ชสอ.แจงสมาชิกยันการบินไทยไม่ลดหนี้หุ้นกู้

02 มี.ค. 2564 | 11:56 น.

ชสอ.แจงสมาชิกยันการบินไทยไม่ลดหนี้หุ้นกู้-พลิกทำกำไรใน 5ปี –ลดต้นทุนพนักงานลงอย่างมาก เหลือ 13% จาก 23%

ชสอ.แจงสมาชิกยันการบินไทยไม่ลดหนี้หุ้นกู้-พลิกทำกำไรใน 5ปี –ลดต้นทุนพนักงานลงอย่างมาก เหลือ 13% จาก 23%  เปิดทางแปลงหนี้เป็นทุน วงเงินใหม่ 5 หมื่นล้านอุดเลือดไหลและเสริมแกร่ง โดยยืนยันไม่มีการแฮร์คัทหุ้นกู้ทุกตัว พร้อมยืดหนี้ออกไปรุ่นละ 6 ปี จ่ายดอกเบี้ย 1.5%

พลตำรวจโท วิโรจน์ สัตยสัณห์สกุล ประธานกรรมการชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์ ( ชสอ. ) กล่าวเปิดการประชุม “การฟื้นฟูกิจการบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ในนามของ ชสอ. โดยมีคณะกรรมการติดตามการแก้ไขปัญหาหุ้นกู้ฯ ประกอบด้วย ผู้แทนสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย ชุมนุมสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนแห่งประเทศไทย จำกัด สหกรณ์ออมทรัพย์การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย สหกรณ์ออมทรัพย์พนักงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค สหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สหกรณ์ออมทรัพย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสหกรณ์ออมทรัพย์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พร้อมด้วยสหกรณ์ออมทรัพย์พนักงานบริษัทการบินไทย ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาร่วมกับขบวนการสหกรณ์ โดยเชิญกรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมบังคับคดี มาชี้แจงทำความเข้าใจเกี่ยวกับขั้นตอนการฟื้นฟูกิจการ ของบริษัทการบินไทย

ทั้งนี้ ได้มีการจัดจ้างบริษัทที่ปรึกษาด้านกฎหมาย โดย ชสอ.สนับสนุนค่าใช้จ่าย เพื่อช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกในการจัดทำคำร้องขอรับชำระหนี้ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์   หลังจากที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการและประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วนั้น  โดยยืนยันว่าได้ร่วมประชุมเจรจาต่อรองแผนฟื้นฟูกิจการกับผู้บริหารบริษัทการบินไทยหลายครั้ง เพื่อคงใว้ซึ่งข้อเสนอที่ได้แจ้งต่อสหกรณ์ตลอดมาว่าจะดูแลสิทธิประโยชน์ของสหกรณ์อย่างเต็มที่ทั้งในส่วนเงินต้น ดอกเบี้ย และไม่มีการแฮร์คัทเด็ดขาด

อย่างไรก็ตาม การประชุมกับบริษัทการบินไทย ครั้งสุดท้าย  คือ วันสหกรณ์แห่งชาติ  26 กุมภาพันธ์ 2564 และในวันที่ 1 มีนาคา 2564 ได้มีการเชิญผู้แทนสหกรณ์มาประชุมเพื่อให้สหกรณ์ได้รับประโยชน์มากที่สุด โดย มีเข้าร่วมประชุมกว่า 100 คน

ด้าน ผศ.ดร. ประชา คุณธรรมดี คณะกรรมการติดตามฯ แจ้งความคืบหน้าการดำเนินงานของคณะกรรมการติดตามการแก้ไขปัญหาหุ้นกู้ฯ ต่อที่ประชุม และนำเสนอกระบวนการทางกฎหมายโดยบริษัทที่ปรึกษากฎหมาย

นายชาญศิลป์  ตรีนุชกร รักษาการกรรมการผู้จัดการ (DD) พร้อมด้วยคณะผู้บริหารบริษัทการบินไทย จำกัด เปิดเผย ให้เห็นความสำคัญต่อการจ้างงาน 1.3 ล้านคน สร้างผลกระทบต่อการพัฒนาการขนส่ง สร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย แต่ด้วยปัญหาการบริหารจัดการในระยะ 10 ปีหลังและผลกระทบจาก COVID-19 ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการบินโลกและการบินไทย  ซึ่งการบินไทย ได้ดำเนินการลดบุคลากรไปแล้วเกือบ 8 พันคน เพื่อลดต้นทุน และมีแผนจะลดบุคลากรเพิ่มเติมอีกประมาณ 3-4 พันคน วิเคราะห์ช่องทางและเส้นทางการบิน โดยเจรจาเจ้าหนี้เครื่องบิน ใช้ระบบดิจิทัลและการวิเคราะห์พฤติกรรมเพื่อกำหนดราคาและกลยุทธ์ในการบริหาร แก้ปัญหาไทยสมายล์ พัฒนาระบบทรัพยากรมนุษย์ พัฒนาระบบค่าตอบแทนและสร้างความเข้าใจพนักงาน เพิ่มความสามารถในการแข่งขัน ภายใน 5 ปีจะพลิกกลับมาเป็นกำไร เน้นกลยุทธ์คุณภาพสูง “ขึ้นแล้วคุ้ม” ปรับฝูงบินจาก 12 ชนิด เป็น 5 ชนิด และเปลี่ยนจากเครื่องยนต์ 9 ชนิด เหลือ 5 ชนิด และ ปรับนักบินจาก 5 กลุ่ม เหลือ 3 กลุ่ม

เมื่อแผนผ่าน ในระยะยาว จะประหยัดต้นทุนในการบริหารเครื่องบิน สำหรับแผนธุรกิจ เริ่มจาก การเดินทางเพื่อเยี่ยมญาติ การเดินทางเพื่อธุรกิจ เป็นต้น เน้นจุดแข็ง การบริการการเดินทางคุณภาพ การขนส่งสินค้า ด้านต้นทุนพนักงานจะลดลงอย่างมาก จาก 23% เหลือ 13% พัฒนาธุรกิจที่ไม่ใช่สายการบินมากขึ้น แผนธุรกิจประมาณการว่าการบินไทยจะกลับมาบินได้ และทำกำไรได้ในปี 2567 หัวใจสำคัญคือ วงเงินใหม่ 5 หมื่นล้านอุดเลือดไหลและเสริมแกร่งโดยการสนับสนุนของเจ้าหนี้ เสนอต่อสหกรณ์ว่าหุ้นกู้ทุกตัวจะไม่มีการแฮร์คัท และยืดหนี้หุ้นกู้ออกไปรุ่นละ 6 ปี จ่ายดอกเบี้ยร้อยละ 1.5 เปิดทางแปลงหนี้เป็นทุนเพื่อสร้างความเข้มแข็งด้านโครงสร้างทุน เบื้องต้นเจ้าหนี้กลุ่มสหกรณ์รับได้ในข้อเสนอ และพร้อมพิจารณาแผนฟื้นฟูในลำดับต่อไป