลลาร์ฯ หรือประมาณ 3.3 แสนล้านบาท ส่วนใหญ่มีวัตถุประสงค์เพื่อซื้อกิจการหรือขยายธุรกิจในต่างประเทศ ส่วนหนึ่งออกเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 โดยออกเป็น AT1 เช่น ธนาคาร กรุงเทพ 6,300 ล้านดอลลาร์ฯ กสิกรไทย 1,415 ล้านดอลลาร์ฯ ทีเอ็มบี 1,337 ล้านดอลลาร์ฯ ไทยพาณิชย์ 1,000 ล้านดอลลาร์ฯ และกรุงไทย 830 ล้านดอลลาร์ฯ

นายนริศกล่าวต่อว่า การระดมทุนเป็นสกุลดอลลาร์ในต่างประเทศ เป็นการระดมทุนค่อนข้างแพง (4.4%) ซึ่งปกติธนาคารพาณิชย์จะมีแหล่งเงินกู้หลักและต้นทุนตํ่า (ไม่ถึง1.00%) แต่สามารถระดมทุนสกุลดอลลาร์เป็นแหล่งทุนหลักอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการทำสว็อปกับธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) หรือธนาคารพาณิชย์ด้วยกัน แต่ระยะเวลาสั้น เพียง 1-3 เดือน ซึ่งต้นทุนตํ่า แต่การระดมทุนของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ ส่วนใหญ่เพื่อดำเนินกิจการ หรือทดแทนส่วนที่หมดอายุลง รวมทั้งปรับโครงสร้างเงินกองทุน แต่เรื่องเงินกองทุนของกลุ่มแบงก์ไม่ได้เป็นประเด็นทั้งเงินกองทุนขั้นที่1 (CET1)และCARอยู่ในระดับสูง ดังนั้นเรื่องเงินกองทุน จึงไม่เป็นประเด็นเพราะ เป็นการระดมทุนเพื่อลงทุนแบบ Strategic Movement และยังจ่ายปันผลได้ 3-4% 

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,668 วันที่ 8 - 10 เมษายน พ.ศ. 2564