TMB Analytics คาดรายได้ภาคเกษตรปี 64 พุ่ง 8.96 แสนล้าน

07 มี.ค. 2564 | 02:56 น.

TMB Analytics คาดรายได้ภาคเกษตรปี 64 เพิ่ม 2.9% จาก 8.75 แสนล้านบาท เป็น 8.96 แสนล้านบาท จากแนวโน้มราคาเพิ่มขึ้น 1.4% จากปีก่อน

ปีที่ผ่านมา สถานการณ์ ภาคเกษตรไทย ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 น้อยกว่าภาคเศรษฐกิจอื่นๆ เพราะเป็นวัตถุดิบสำคัญในสินค้าเพื่อบริโภคอุปโภค จึงเป็นปัจจัยที่ช่วยพยุงให้ความต้องการของสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้น และทำให้ราคาสินค้าเกษตรปรับขึ้นเป็นส่วนใหญ่ สร้าง รายได้ภาคเกษตร ไทยกว่า 8.75 แสนล้านบาท

 

สำหรับภาพรวมสถานการณ์ของภาคเกษตร ปี 2564 ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics คาดว่า รายได้ภาคเกษตร จะเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 2.9% หรือมีรายได้รวมที่ 8.96 แสนล้านบาท  จากแนวโน้ม ราคาสินค้าเกษตร ที่ยังคงขยายตัวจากปีก่อนที่ 1.4% จากความต้องการสินค้าเกษตรในตลาดโลกและราคาน้ำมันที่สูงขึ้นกว่าปีก่อน

 

ขณะที่ผลผลิตจะเพิ่มขึ้น 1.5% จากปีก่อนนี้ จากอานิสงส์ปรากฏการณ์ลานีญา (La Nina) ที่ส่งผลให้ปริมาณน้ำฝนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตั้งแต่เดือน มิ.ย.-ส.ค. ปี 2563 ซึ่งเป็นผลดีต่อการปลูกพืชในช่วงฤดูกาลผลิต ขณะที่ช่วงต้นปี บางพื้นที่อาจจะมีน้ำไม่เพียงพอใช้ เนื่องจากปริมาณน้ำในเขื่อนที่ลดต่ำลงในช่วงต้นปี 2564 โดยเฉพาะในเขตภาคเหนือและภาคกลางตอนบน ส่งผลให้ช่วงนี้ ผลผลิตของการปลูกพืชในเขตชลประทานมีแนวโน้มลดลง  

ทั้งนี้หากเจาะลึกลงไปในด้านอุปทานพบว่า สถานการณ์ผลผลิตการเกษตรในระดับภูมิภาค ตามการประเมินของกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า ปริมาณน้ำฝนทั้งประเทศปีนี้จะมากกว่าค่าปกติ 10-15% โดยคาดว่า ปรากฏการณ์ลานีญาจะกลับมาอีกครั้ง และทำให้ปริมาณฝนตกมากขึ้นตั้งแต่เดือน มี.ค.-ส.ค. ซึ่งดีกว่าปีก่อนที่ฝนตกน้อยกว่าค่าปกติถึง 20% โดยภูมิภาคที่ได้รับอานิสงส์จากปริมาณน้ำฝนมากที่สุดคือ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้ฝั่งตะวันตก

 

แนวโน้มสินค้าเกษตรไทยปี 2564

 

สำหรับสินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มดี ในปี 2564 คือ เนื้อสัตว์ สุกร และไก่ แนวโน้มราคาเพิ่มขึ้นจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ เช่น คนละครึ่ง และเราชนะ การขยายตัวของการส่งออกลูกสุกรไปประเทศเพื่อนบ้านทดแทนสุกรที่ได้รับผลกระทบจากโรคอหิวาต์สุกร (African Swine Fever) และส่งออกเนื้อแปรรูปไปยังฮ่องกง และจีนที่เติบโตขึ้น จะเป็นปัจจัยสนับสนุนต่อเนื่องในช่วงครึ่งปีหลัง ทำให้รายได้จะเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 9%

ส่วนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ แนวโน้มเพิ่มขึ้นจากความต้องการใช้เพื่อผลิตอาหารสัตว์ จากความต้องการบริโภคเนื้อสัตว์ที่เพิ่มขึ้นจากในประเทศและส่งออก ภาพรวมคาดการณ์ว่ารายได้จะเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 4.1%  และยางพารา แนวโน้มราคาเพิ่มขึ้นจากความต้องการใช้ยางพาราจากทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การใช้ยางเพื่อผลิตถุงมือทางการแพทย์จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังมีอยู่ ในภาพรวมคาดการณ์ว่ารายได้จะเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 3.3%

 

ส่วนสินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มทรงตัวคือ ข้าว ที่ผลผลิตปีนี้คาดว่า จะสูงกว่าปีที่ผ่านมา ขณะที่ความสามารถในการแข่งขันราคาส่งออกข้าวไทยลดลงจากเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น ทำให้คาดการณ์ว่า รายได้จากข้าวจะเพิ่มขึ้นเฉลี่ยที่ 2.7% จากผลผลิตที่เพิ่มขึ้นเป็นหลัก  มันสำปะหลัง ราคามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามปริมาณผลผลิตมันสำปะหลังมีแนวโน้มชะลอตัว คาดว่ารายได้จะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยที่ 1.8%

 

ขณะที่ปาล์มน้ำมัน ระดับราคายังมีสูงต่อเนื่องจากปีก่อน อานิสงส์จากอุปสงค์ตลาดในประเทศเพิ่มขึ้นจากนโยบายใช้ดีเซล B10 เป็นน้ำมันดีเซลมาตรฐาน และอุปสงค์เพื่อนำไปใช้ทำอาหารปรับตัวดีขึ้น ในขณะที่ผลผลิตอยู่ในระดับใกล้เคียงจากปีก่อน จึงคาดว่า รายได้จะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยที่ 1.3% อ้อยคาดว่า รายได้จากอ้อยและน้ำตาลจะลดลงเฉลี่ย 0.6%  และอาหารทะเลคาดว่า รายได้ในกลุ่มนี้จะลดลงเฉลี่ย 1.8%

 

“โครงสร้างตลาดสินค้าเกษตรไทยส่วนใหญ่ยังพึ่งพาตลาดส่งออก ซึ่งมีการแข่งขันสูง และค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นในปี 2564 จึงเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ลดทอนความสามารถในการแข่งขันของสินค้าเกษตรไทย แต่หากสามารถควบคุมระดับอุปทานให้มีปริมาณที่เหมาะสมและต้นทุนที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงนโยบายประกันราคาจากภาครัฐ จะช่วยให้สินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์เกษตรแปรรูปหล่อเลี้ยงเกษตรกรและเศรษฐกิจภายในประเทศได้”

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: