คลังยันบอนด์ยีลด์พุ่งไม่กระทบต้นทุนกู้

07 มี.ค. 2564 | 20:00 น.

คลังยัน บอนด์ยีลด์ไทยพุ่งตามสหรัฐ ไม่กระทบต้นทุนกู้รัฐ เหตุสบน.มีเครื่องมือเยอะ เดินหน้าตามแผนกู้เดิม ด้านสมาคมตราสารหนี้แจงเงินยังไหลออกจากตราสารหนี้ เชื่อเงินจะไหลกลับ เมื่อรับข่าวพอแล้ว

ผลพวงจากเม็ดเงินมหาศาลที่รัฐบาลกลางทั่วโลกอัดฉีด เพื่อช่วย เยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจ ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยเฉพาะสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มว่า จะได้รับอนุมัติงบประมาณสูงถึง 1.9 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯเร็วกว่ากำหนด ทำให้เม็ดเงินจำนวนมากไหลไปลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง ส่งผลต่อราคาสินทรัพย์เสี่ยงปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องและเริ่มส่งผลไปถึง อัตราเงินเฟ้อ ที่ขยับตัวขึ้น  

 

ผลดังกล่าวทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตร (บอนด์ยีลด์) ระยะยาวของสหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้นทำให้บอนด์ยีลด์ทั่วโลกปรับขึ้นตามรวมถึงบอนด์ยีลด์ของไทยที่สูงขึ้นจนเกรงว่า จะกระทบต่อการกู้เงินของรัฐบาล 

 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า บอนด์ยีลด์สหรัฐ อายุ 10 ปี ที่ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 1.85% จากสิ้นปีก่อนอยู่ที่ 1.3% จะส่งผลต่อการระดมทุนใน ตลาดตราสารหนี้ไทย ที่บอนด์ยีลด์เริ่มทยอยปรับเพิ่มขึ้นตาม โดยเฉพาะตราสารหนี้ไทยที่จะออกมาใหม่ ในช่วงที่เหลือ จะมีประเด็นต้นทุนที่ปรับเพิ่มขึ้นตามบอนด์ยีลด์ ซึ่งตราสารหนี้ไทยที่ออกมาใหม่ มักกำหนดการจ่ายดอกเบี้ยปีละ 2 ครั้ง ดังนั้น ตราสารหนี้ออกใหม่ในอีก 6 เดือนจะมีภาระต้นทุนเพิ่ม ซึ่งอาจจะลดความเสี่ยงต่อภาระต้นทุนดังกล่าว โดยการออกตราสารหนี้ระยะสั้นแทนตราสารหนี้ระยะยาว เช่น อายุไม่ถึง 1 ปี หลังจากนั้นสามารถต่ออายุหรือ roll over ได้

 

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงการคลัง เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า  ไม่น่าจะกระทบต่อ ต้นทุนการกู้เงินของรัฐบาล ได้ ซึ่งสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) บริหารเรื่องนี้อยู่แล้ว ส่วนการจะโยกเงินกู้ตามพระราชกำหนด(พ.ร.ก.)เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ในส่วนของการฟื้นฟูเศรษฐกิจมาใช้ เพื่อการเยียวยาจะทยอยโนกมาใช้ตามความจำเป็น ไม่ได้ระบุว่าจะใช้เป็นจำนวนเท่าใดและมั่นใจว่า จะไม่กระทบต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจ เพราะการเยียวยาประชาชนเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วนอยู่แล้ว

 

แผนการบริหารหนี้สาธาณะปีงบประมาณ2564

สอดคล้องกับนางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการ สบน.กล่าวว่า บอนด์ยีลด์สหรัฐ อายุ 10 ปีที่ปรับตัวขึ้นสูง ส่งผลให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี ของไทยปรับตัวขึ้นตาม แต่เชื่อว่าจะไม่ทะลุ 2% และยังต้องรอติดตามการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐ (QE) อีกครั้งว่า จะส่งผลอย่างไรเพื่อดูผลว่า การปรับขึ้นของบอนด์ยีลด์ครั้งนี้ เป็นการปรับขึ้นเพื่อปรับฐานหรือไม่ ส่วนการออกตราสารหนี้ภาคเอกชน ขณะนี้มีนักวิเคราะห์จากหลายแห่งได้ออกมาประเมินสถานการณ์และอาจปรับเป็นการออกตราสารหนี้ระยะสั้นมากขึ้น 

แพตริเซีย มงคลวนิช

 

“แผนการกู้เงินของรัฐบาลไทยผ่านการออกบอนด์ยังคงแผนเดิม ซึ่งในการระดมทุนสบน. มีหลายเครื่องมือที่สามารถผสมผสานกันได้ และการออกบอนด์แต่ละครั้ง จะมีทีมวิเคราะห์สถานการณ์และความเหมาะสมของช่วงเวลา” ผอ.สบน. กล่าว

 

ด้านนางสาวอริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทยกล่าวกับ“ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ปัจจุบันบอนด์ยีลด์ทั่วโลกปรับเพิ่มขึ้นตามบอนด์ยีลด์สหรัฐที่ขยับขึ้นอยู่ในระดับสูง จากความคาดหวังเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น หลังเศรษฐกิจสหรัฐฟื้นตัวดีจากการเริ่มฉีดวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 และสัญญาณตัวเลขเศรษฐกิจดีขึ้น แต่ของไทยไม่มีประเด็นหลักเรื่องของเงินเฟ้อและเศรษฐกิจยังไม่ฟื้น จึงเป็นการปรับเพิ่มขึ้นตามกระแสของบอนด์ยีลด์สหรัฐเท่านั้น

อริยา ติรณะประกิจ

 

อย่างไรก็ตาม ในช่วงนี้กระแสเงินทุนจากนักลงทุนต่างชาติยังไหลออกจากตลาดตราสารหนี้ โดยตั้งแต่ต้นปีถึงวันที่ 1 มีนาคม 2564 นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 4,600 ล้านบาท ซึ่งเป็นปริมาณที่ไม่มาก และเชื่อว่า เมื่อตลาดเริ่มซึมซับประเด็นข่าวไปมากพอแล้ว จะส่งผลให้บอนด์ยีลด์สหรัฐกลับมาลดลงอีก ซึ่งไทยจะลดลงตาม ทำให้นักลงทุน จึงมีทั้งเข้าซื้อและขายออกในตราสารหนี้ได้

 

ทั้งนี้ การขยับขึ้นของบอนด์ยีลด์ไทย อายุ 10 ปี อยู่ที่ 1.70% โดยใน 1 ปี ปรับเพิ่มขึ้น 0.50 บาท ส่งผลต่อต้นทุนการออกตราสารหนี้ทั้งรัฐบาลและเอกชนที่ใช้อัตราอ้างอิงบอนด์ยีลด์ อายุ 10 ปี แต่ยังเป็นระดับที่ตํ่า เพราะในอดีตเคยปรับขึ้นสูงกว่านี้ จึงไม่เป็นอุปสรรคต่อการออกตราสารหนี้ ซึ่งการออกพันธบัตรของรัฐบาลนั้น มองว่า หากรัฐบาลจำเป็นที่จะต้องกระตุ้นเศรษฐกิจ ไม่ต้องออกพันธบัตรรัฐบาลก็ได้ เนื่องจากมีเครื่องมือรองรับหลายวิธี ส่วนการออกหุ้นกู้เอกชน อาจจะต้องรอดูจังหวะที่อยู่ในช่วงนิ่ง และไม่ผันผวนมาก  

 

นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ หัวหน้าทีม กลยุทธ์การลงทุน EASY INVEST บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์( SCBS)กล่าวว่า บอนด์ยีลด์สหรัฐในอนาคตมีระดับที่ต้องจับตาคือ 2% และ 3% ซึ่งหากยีลด์ปรับตัวขึ้นด้วยความเร่งปัจจุบัน จะเจอบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ อายุ 10 ปี ที่ 2.0% ในเดือนมิถุนายนนี้และเป็นระดับที่เห็นในช่วงปลายปี 2563 ก่อนวิกฤตโควิด-19 ซึ่งสะท้อนว่า นักลงทุนกลับมารับความเสี่ยงได้ “เท่ากับ” ช่วงปกติแล้ว เงินลงทุนที่เคยหลบความเสี่ยงได้กลับเข้าตลาด 

ดร.จิตติพล พฤกษาเมธานันท์

อย่างไรก็ดี บอนด์ยีลด์ระดับ 2.0% ไม่ได้น่ากังวลมาก เพราะหากเทียบด้วย Earning Yield ของ S&P 500 ที่ 4.6% (P/E 22เท่า) ยังมีส่วนต่างอยู่ถึง 2.6% ไม่ถือว่าน้อยเกินไป ทิศทางของตลาดน่าพุ่งเป้าไปที่การย้ายจากกลุ่ม Technology และ Growth ไปที่ Value นำโดย Energy Service และ Finance ตามภาพ Reo pening เป็นหลัก และเชื่อว่าบอนด์ยีลด์จะไปไม่ถึงที่ระดับ 3.00% 

 

ที่มา : หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,659 วันที่ 7 - 10 มีนาคม พ.ศ. 2564