แบงก์คุมเสี่ยงรับศก.ผันผวน เน้นพยุงลูกค้าเก่า/เข้มสินเชื่อใหม่หลัง NPLทั้งระบบขยับ

27 เม.ย. 2559 | 03:30 น.
แบงก์ประเมินเศรษฐกิจยังไม่นิ่ง เน้นบริหารธุรกิจแบบรัดกุม ด้าน "ซีไอเอ็มบี ไทย" ขอพยุงลูกค้าเก่า-เข้มสินเชื่อใหม่/ควบคุมค่าใช้จ่าย เชื่อพาธุรกิจข้ามความผันผวน เผยเห็นเอ็นพีแอลทั้งระบบขยับขึ้น 0.3-0.4% ไม่แปลกยังจัดการได้ ส่วน "กสิกรไทย" ชูนโยบายปรับแผนธุรกิจตามตลาด-อุ้มลูกค้า พร้อมกั้นสำรองให้เหมาะสม ลั่นเศรษฐกิจฟื้นเอ็นพีแอลลดเอง

[caption id="attachment_47837" align="aligncenter" width="350"] ดร.สุภัค ศิวะรักษ์  กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร  ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) ดร.สุภัค ศิวะรักษ์
กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน)[/caption]

ดร.สุภัค ศิวะรักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) (บมจ.) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจรอบโลกที่ยังไม่เอื้ออำนวย แผนธุรกิจของสถาบันการเงินในช่วงเวลาตอนนี้ จะมีหลักบริหาร 4 ข้อสำคัญ คือ 1.จะต้องเน้นการดูแลลูกค้าให้ดี เพราะคุณภาพของสินเชื่อจะดีหรือไม่ขึ้นอยู่ลูกค้าเป็นหลัก 2.ควรส่งเสริมหรือหาธุรกรรมที่ช่วยลดความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นกับธุรกิจของลูกค้า รวมถึงธนาคารเองก็ต้องลดธุรกรรมที่มีความเสี่ยงเช่นกัน และ 3.ในภาวะที่อัตราดอกเบี้ยไม่สูงมาก ธนาคารจำเป็นต้องเสนอผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย เพื่อให้ลูกค้ากระจายการลงทุน เพื่อให้ได้ผลตอบแทนตามที่ลูกค้าต้องการ ในขณะเดียวกันธนาคารก็ได้รายได้ค่าธรรมเนียมจากการขายผลิตภัณฑ์ต่างๆ ด้วย ส่วน 4.การควบคุมค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น

สำหรับการเติบโตสินเชื่อในไตรมาสที่ 2 แนวโน้มจะมาจากสินเชื่อขนาดใหญ่ และธุรกรรมการค้าระหว่างประเทศ (Trade Finance) ส่วนสินเชื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) จะเห็นพอร์ตสินเชื่อค่อนข้างนิ่งไม่ขยายตัว เนื่องจากมีลูกค้าชำระคืน (Re-Payment) ขณะที่สินเชื่อปล่อยใหม่ชะลอ ทำให้สินเชื่อเอสเอ็มอีปรับลดลง ส่วนสินเชื่อรายย่อยยังขยายตัวได้ แต่อาจต้องเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้น

ขณะที่คุณภาพสินเชื่อ อาจจะต้องพิจารณาดูเป็นพอร์ตและเซ็กเตอร์ โดยพอร์ตธุรกิจขนาดใหญ่ ถือว่ายังมีคุณภาพและศักยภาพการเติบโตได้ดี ส่วนธุรกิจเอสเอ็มอีค่อนข้างเหนื่อย และต้องให้ความช่วยเหลือลูกค้าอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากธุรกิจเอสเอ็มอีส่วนใหญ่เป็นบริษัทขนาดกลางที่มีฐานเงินทุนไม่แข็งแรงเมื่อเทียบกับรายใหญ่ ตลอดจนสภาพคล่องมีแนวโน้มตึงตัว เพราะบางรายไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนจากสถาบันการเงินได้ ซึ่งธนาคารต้องให้ความช่วยเหลือ หากเป็นปัญหาชั่วคราวก็ช่วยเหลือในการประคับประคอง หากเป็นปัญหาใหญ่อาจจะต้องช่วยเหลือในการปรับโครงสร้างหนี้ ส่วนสินเชื่อรายย่อย จะเป็นเรื่องการพิจารณาการอนุมัติสินเชื่อใหม่ ที่จะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้น

ดังนั้น ภาพรวมจะเห็นแนวโน้มหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ในเชิงระบบโดยรวมมีทิศทางขยับเพิ่มขึ้น โดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นประมาณ 0.3-0.4% จากปัจจุบันทั้งระบบอยู่ที่ 2.9% ภายในสิ้นปีนี้อาจเห็นอยู่ที่ระดับ 3.4-3.5% อย่างไรก็ดี ระดับเอ็นพีแอลดังกล่าวถือว่าไม่ได้สูงจนเกินไป แต่เป็นการขยับขึ้นไปตามสภาวะที่เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัว โดยหน้าที่ของธนาคารจะเป็นเรื่องของกลไกการตั้งสำรองให้เพียงพอกับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

"ตอนนี้สิ่งสำคัญของแผนธุรกิจธนาคาร คือการดูแลลูกค้าอย่างใกล้ชิด และให้ความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง โดยที่ควบคุมคุณภาพสินเชื่อให้มีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ดี ในภาวะที่เศรษฐกิจไม่ดีนักเป็นเรื่องธรรมดาที่เอ็นพีแอลต้องขยับขึ้นตามภาวะ แต่ไม่ได้น่าห่วงมากนัก"

นายบัณฑูร ล่ำซำ ประธานกรรมการ บมจ.ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า การดำเนินธุรกิจธนาคารพาณิชย์ภายใต้เศรษฐกิจที่ชะลอตัวทั้งในประเทศและต่างประเทศ ธนาคารจะมีการบริหารความเสี่ยงและปรับเงื่อนไขไปตามจังหวะ โดยจะมีการประเมินเป็นอุตสาหกรรมและภาพรวมธุรกิจ อย่างไรก็ดี ธนาคารจะต้องสนับสนุนการทำธุรกิจของลูกค้าอย่างเต็มที่ และพร้อมที่จะผ่อนคลายและช่วยเหลือในช่วงจังหวะที่ลูกค้ามีปัญหา แต่ต้องยอมรับว่าในภาวะที่เศรษฐกิจไม่ดี ปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) อาจขยับเพิ่มขึ้นเป็นเรื่องปกติ ซึ่งสิ่งที่ธนาคารจะทำได้และรับมือ คือ การกั้นสำรองที่เหมาะสมให้สอดคล้องกับธุรกิจและภาวะเศรษฐกิจในช่วงนั้น หากเศรษฐกิจดีขึ้นหนี้เอ็นพีแอลจะทยอยปรับลดลง

นางอรนุช อภิศักดิ์ศิริกุล ประธาน เจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มทิสโก้ เปิดเผยว่า กลุ่มทิสโก้พิจารณาตั้งค่าใช้จ่ายสำรองหนี้สูญเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ตามนโยบายการตั้งสำรองอย่างระมัดระวังในสภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน โดยเอกสารเผยแพร่ของทิสโก้ระบุว่า ไตรมาส1/2559 บริษัทมีอัตราส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวมอยู่ที่ 3.07% ลดลงจาก 3.23% สิ้นปี 2558 โดยเอ็นพีแอลของรายย่อยมีอัตรา 3.18% เอ็นพีแอลของสินเชื่อธุรกิจมีอัตรา 2.87% และเอสเอ็มอีมีอัตรา 2.58% ซึ่งเอ็นพีแอลปรับลดลงจากไตรมาสก่อนหน้าจากการปรับตัวดีขึ้นของคุณภาพสินเชื่อ(เช่าซื้อและธุรกิจ)โดยเอ็นพีแอลทั้งหมดมีจำนวน 7,158.09 ล้านบาทลดลง 542.74 ล้านบาทหรือ 7% แบ่งเป็นของธนาคาร 6,431.12 ล้านบาทและบริษัทย่อยอื่น 726.97 ล้านบาททั้งนี้ธนาคารสามารถตั้งสำรองหนี้สูญส่วนเกินเพิ่มขึ้น 520 ล้านบาทเพื่อรองรับความผันผวนทางธุรกิจ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,151 วันที่ 24 - 27 เมษายน พ.ศ. 2559